5 อันดับเพลี้ย สร้างความเสียหาย

เพลี้ยไฟ

พืชอาหาร/ เพลี้ยไฟเข้าทำลายพืชหลายชนิด ทั้งพืชผัก ผลไม้ ไม้ดอก เช่น พริก แตง ฟัก มะเขือ มะม่วง มังคุด ส้ม มะนาวกล้วยไม้ กุหลาย โดยทำลายส่วนต่าง ๆ ของพืช คือ ยอดอ่อน ตาใบ ดอก และผล

การเข้าทำลาย/ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืชบริเวณเยื่ออ่อน ถ้าเพลี้ยไฟระบาดในระยะดอกทำให้ดอกแห้งและร่วง ซึ่งเป็นผลทำให้การพัฒนาเป็นผลลดลง

การแพร่ระบาด/ พบมากในฤดูร้อน และอากาศแห้งแล้ง โดยเฉพาะในระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม


เพลี้ยอ่อน

พืชอาหาร/ ไม้ดอก เช่น ดาวเรือง กุหลาบ เบญจมาศ ดอกรัก ชบา ยี่โถ บานชื่น บัว/ พืชไร่ เช่น ข้าวโพด ถั่วต่างๆ/ พืชผัก เช่น ถั่วฝักยาว มะเขือ แตงต่างๆ

การเข้าทำลาย/ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงตามใบ ยอดอ่อนและดอก ทำให้หงิกงอเป็นคลื่น หากมีการระบาดมากๆ จะทำให้ไม้ดอกเหี่ยวและอ่อนแอ ไม่ออกดอก บริเวณที่มีเพลี้ยอ่อนระบาดมักจะพบเห็นมดอาศัยกินน้ำหวานที่เพลี้ยอ่อนถ่ายออกมาก จะทำให้เกิดราดำ

การแพร่ระบาด/ พบเห็นอยู่ทั่วไปตลอดปี การกระจายตัวของเพลี้ยอ่อนเป็นแบบรวมกลุ่ม ปกติจะไม่เกิดการระบาด เพราะธรรมชาติคอย ควบคุม เช่น ปริมาณน้ำฝน ศัตรูธรรมชาติ แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงหรือในฤดูแล้ง อากาศร้อนจะเกิดการระบาดของเพลี้ยอ่อน


เพลี้ยกระโดด

พืชอาหาร/ นาข้าว

การเข้าทำลาย/ ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณโคนต้นข้าวเหนือระดับน้ำ ข้าวแสดงอาการใบเหลืองแห้ง คล้ายถูกน้ำร้อนลวก ซึ่งเรียกว่า “อาการไหม้เป็นหย่อม” (Hopper burn) ถ้ารุนแรงมาก ต้นข้าวจะแห้งตายในขณะเดียวกันจะคอยขับถ่ายมูลน้ำหวาน (honey dew) ออกมา เป็นสาเหตุให้เกิดโรคราดำ

การแพร่ระบาด/ ระบาดทั่วไปในแถบที่มีการปลูกข้าว การระบาดอาจเกิดขึ้นได้ทั้งข้าวนาปีและนาปรัง


เพลี้ยแป้ง

พืชอาหาร/ เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ส้ม มะนาว มะเขือ แตง พริก มะม่วง

การเข้าทำลาย/ เพลี้ยแป้งดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่างๆ เช่น ใบ ยอด และตา ในส่วนของต้นที่ยังอ่อนอยู่ ยอดที่ถูกทำลายจะงอหงิกเป็นพุ่ม ลำต้นจะบิดเบี้ยวมีช่วงข้อถี่ ผลผลิตลดลง หากการระบาดรุนแรงยอดจะแห้งตาย

การแพร่ระบาด/ เพลี้ยแป้งจะระบาดรุนแรงในฤดูแล้งมากกว่าในฤดูฝนโดยเฉพาะฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน


เพลี้ยจักจั่น

พืชอาหาร/ ข้าว มะม่วง ถั่วต่างๆ

การเข้าทำลาย/ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ช่อดอก ก้านดอก และยอดอ่อน ทำให้แห้งและดอกร่วง ติดผลน้อยหรือไม่ติดเลย ต้นแคระแกรน ขอบใบไหม้ห่อขึ้นด้านบน อาจทำให้พืชตายทั้งแปลงได้

การแพร่ระบาด/ ระบาดมากเมื่อฝนทิ้งช่วงนานๆ อากาศแห้งแล้ง


การป้องกันกำจัดเพลี้ย

การป้องกันกำจัดเพลี้ยใช้วิธีผสมผสาน จะช่วยให้ได้ผลดีที่สุด

  • หมั่นสำรวจแปลงปลูกพืช หากพบเจอไข่ หรือตัวเพลี้ยให้เก็บไปเผาทิ้ง
  • ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรชีวิตของเพลี้ย
  • ไม่ควรปลูกพืชติดต่อกัน ควรมีการพักดิน เพื่อทำลายไข่หรือตัวเพลี้ยที่อาศัยอยู่ในดิน
  • เลือกใช้สารเคมีที่เหมาะสม โดยไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อตัวห้ำ และตัวเบียน
  • ใช้เชื้อรากำจัดแมลง เช่น เชื้อบิวเวอร์เรีย และเมธาไรเซียม ฉีดพ่นอย่างสม่ำเสมอ

หากเกษตรกรรู้ทันเพลี้ย การป้องกันกำจัดเพลี้ยก็ไม่ยากอย่างที่คิดค่ะ กระดาษศาต้องขอตัวไปสำรวจเพลี้ยของต้นไม้ในบ้านบ้างแล้วค่ะ

ที่มา : กรมวิชาการเกษตร/ โครงการสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน