ปลูกผักคะน้าเห็ดหอมไฮโดรโพรนิกส์อย่างไรให้ต้นอวบอ้วนน่ารับประทาน

P1020987   IMAG2040

ปลูกผักคะน้าเห็ดหอมไฮโดรโพนิกส์อย่างไรให้ต้นอวบอ้วนน่ารับประทาน
เรื่อง อรรถพร สุบุญสันต์
กรรมการชมรมปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินแห่งประเทศไทย เจ้าของแม่บัวหลวงไฮโดรโพนิกส์ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา โทร. 08-1870-9606

การปลูกผักคะน้าเห็ดหอมให้ต้นอ้วนใหญ่นั้น ถ้าสภาพอากาศเย็นก็จะทำได้ง่าย ดังจะเห็นได้ว่าผักคะน้าที่นำเข้าจากประเทศจีนมักจะมีขนาดลำต้นที่อ้วนใหญ่น่ารับประทาน แต่ถ้านำผักคะน้าพันธุ์เดียวกันมาปลูกในบ้านเรากลับได้ผักคะน้าที่ต้นไม่อ้วนใหญ่ เป็นเพราะบ้านเรามีสภาพอากาศร้อนกว่าโดยเฉพาะในเขตภาคกลาง ซึ่งทำให้การปลูกผักคะน้าให้มีขนาดลำต้นอ้วนใหญ่ทำได้ยากแม้ในฤดูหนาวก็ตามและถ้าเป็นฤดูร้อนยิ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่สำหรับบทความที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ผู้เขียนมีวิธีการปลูกผักคะน้าให้ต้นอ้วนใหญ่มาเล่าสู่กันฟัง สามารปลูกได้ทุกฤดูแต่ถ้าเป็นฤดูหนาวลำต้นผักคะน้าจะอ้วนใหญ่ได้พอๆ กับที่นำเข้าจากประเทศจีนเลยทีเดียว แต่การปลูกจะต้องปลูกในระบบไฮโดรโพนิกส์นะครับ

เริ่มต้นจากการเตรียมสารละลายธาตุอาหาร
วิธีการปลูกจะเริ่มจากการเตรียมสารละลายธาตุอาหาร เป็นสูตรปุ๋ย 1 ต่อ 200 เรียกสูตรปุ๋ย ดร.ยงยุทธ 5 มีอัตราการการใช้ดังต่อไปนี้

ปุ๋ย A
ประกอบด้วย แคลเซียมในเตรท 1,100 กรัม
ผสมกับน้ำให้ได้ปริมาตร 5 ลิตร

ปุ๋ย B
ประกอบด้วยโปแตสเซียมในเตรท 600 กรัม
แม็กนีเซียมซัลเฟต 600 กรัม
โมโนโปแตสเซียมฟอสเฟต 270 กรัม
ผสมกับน้ำให้ได้ปริมาตร 5 ลิตร

ปุ๋ย C
ประกอบด้วยเหล็ก EDDHA 100 กรัม
เหล็ก DTPA 100 กรัม
นิกสเปรย์ 100 กรัม
แอมโมเนียมโมลิเดส 0.5 กรัม
ผสมกับน้ำให้ได้ปริมาตร 10 ลิตร

ปุ๋ย D
ประกอบด้วย โมโนโปแตสเซี่ยมฟอสเฟต 500 กรัม
ผสมกับน้ำให้ได้ปริมาตร 5 ลิตร

เลือกระบบปลูกแบบ NFT
ระบบปลูกควรเป็นระบบ NFT เจาะรูรางปลูกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 5 ซม.จะได้ขนาดพอดีกับถ้วยปลูกและต้นคะน้าก็จะไม่ล้ม ระยะห่างระหว่างหลุมปลูกอยู่ที่ 25 ซม. ระยะห่างระหว่างรางปลูก 10 ซม.และรางปลูกมีขนาดกว้าง 10 ซม. ในระบบปลูกต้องมีสารละลายธาตุอาหารประมาณ 0.5 ลิตรต่อผักคะน้า 1 ต้นเช่นโต๊ะปลูกของผู้เขียนมีผักคะน้าอยู่ 300 ต้นเพราะฉะนั้นถังสารละลายธาตุอาหารของผู้เขียนก็จะมีสารละลายธาตุอาหารอยู่ประมาณ 150 ลิตรที่ผู้เขียนเลือกระบบ NFT เพราะว่าในระบบมีสารละลายธาตุอาหารอยู่น้อยง่ายต่อการลด EC และปรับ pH ผักคะน้ามีการตอบสนองได้ไวเมื่อเติมปุ๋ย C และ D ลงไปในถังสารละลายธาตุอาหารและการปลูกผักคะน้าต้นอ้วนใหญ่ จะต้องมีการถ่ายสารละลายธาตุอาหารบ่อยจะได้ไม่เปลืองสารละลายธาตุอาหาร เมล็ดพันธุ์ต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ค่อนข้างใหม่ถ้าเมล็ดพันธุ์เก่าอัตราการงอกจะต่ำหรือถ้างอกมาได้ ต้นกล้าก็จะไม่แข็งแรงโตช้าลำต้นจะไม่อ้วนใหญ่

ลงมือปลูก
การปลูกเริ่มจากการเพาะเมล็ดพันธุ์นำวัสดุปลูกเพอร์ไล 2 ส่วน+ เวอร์มิคูไล 1 ส่วน ใส่ในถ้วยปลูกโดยรดด้วยน้ำผสมสปอร์ของเชื้อราไตรโคเดอร์มา แล้วใส่เมล็ดพันธุ์ผักคะน้าเห็ดหอมลงไปหลุมละ 3-4 เมล็ดจากนั้นนำไปใส่ที่โต๊ะเพาะ ที่มีสารละลายธาตุอาหารไหลผ่านก้นถ้วยปลูกตลอดเวลา เพื่อให้น้ำ ให้ปุ๋ยและคอยระบายความร้อนจากแดดใส่ปุ๋ย A B และ C อย่างละเท่าๆ กันปรับ EC ปรับ EC ประมาณ 1.8 mS/cm ต้องจำไว้อย่างหนึ่งว่าเวลาเราใส่ปุ๋ยเพื่อปรับ EC เราจะต้องใส่ปุ๋ยทั้ง 3 สูตรคือทั้ง A B และ C อย่างละเท่าๆกัน เช่นถ้าเราใส่ปุ๋ย A 100 ซีซี จะต้องใส่ปุ๋ย C และ B อย่างละ 100 ซีซี เท่ากัน พร้อมทั้งปรับ pH ประมาน 6.8 โดยมีแผ่นโฟมปิดด้านบน
การเพาะเมล็ดพันธุ์ ควรเพาะในช่วงเย็นๆ หลังจากเพาะเมล็ดพันธุ์ได้ 24 ชั่วโมง ให้นำแผ่นโฟมออกให้แสงแดดอ่อนๆ พอต้นกล้าผักคะน้าอายุได้ 3 วันจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณแสงแดดขึ้นจนต้นกล้าผักคะน้าอายุได้ 7 วัน ให้ตัดต้นกล้าผักคะน้าในถ้วยปลูกให้เหลือ 1 ต้นต่อถ้วย ในการปลูกผักคะน้าต้นอ้วนนี้จะใช้เวลาปลูกประมาณ 45 วันนับจากวันเพาะเมล็ดพันธุ์ วันที่ 10 จะเป็นวันที่ต้นผักคะน้าได้แสงแดดจัดที่สุดในจำนวนวันทั้ง 45 วันเมื่อต้นกล้าผักคะน้าอายุ 11 วันให้ย้ายขึ้นโต๊ะปลูกปรับ EC ที่ 3.5-4 mS/cm และ pH ประมาณ 6 ใส่เชื้อไตรโคเดอร์มา 100 กรัมข้าวสุกต่อสารละลายธาตุอาหาร 200 ลิตรทุกครั้งที่มีการถ่ายสารละลายธาตุอาหาร หลังจากนั้นเราจะไม่มีการปรับ EC อีกเราจะทำแค่เติมน้ำและปรับ pHเช้าและเย็นเท่านั้นวันที่ย้ายต้นกล้าผักคะน้านี้จะต้องมีการพรางแสงแดดให้ต้นกล้าผักคะน้ามากหน่อยหลังจากนั้นจะเริ่มเพิ่มแสงแดดขึ้นเพราะต่อจากนี้ไปจนถึงอายุ 40 วันผักคะน้าจะต้องการแสงแดดจัดมาก ถ้าผักคะน้าไม่แสดงอาการว่าจะเหี่ยวเราจะไม่พรางแสงแดดให้ กล่าวคือมีการปิด-เปิดซาแรนอยู่ตลอดเพื่อปรับปริมาณแสงแดดให้พอดีอยู่ตลอด เมื่อผักคะน้าอายุได้ 25 วันจะทำการถ่ายสารละลายธาตุอาหารออก ส่วนสารละลายธาตุอาหารใหม่เราจะปรับ EC ที่ 3-3.5 และ pH ที่ 5.5 อย่าลืมใส่เชื้อไตรโคเดอร์มาด้วย
หลังจากนี้จะไม่มีการปรับ EC แต่เราจะเติมน้ำเปล่าและปรับ pH เช้าเย็นเมื่อผักคะน้าอายุได้ 25 วันจะเริ่มเติมปุ๋ย C และ D ในการเติมเราจะเติมปุ๋ยสองสูตรนี้ทุกวันหรือแทบทุกวัน โดยปุ๋ย C จะช่วยให้ใบผักคะน้าไม่เหลือง เนื่องจากการลด EC ในการปลูกจากสูงมาต่่ำ ส่วนปุ๋ย D จะทำให้ผักคะน้ามีลำต้นใหญ่ช่วงนี้ให้สังเกตใบผักคะน้าว่าเหลืองรึเปล่า ถ้าเหลืองควรเติมปุ๋ย C ลงไปปริมาณเท่าไรผู้ปลูกต้องคอยเติมและสังเกตเพราะถ้าผักคะน้าใบเหลืองแล้วเราเติมปุ๋ย C ลงไป ถ้าปริมาณที่เติมเหมาะสมหลังจากผักคะน้าได้แดดประมาณ 1 วันใบผักคะน้าก็จะเขียวขึ้นมาทันตาเห็นเลยในการเติมปุ๋ย C จะบอกปริมาณแน่นอนไม่ได้เพราะปัจจัยรอบด้าน เช่น อุณหภูมิ แสงแดด การดูแล น้ำที่ใช้ปลูกและอื่นๆ จะเป็นปัจจัยทำให้การเติมได้ผลไม่เท่ากัน
เพราะฉะนั้นผู้ปลูกจะต้องคอยสังเกตและจดจำปริมาณการเติมปุ๋ย C ในแต่ละช่วงเพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการปลูกครั้งต่อไปเพราะเราจะเปรียบเทียบการปลูกผักเหมือนการเลี้ยงเด็กเราจะทำกับเด็กทุกคนเหมือนกันไม่ได้แม้แต่เด็กคนเดียวกันในแต่ละวันแต่ละฤดูยังแตกต่างกันเลยเช่นให้เด็กกินข้าว 1 จานเด็กที่ตัวใหญ่อาจไม่อิ่มเด็กที่ตัวเล็กอาจกินไม่หมดหรือการอาบน้ำให้เด็กเช่นอาบน้ำตอน 7.00 น. ถ้าเป็นฤดูร้อนก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นฤดูหนาวก็อาจจะเร็วเกินไปเพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของเด็กก็จะทำให้เรารู้ว่าเราจะให้เด็กกินข้าวปริมาณเท่าไรหรืออาบน้ำเวลาใดเราจะเข้าใจได้ถ้าเราเลี้ยงเด็กบ่อยๆและศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเด็กไปด้วย การปลูกผักก็เหมือนกันเราต้องปลูกบ่อยๆจดจำสิ่งต่างๆ และศึกษาหาความรู้ไปด้วยเราก็จะเข้าใจธรรมชาติของผักเมื่อผักคะน้ามีอายุได้ 33 วัน เราจะถ่ายสารละลายธาตุอาหาร ครั้งนี้จะปรับ EC ที่ 2.5-3.0 ปรับ pH 5.5 และคอยปรับ pH ทุกวันเช้าเย็น เติมน้ำแต่ไม่ต้องปรับ EC แต่จะต้องเติมปุ๋ย C และ ปุ๋ย D เหมือนเดิมให้แสงแดดอย่างพอเพียง

การปรับค่า EC และ pH จะช่วยให้ผักมีรสชาติดีขึ้น
เมื่อผักคะน้าอายุได้ 39 วันเราจะถ่ายสารละลายธาตุอาหารครั้งสุดท้ายโดยปรับ EC ที่ 2.0-2.5 ปรับ pH ที่ 5.5 จากนั้นคอยเติมน้ำและปรับ าpH ทุกวันเติมปุ๋ย C และปุ๋ย D เหมือนเดิม จะสังเกตว่าผู้เขียนจะให้ค่า EC เช่น 2.5-3.0 หรือ 2.0-2.5 ให้ผู้ปลูกจำไว้เลยว่า ถ้าปลูกผักคะน้าในช่วงอากาศเย็นให้ใช้ EC ที่ค่าสูง แต่ถ้าปลูกในช่วงที่อากาศร้อนให้ใช้ค่าต่ำ และต้องระวังอย่าให้แสงมากจะทำให้ผักเหี่ยวและผักมีรสชาติไม่ดี หลังจากนั้นจะเริ่มเก็บผักคะน้าได้ตั้งแต่อายุ 40 วันจะรับประทานอร่อยมากแต่ลำต้นผักคะน้าจะยังไม่ใหญ่ที่สุดลำต้นผักคะน้าจะใหญ่ที่สุดประมาณ 45 วันและถ้าเก็บหลังจาก 45 วันไปแล้วลำต้นผักคะน้าจะเริ่มแข็งขึ้นเรื่อยๆ การปลูกวิธีนี้ไม่แนะนำให้นำผักคะน้าไปทำจับฉ่ายเพราะจะเละง่าย เหมาะแก่การนำไปรับประทานสดหรือผัดน้ำมันหอย รศ.ดร.ยงยุทธ เจียมไชยศรี ท่านพูดไว้ในการบรรยายการสอนอยู่ตลอดว่า ถ้าใครได้รับประทานผักคะน้าที่ปลูกด้วยระบบไฮโดรโพนิกส์อย่างถูกวิธีแล้ว จะต้องติดใจอย่างแน่นอน