รู้จักอะบาเม็กติน

อะบาเม็กติน (Abamectin) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อการค้าเอ.จี.บา, ไดเมทิน, แอ็กโกรติน, อบามา, เจ๊คเก็ต เป็นต้น นั้นเป็นสารกำจัดแมลง (Insecticide) ที่เกิดจากกระบวนการหมักแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในดินชื่อ Streptimyces avermitilis สารที่สกัดได้คือ avermectin B1a และavermectin B1b ที่มีคุณสมบัติทางกายภาพและความเป็นพิษคล้ายคลึงกัน แต่ตัวที่สามารถแสดงถึงประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงก็คือสาร avermectin B1a คือต้องมีมากกว่า 80 % ของสารออกฤทธิ์ ฉะนั้นสินค้า ที่มีคุณภาพส่วนใหญ่ที่ผลิตในรูปสารออกฤทธิ์ 1.8 % W/V EC นั้นต้องมีavermectin B1a อยู่มากกว่า 1.44 % นั่นเอง

ผลิตภัณฑ์อะบาเม็กตินส่วนใหญ่มีความเป็นพิษต่ำต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จากการทดลองในสัตว์ทดลองสารพิษทำให้เกิดการระคายเคือง ต่อตาและผิวหนังเล็กน้อยและจะเกิดอาการขยายของรูม่านตา อาเจียน กล้ามเนื้อหดเกร็ง ตัวสั่นและหมดสติได้

ในแมลงอะบาเม็กตินจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท รวมถึงเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ เป้าหมายการออกฤทธิ์เจาะจงต่อตำแหน่งไซแนป (synap) ในสมองและยับยั้งการนำเลือดไปเลี้ยงสมอง ทำให้แมลงตายในที่สุด

ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หากใช้สารพิษในปริมาณมาก เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองจะเป็นสาเหตุของอาการ CNS depressing เช่น การทำงานของอวัยวะไม่ประสานกัน การสั่นของร่างกาย ความเฉื่อยชา การขยายของรูม่านตาและทำให้เสียชีวิตเนื่องจากระบบหัวใจล้มเหลว

อะบาเม็กตินไม่ซึมผ่านเข้าสู่ผิวหนังโดยตรง การซึมซับของอะบาเม็กตินจากผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดน้อยกว่า 1% จึงไม่ทำให้ผิวหนังแสดงอาการในลักษณะของภูมิแพ้ ผลิตภัณฑ์ในรูป 1.8% W/V EC ค่า LD50 ทางปากในหนูนา 300 มก./กก. และค่า LD50 ทางผิวหนังในกระต่ายมีค่าไม่น้อยกว่า 2,000 มก./กก.

คุณสมบัติอีกประการของอะบาเม็กตินคือละลายน้ำได้ดี และยึดเกาะกับอนุภาคของดิน ฉะนั้นจึงไม่มีการเคลื่อนย้ายจากดินไปปนเปื้อนในน้ำ นอกจากนี้ยังสลายตัวเร็วเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อม มีรายงานว่าเมื่อผิวดินกระทบแสงแดด อะบาเม็กตินจะสลายตัวภายใน 8-12 ชั่วโมง หรือภายใน 1 วัน สำหรับในพืชนั้นอะบาเม็กตินจะลดปริมาณลงเหลือครึ่งหนึ่งทุกๆ 4-6 ชั่วโมง จึงนับเป็นสารที่ปลอดภัยสูงสำหรับผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม

ในด้านประสิทธิภาพการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชนั้น ทางกองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตรได้แนะนำให้ใช้อะบาเม็กตินในการป้องกันกำจัดหนอนชอนใบมะนาว, เพลี้ยไฟพริก, ไรแดงมะม่วง, ไรสองจุด, หนอนใยผัก, หนอนแมลงวันชอนใบกะหล่ำ, ไรขาวพริก, เพลี้ยไฟฝ้าย และหนอนเจาะดอกมะลิ