โรคราน้ำค้างในกุหลาบ

สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Peronospora sparsa Berk. อาการเริ่มแรกจะเป็นแผลจุดช้ำสีเหลืองที่ผิวด้านบนของใบอ่อน ต่อมาแผลขยายขนาดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล สีม่วงอ่อนๆ จนถึงสีดำ ลักษณะแผลถ้าไม่ใช่โรคใบจุด หรือโรคแอนแทรกโนสให้มองไว้ได้เลยว่าคือราน้ำค้าง ขอบแผลสีเหลืองช่วงที่ความชื้นสูงอาจพบกลุ่มของเส้นใยและสปอร์ของเชื้อราบริเวณแผลส่วนใต้ใบ อาการรุนแรงเกิดแผลจำนวนมาก แผลลุกลามสู่ใบล่างและกระจายทั่วต้น ใบเกิดอาการบิดเบี้ยว ยอดอ่อนชะงักการเจริญเติบโต ใบยอดม้วนงอ เหี่ยวเหลือง และร่วงในที่สุด โรคเกิดเร็วมาก ภายในไม่กี่วันใบอาจจะร่วงได้ อาจพบอาการแผลสีน้ำตาลที่กิ่งและยอดอ่อน เชื้อราสาเหตุนี้ จะแพร่ระบาดโดยสปอร์พัดปลิวไปตามลม น้ำ แมลง และสามารถอยู่ได้เป็นเดือนในใบที่ร่วงหล่นอยู่ที่พื้นดินโดยสร้างเส้นใยและสปอร์ผนังหนาอยู่ในชิ้นส่วนที่เป็นโรค สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค คืออุณหภูมิต่ำและความชื้นสูง แต่ถ้าอากาศแห้งเชื้อก็จะตายไปด้วย โดยจะไม่พบการแพร่ระบาดเมื่อความชื้นลดลงต่ำกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ และอุณหภูมิสูงกว่า 32 องศาเซลเซียส

การป้องกันกำจัด
(ซึ่งใช้ได้กับโรคใบจุด โรคแอนแทรกโนสด้วย)
1. ควรผังแปลงให้มีการถ่ายเทอากาศดี และได้รับแสงแดดอย่างพอเพียง เพื่อลดการสะสมความชื้นในแปลง
2. จัดระบบการให้น้ำให้เหมาะสม
3. กำจัดเศษซากพืชที่เป็นโรคออกนอกแปลงปลูก นำไปเผาหรือฝัง
4. ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา แบบป้องกันโดยใช้สารออกฤทธิ์แบบสัมผัส เช่น แมนโคเซ็บ โปรปิเน็บ ไทแรม ซีเน็บ เป็นหลักทุก 7-10 วัน ควรตรวจดูสภาพอากาศและภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการระบาด เมื่อมีการระบาดของโรคควรผสมกับสารดูดซึม หรือพ่นสลับด้วยสารดูดซึม ทุก 3-4 วัน สารดูดซึมมีหลายกลุ่ม เช่น เมตาแลกซิล โปรคลอราส ไดฟีโคนาโซล ไทอาเบนดาโซล เบนโนมิล คาร์เบนดาซิม อะโซไซสะโตรบิน โพซีธิล-อลูมิเนียม …

ขอบคุณเจ้าของภาพ คุณณัฐวัฒน์ อัคระกรโภคิน จากจังหวัดตาก