การป้องกันการระบาดและการกำจัดหนอนใยผัก

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

หนอนใยผัก เป็นหนอนศัตรูที่สำคัญและก่อให้เกิดความเสียหายกับพืชตระกูลกะหล่ำ มักพบระบาดทั่วไปตามแหล่งปลูกผักทั่วโลก แม้ว่าหนอนใยผักมีต้นกำเนิดมาจากเขตร้อนแต่ก็สามารถพบหนอนใยผักมีชีวิตอยู่ ได้ในเขตหนาวโดยไม่มีการพักตัว สำหรับในประเทศไทยนั้นมักพบหนอนใยผักระบาดเป็นประจำตามแหล่งปลูกผักทั่วไป ทั้งนี้เนื่องจากหนอนชนิดนี้มีวงจรชีวิตสั้น มีการแพร่พันธุ์และขยายพันธุ์รวดเร็ว และมีการพัฒนาการวางไข่ได้เร็ว คือ หลังออกจากดักแด้ภายใน 1 วัน สามารถวางไข่ได้ทันทีและวางไข่ได้ตลอดชีวิต ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมและมีพืชอาหารตลอดปี จึงเป็นสาเหตุให้พบการระบาดของหนอนใยผักตระกูลกะหล่ำดังกล่าวอยู่เสมอ ๆ ปัจจุบันหนอนใยผักได้มีการพัฒนาสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงได้รวดเร็วและ หลายชนิด จึงเป็นการยากต่อการป้องกันกำจัดด้วยการใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่นเป็นประจำเพียง อย่างเดียว ดังนั้นจึงต้องใช้หลายๆ วิธีผสมผสานกันจึงสามารถลดการระบาดของหนอนใยผักลงได้

 รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ตัวเต็มวัยของหนอนใยผัก เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก เมื่อกางปีกวัดได้ประมาณ 6 – 7 มิลลิเมตร มีสีเทา ส่วนหลังมีแถบสีเหลืองส้ม หนวดเป็นแบบเส้นด้าย แต่ละปล้องมีสีดำสลับขาว ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 5 – 7 วัน สามารถวางไข่ได้หลายครั้ง มีการพัฒนาการวางไข่ได้เร็วในระยะแรกของตัวเต็มวัย และมีความสามารถในการวางไข่สูงจึงทำให้หนอนใยผักมีอัตราเพิ่มประชากรได้รวด เร็ว เพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ เรียงติดกันประมาณ 20 – 80 ฟอง โดยวางไข่ทั้งบนใบและใต้ใบพืช ตัวเต็มวัยเพศเมียตัวหนึ่ง ๆ สามารถวางไข่ได้ระหว่าง 47 -407 ฟอง ไข่มีลักษณะค่อนข้างแบนและยาวรี มีสีเหลืองอ่อนเป็นมัน และจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อใกล้ฟักออกเป็นตัวหนอน ระยะไข่ประมาณ 3 – 4 วัน

หนอนเมื่อฟักออกมาจากไข่ใหม่ ๆ จะอาศัยกัดกินอยู่ในใบ หลังจากนั้นจะออกมากัดกินภายนอกทำให้ผักเป็นรูพรุน ตัวหนอนมีลักษณะลำตัวยาวหัวแหลมท้ายแหลมส่วนท้ายมีปุ่มยื่นออกเป็น 2 แฉก ตัวหนอนมีสีเขียวอ่อน หรือเทาอ่อน หรือเขียวปนเหลือง เมื่อถูกตัวจะดิ้นอย่างรุนแรงและทิ้งตัวลงดินโยการชักใย หนอนเมื่อโตเต็มที่มีขนาด 1 เซนติเมตร มี 4 วัย หนอนจะเข้าดักแด้ตามใบพืชโดยมีใยปกคลุม

ดักแด้หนอนใยผักในระยะแรกๆ จะมีสีเขียวและจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเทาเมื่อใกล้ออกเป็นตัวเต็มวัย ดักแด้มีขนาด 1 เซนติเมตร

การเจริญเติบโตของหนอนใยผักพบมีอายุแตกต่างกันทั้ง นี้ขึ้นอยู่กับ อุณหภูมิ เช่น ในเขตเกษตรที่สูงเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ หนอนใยผักมีวงจรชีวิต 17 – 18 วัน ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม และ29 วันในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม โดยมี 17 ช่วงอายุขัยต่อปี ส่วนในที่ราบทั่วไป เช่น จังหวัดนครปฐม พบหนอนใยผักมีวงจรชีวิต 14 – 18 วัน มี 25 ช่วงอายุขัยต่อปี จึงมักพบหนอนใยผักระบาดรวดเร็วและรุนแรงเสมอในเขตที่ราบทั่ว ๆ ไป

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด

ในประเทศไทยพบทั่วทุกภาคที่มีการปลูกผักตระกูล กะหล่ำ โดยพบระบาดตามแหล่งปลูกเพื่อการค้า หนอนใยผักมักจะเริ่มระบาดมากตั้งแต่ฤดูหนาว และจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนระบาดมากในช่วงท้ายของฤดูหนาวต่อฤดูแล้ง ซึ่งเป็นระยะที่มีการปลูกผักกันมาก ในฤดูฝนพบระบาดบ้างแต่ไม่รุนแรง

ศัตรูธรรมชาติ

หนอนใยผักมีศัตรูธรรมชาติหลายชนิดคอยควบคุมอยู่ จากการศึกษาพบแตนเบียน 4 ชนิดได้แก่ แตนเบียนไข่ Trichogramma confusum Viggiani (Hymenoptera : Trichogrammatidae) พบทำลายไข่หนอนใยผัก ที่ปลูกบริเวณเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ในเขตที่ราบภาคกลางพบแตนเบียนไข่Trichogrammatoidae bactrae Nagaraja (Hymenoptera : Trichogrammatidae) นอกจากนี้ยังพบCotesia plutellae (Hymenoptera : Braconidae) ทำลายหนอนของหนอนใยผักตลอดทั้งปีในเขตเกษตรที่ราบและที่ราบสูง สำหรับแตนเบียนดักแด้ที่พบได้แก่ Thyraeella collaris (Grav) (Hymenoptera : Ichneumonidae) พบทำลายเฉพาะในเขตเกษตรที่สูงเท่านั้น

การป้องกันกำจัด

  1. กับดักกาวเหนียวสีเหลืองจำนวน 80 กับดักต่อไร่ สามารถกำจัดผีเสื้อตัวแม่ที่มาวางไข่ ลดการใช้สารฆ่าแมลงมากกว่า 50 %
  2. การใช้ โรงเรือนตาข่ายไนล่อน หรือรู้จักทั่ว ๆ ไปว่าผักกางมุ้ง พบว่า สามารถป้องกันแมลงศัตรูพวกหนอนผีเสื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ (พบด้วงหมัดผัก เพลี้ยอ่อน บ้างเล็กน้อย ) ทั้งนี้โรงเรือนตาข่ายไนล่อนต้องปิดอย่างมิดชิด เพื่อป้องกันแมลงที่อาจเล็ดลอดเข้าไป
  3. การควบคุมหนอนใยผักโดยวิธีใช้แตนเบียนไข่ จากการทดลองปล่อยแตนเบียนไข่ในอัตรา60,000 ตัวต่อไร่ ทุก ๆ 10 วัน พบว่าสามารถควบคุมการระบาดของหนอนใยผักให้อยู่ในระดับต่ำกว่าระดับการทำลาย แต่หากมีการระบาดของแมลงศัตรูชนิดอื่นๆ อยู่ร่วมด้วย เช่น หนอนกระทู้หอม, ด้วงหมัดผัก หนอนเจาะหยอดกะหล่ำ ควรพิจารณาการใช้ร่วมกับวิธีการอื่น ๆ เช่น การใช้เชื้อไวรัส NPVควบ คุมการระบาดของหนอนกระทู้หอม การใช้ไส้เดือน ฝอยควบคุมการระบาดของด้วงหมัดผัก และบางครั้งอาจต้องใช้สารฆ่าแมลงหากมีการระบาดของหนอนเจาะยอดกะหล่ำเป็นต้น ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาศึกษาเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมต่อไป
  4. การใช้สารเคมีฆ่าแมลง หากพบหนอนใยผักระบาดพ่นด้วย อะบาเม็กติน,ไดอะเฟนไทยูเอน,คลอร์ฟีนาเพอร์,ฟิโปรนิล เป็น ต้น โดยแนะนำให้ใช้ความระมัดระวังในการฉีดพ่นและปฎิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่ง ครัด เพื่อป้องกันอันตรายต่อผู้ใช้และผู้บริโภค  การใช้ให้ฉีดพ่นสลับชนิดของสารเคมีในแต่ละครั้งไม่ควรซ้ำกัน จะให้ผลดีในการป้องกันกำจัดหนอนใยผัก เนื่องจากหนอนใยผัก มีการพัฒนาสร้างความต้านทาน(ดื้อยา)ต่อสารฆ่าแมลงได้รวดเร็วและ หลายชนิด

หมายเหตุ  หากจำเป็นต้องใช้งานสารเคมี แนะนำให้ดูบทความ “ข้อควรระวังในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทางการเกษตร(ยาฆ่าแมลง)” ประกอบก่อนการเลือกใช้งาน

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก คลินิกพืช (กรมส่งเสริมการเกษตร)

  1. ใช้สารชีวภาพปลอดสารพิษในการกำจัด โดยการใช้สารชีวภัณฑ์กลุ่มบาซิลลัส ธูริงจินซิส และ เพซิโลมัยซิส ซึ่งปลอดภัยต่อผู้ใช้และผู้บริโภค นิยมใช้กันในกลุ่มปลูกพืชปลอดสารพิษหรือพืชอินทรีย์ โดยหากพบหนอนใยผักระบาดพ่นด้วย ชีวภัณฑ์กำจัดหนอนศัตรูพืช บาร์ท๊อป อัตรา 40-80 กรัม+ ชีวภัณฑ์กำจัดไข่แมลงศัตรูพืช พีแม็ก อัตรา 40-80 กรัม  ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น ซ้ำ 2-3 ครั้ง ทุก ๆ 3-5 วัน ก็จะสามารถตัดวงจรการระบาดและการดื้อยาของหนอนใยผักได้