เคล็ดลับ ปลูกผัก 7 กลุ่ม

การปลูกผักแต่ละชนิดผู้ปลูกควรศึกษาให้เข้าใจถึง ลักษณะเฉพาะของผัก  รวมทั้งการบำรุงและดูแลรักษา เพื่อให้ผักที่ปลูกเจริญงอกงาม  ผู้ปลูกจึงควรรู้เคล็ดลับ ในการปลูกซึ่งผักแต่ละกลุ่มแต่ละชนิดก็มีเคล็ดลับที่แตกต่างกันออกไป

1. กลุ่มกะหล่ำ และผักกาด 
 คือกลุ่มที่เรากินใบ ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักกาดหัว กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี บร๊อกโคลี ผักสลัดต่างๆ
 ผักกลุ่มนี้เมล็ดค่อนข้างเล็ก บางชนิดมีราคาแพงมาก เพราะต้องสั่งนำเข้าเมล็ดมาจากต่างประเทศ
 กดดินให้เป็นหลุมลึกครึ่งเซนติเมตร แต่ละหลุมห่างกัน 20 เซนติเมตร หยอดเมล็ดลงไป 5-7 เมล็ด กลบดินทับบางๆ คลุมด้วยฟางหนา 1 เซนติเมตร รดน้ำ
 เมื่อต้นกล้างอก ใบจริงได้ 2-3 ใบ ถอนต้นอ่อนให้เหลือหลุมละ 3 ต้นเมื่อมีใบจริง 4 ใบถอนเหลือ 2 ต้น ใบจริง 5 ใบถอนเหลือ 1 ต้นที่แข็งแรงที่สุด (ต้นอ่อนที่ถอนออกสามารถนำมากินได้เลย กรอบและอร่อยมาก)
 ผักในกลุ่มนี้ชอบความชื้นสูงควรรดน้ำให้ชุ่ม อย่าปล่อยให้แห้ง โดยเฉพาะผักสลัดให้ตั้งกระถางในที่ร่ม
 ช่วงเวลาการเก็บเกี่ยว แต่ละชนิดต่างกันเล็กน้อย เช่น คะน้า กวางตุ้งเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 30-45 วัน ผักกาดหัว 45-55 วัน ผักกาดขาวปลี เขียวปลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี 50-60 วัน ผักสลัด 45-50วัน
 ช่วงฤดูหนาวให้ เก็บผักโดยเหลือใบไว้กับต้น 2-3 ใบ ผักจะงอกใบใหม่ให้เก็บได้อีก 2-3 ครั้ง

2. กลุ่มผักบุ้ง ผักชี
 ได้แก่ ผักบุ้งจีน ผักชี  ขึ้นฉ่าย
 การปลูกผักบุ้งให้กดดินเป็นร่องตามยาวแล้วโรยเมล็ดลงในร่อง กลบดินทับบางๆ คลุมด้วยฟางหนา 1 เซนติเมตร แล้วรดน้ำ
 ผักชีกับขึ้นฉ่ายให้ปลูกแบบเดียวกับผักกะหล่ำ
 เมื่อกล้างอกมีใบจริง ถอนแยกและพรวนดินให้โปร่งเสมอจนเก็บเกี่ยว
 ผักชีและขึ้นฉ่ายไม่ชอบแสงแดดจัด ควรปลูกในร่ม ส่วนผักบุ้งจีนต้องการแดดทั้งวัน
 ผักกลุ่มนี้ชอบความชุ่มชื้นให้รดน้ำสม่ำเสมออย่าปล่อยให้แห้ง
 ผักบุ้งจีนเก็บเกี่ยวได้ภายใน 30 วัน ผักชี 45-60 วัน ขึ้นฉ่าย 60-90 วัน
3. กลุ่มโหระพา กะเพรา แมงลัก และผักชีฝรั่ง
 ผักกลุ่มนี้ ปลูกด้วยเมล็ดแบบเดียวกับผักกะหล่ำ ในระหว่างการเติบโตให้หมั่นเด็ดดอกทิ้งเพื่อให้ลำต้นและใบเจริญเติบโตได้เต็มที่
 สำหรับผักชีฝรั่งนอกจากปลูกด้วยเมล็ดแล้ว ยังสามารถใช้ส่วนของลำต้นที่มีรากมาปักชำได้ด้วย
 โหระพา กะเพรา แมงลักให้รดน้ำวันละครั้ง ส่วนผักชีฝรั่งชอบความชุ่มชื้น ควรปลูกเลี่ยงแดดและรดน้ำให้บ่อย
 โหระพา กะเพรา แมงลัก เก็บเกี่ยวได้ใน 45-50 วัน ผักชีฝรั่ง 60 วัน

ภาพจาก: www.westword.com

4. กลุ่มแตงและถั่ว
 ผักกลุ่มนี้เป็นไม้เถาเลื้อยที่เราเก็บกินผล ได้แก่ แตงกวา แตงโม  แตงร้าน แตงไทย ฟักเขียว ฟักทอง บวบ น้ำเต้า มะระ ถั่วฝักยาว ถั่วแขก ถั่วพู ตำลึง ฯลฯ
 ผักกลุ่มนี้มีเมล็ดค่อนข้างใหญ่ งอกเร็ว จะปลูกให้ได้ผลดีและดูแลรักษาง่ายควรปักไม้ค้างให้เลื้อย
 ปลูกโดยหยอดเมล็ดลงหลุมละ 5 เมล็ด แล้วกดหลุมลึกลงไปในดิน 2-4 เซนติเมตร คลุมฟางในหลุมหนา 2 เซนติเมตร แล้วกลบดินปิดเมล็ด
 เมื่อต้นกล้างอกออกและมีใบจริง 6-7 ใบ ให้ถอนออกเหลือต้นแข็งแรงไว้หลุมละ 3 ต้น แล้วปล่อยให้โตทั้ง 3 ต้น
 ห้ามพรวนโคนต้น เพราะอาจทำให้รากขาด และอ่อนแอต่อโรค
 เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 40-60 วัน

ภาพ:http://seminardd.com/s/23106

5. กลุ่มพริก มะเขือ
 ได้แก่ผักที่เรากินผล เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือพวง มะเขือเทศ
 กลุ่มนี้ควรเพาะกล้าก่อนนำไปปลูกลงแปลง
 เพาะกล้าในกระบะหรือถุงพลาสติก หยอดเมล็ดลงไปถุงละ 3 – 5 เมล็ด แล้วรดน้ำ
 รอจนต้นกล้ามีใบเลี้ยง 2 ใบ ให้รดน้ำวันละครั้งจนมีใบจริง 2 ใบให้ถอนแยกเหลือต้นกล้าที่สมบูรณ์ไว้ 2 ต้น
 เมื่อต้นโตมีใบจริง 5-6 ใบ จึงค่อยย้ายลงในแปลงปลูก
 ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว มะเขือ 90 วัน พริก 120 วัน

6. กลุ่มหอม กระเทียม
 คือกลุ่มผักที่เราใช้หัวมาประกอบอาหาร เช่น ต้นหอมหรือหอมแบ่ง หอมแดง กระเทียม
 สามารถปลูกโดยใช้หัวที่เก็บไว้นาน 4 เดือนนำมาตัดรากแห้งออก แยกออกเป็นกลีบแล้วฝังลงในดิน โดยหันโคนกลีบลงดิน เว้นระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร กลบด้วยฟางหนา 1 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่ม
 ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักพอประมาณเมื่อต้นงอกได้ 15 วัน
 หมั่นกำจัดวัชพืช และรดน้ำให้ดินชุ่มชื้นอยู่เสมอ
 ระยะเวลาเก็บเกี่ยว ต้นหอม 45 วัน หอมแดง 60 วัน กระเทียม 90 วัน

ภาพ: http://cs.udru.ac.th/58100145211/?p=243

7.กลุ่มขิง ข่า
 ได้แก่ ขิง ข่า กระชาย ขมิ้นขาว ขมิ้นชัน
 นำแง่งขิงหรือขมิ้นแก่มาตัดเป็นท่อนๆ ยาว 1 นิ้วให้มีตาติดมาด้วย ส่วนข่าให้เหลือส่วนที่ติดกับลำต้นเหนือดินไว้บางส่วน  สำหรับกระชายให้ตัดรากออก
 จากนั้นเอาปูนแดงทาตรงรอยตัด แล้วทิ้งแผลให้แห้ง จึงนำมาฝังดินลึก 10-15 เซนติเมตร เอาฟางคลุมทับ รดน้ำ
 ให้รดน้ำวันละ 1 ครั้ง
 การเก็บเกี่ยว  ขิง 120 วัน ข่า ขมิ้น กระชาย มากกว่า 240 วัน แต่ถ้าต้องการขิงข่าอ่อนเก็บได้ใน 30 วัน
 ช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ขิง ข่า จะพักตัวทิ้งต้นเหลือแต่เหง้าใต้ดิน กระทั่งเดือนพฤษภาคมจึงงอกต้นขึ้นมาใหม่