ยาร้อน ยาเย็น

คำว่า “ยาร้อน” “ ยาเย็น” เป็นการตอบสนองของพืช ที่แสดงออกหลังจากที่มีการพ่นสารเคมี โดยเฉพาะสารกำจัดแมลง ไรศัตรูพืช สารกำจัดโรคพืช และสารกำจัดวัชพืช (แต่ในที่นี้ผู้เขียนเน้นไปที่สารกำจัดแมลง ไรศัตรูพืช สารกำจัดโรคพืช จะไม่รวมถึงสารกำจัดวัชพืช เนื่องจากสารกำจัดวัชพืชมีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปกำจัดพืชที่ไม่ต้องการ ดังนั้นอาจมีผลกระทบต่อพืชหลัก หรือพืชประธานได้ ถ้าสารกำจัดวัชพืชนั้นไม่เลือกทำลาย หรือเลือกทำลาย แต่มีการใช้อัตราสูงมากกว่าคำแนะนำ หรือมีผลข้างเคียงต่อพืชประธาน หรือพืชที่นำมาปลูกต่อภายหลังเก็บเกี่ยวแล้ว) ดังนั้นจะมีคำที่เกี่ยวข้องกับอาการที่พืชแสดงออกภายหลังจากพ่นสารกำจัดศัตรูพืชไปแล้ว คือ ความเป็นพิษต่อพืช (Phytotoxicity) และผลข้างเคียง (Side effect)

1.ความเป็นพิษต่อพืช (Phytotoxicity) มีความหมายว่าผลของผลิตภัณฑ์ เช่น สารกำจัดศัตรูพืช ที่เป็นเหตุให้เกิดความเป็นพิษต่อพืช ทั้งที่แสดงอาการชั่วคราว หรือเป็นระยะเวลานาน
การประเมินผลกระทบความเป็นพิษต่อพืช ได้ถูกบังคับในขั้นตอนการทดสอบประสิทธิภาพสารกำจัดศัตรูพืช ไม่ว่าจะเป็นสารกำจัดแมลง ไรศัตรูพืช สารกำจัดเชื้อราสาเหตุโรคพืช และสารกำจัดวัชพืช โดยในการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรนั้น นอกจากจะวางแผนการทดลองประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัทว่ามีประสิทธิภาพอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่เคยแนะนำให้ใช้อยู่ก่อนหน้านั้น เช่น การทดสอบประสิทธิภาพสารป้องกันกำจัดหนอนห่อใบข้าว จะต้องมีสารเปรียบเทียบที่แนะนำสำหรับป้องกันกำจัดหนอนห่อใบข้าว ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ (Mode of action) เช่นเดียวกับ หรือใกล้เคียงกับสารที่จะนำมาขึ้นทะเบียน และมีกรรมวิธีที่ไม่ใช้สารเปรียบเทียบด้วย นอกจากนี้ยังต้องมีการบันทึกข้อมูลความเป็นพิษของผลิตภัณฑ์ต่อพืชด้วย อาการของพืชที่แสดงออกที่เกิดจากความเป็นพิษของสารต่อพืช เช่น 

– การพัฒนาการของพืช เช่น การใช้สารคลุกเมล็ด รองก้นหลุม หรือการพ่นสารกำจัดวัชพืช อาจมีการบันทึกการเจริญเติบโตทั้งต้น ตั้งแต่หลังงอก จนถึงเก็บเกี่ยวว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ รวมทั้งระยะเวลาในการงอก อัตราความงอก ระยะเวลาออกดอกช้าหรือเร็ว การติดผล การสุกแก่ หรือการแสดงออกของใบ ดอก ผล การวัดผลอาจใช้วิธีวัดอัตราการงอก จำนวนต้นที่แสดงอาการผิดปกติ
– สีของพืช ทุกส่วน ทั้งใบ ดอก ผล ทั้งต้น เช่น ผู้เขียนเคยทดสอบสารเคมีจุ่มรากมะเขือเทศก่อนย้ายกล้า ปรากฏว่าถ้าแช่สารเคมีที่เข้มข้นสูง หรือนานเกินไป ต้นมะเขือเทศจะเปลี่ยนเป็นสีขาวทั้งต้น บางต้นตาย บางต้น สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติ
– เกิดจุดตาย หรือไหม้เป็นหย่อมๆ กระจายตามใบ ดอกผล
– ใบไหม้ ใบร่วง ดอกร่วง ยอดบิดเบี้ยว ผลร่วง ใบ ดอก ผลบิดเบี้ยวเสียรูปทรง
– ส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิต เช่น รสชาดเปลี่ยนไป

2. ผลข้างเคียง (Side effect) ต่อพืช และสิ่งมีชีวิตอื่น
นอกจากจะมีการทดสอบประสิทธิภาพของสารที่มีต่อศัตรูพืชเป้าหมาย และบันทึกอาการเกิดพิษต่อพืชแล้ว การขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร ยังต้องบันทึกข้อมูลผลกระทบที่มีต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ เช่น ในแปลงนาข้าว การทดสอบประสิทธิภาพสารกำจัดแมลงศัตรูข้าว ต้องมีการบันทึกข้อมูลจำนวนศัตรูธรรมชาติที่มีประโยชน์ในแปลงนา เช่น มวนเขียวดูดไข่ แมงมุมเขี้ยวยาว แมงมุมสุนัขป่า หรือการพ่นสารกำจัดวัชพืชบางอย่างที่ตกค้างยาวนาน อาจให้ทดสอบว่าจะมีผลข้างเคียงต่อพืชที่จะมาปลูกต่อหรือไม่
เล่ามาเสียยืดยาวแล้วมันเกี่ยวไรกับ“ยาร้อน” “ ยาเย็น” (วะ?) สรุปว่า“ยาร้อน” “ ยาเย็น” เป็นการพูดแบบภาษาชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพิษต่อพืชนั่นเอง

ปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อการเกิดพิษต่อพืช ?
1.สูตรของสาร สารที่มีตัวทำละลายเป็นอิมัลซิไฟเออร์ คือสารที่เติมเข้าไปเพื่อให้สารออกฤทธิ์ที่ไม่ละลายน้ำ ให้สามารถละลายเข้ากันกับน้ำที่เรียกว่าสูตร EC (รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้ที่ผู้เขียนเคยเสนอไว้ก่อนหน้านี้) เนื่องจากสูตรนี้มีตัวทำละลายที่เป็นสารอินทรีย์กลุ่มไฮโดรคาร์บอนที่มีโครงสร้างเป็นน้ำมันเบนซีน (วงแหวนเบนซีน)เป็นส่วนประกอบ จึงมีโอกาสเกิดความเป็นพิษมากกว่าสูตร อื่น นอกจากนี้ยังมีสูตร ผงละลายน้ำ (WP) เนื่องจากหลังจากพ่นไปบนใบพืชจะไหลมารวมกันที่ปลายใบ ทำให้ปลายใบได้รับสารเข้มข้นมากกว่าจุดอื่น จึงมักเกิดอาการเกิดพิษได้ นอกจากนี้แล้วสูตรอื่นๆ ไม่ได้หมายความว่าไม่เกิดความเป็นพิษ อาจเกิดได้ถ้าใช้ในอัตราสูงกว่าคำแนะนำ อีกประเด็นหนึ่งสารเคมีสูตรเดียวกันแต่บางบริษัทพ่นแล้วไม่เกิดพิษต่อพืช แต่อีกบริษัทอาจเป็นพิษก็ได้ เนื่องจากตัวทำลาะลายมีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน

2.เกิดจากตัวสารเคมีเอง ได้แก่ สารที่มีสูตรโครงสร้างมาจากกลุ่มเบนซอยยูเรีย เช่น ไดฟลูเบนซูรอน คลอร์ฟลูอาซูรอน โนวาลูรอน ลูเฟนนูรอน ฯลฯ กลุ่มนี้ถ้าใช้ในอัตราสูงอาจเป็นพิษในช่วงพืชออกดอก หรือติดผลโดยเฉพาะผลไม้ที่มีไข หรือมีนวล (คะน้า องุ่น น้อยหน่า)

3.อัตราการพ่น การพ่นสารในอัตราสูงคือการพ่นละอองสารที่โตเกินไป ทำให้พืชได้รับสารเคมีเกินไปโดยไม่ได้ตั้งใจ บางครั้งอาจเรีกว่า พ่นมากจนเป็นการรดน้ำให้พืช เช่น การพ่นคะน้า 1 ไร่ ถ้าพ่นแบบใช้เครื่องยนต์พ่นสารแบบแรงดันน้ำสูง จะใช้อัตราการพ่นประมาณ 100 -120 ลิตรต่อไร่ แต่เกษตรกรพ่นถึง 200 ลิตรต่อไร่ ทำให้เสี่ยงที่จะเกิดความเป็นพิษต่อพืช

4.ความถี่การพ่น ผมเคยไปตรวจสอบแปลงที่เกิดอาการเกิดพิษต่อพืช หลายพืชเกิดจากพ่นถี่เกินไป สารเคมีเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับพืช หลังจากพืชได้รับจะเคลื่อนย้ายไปตามท่อน้ำ หรือดูดซึมผ่านใบที่เรียกว่า ทรานลามินาร์ (Translarminar activity) พอไปอยู่ในเซลที่ใบพืช จะพยายามขับถ่ายออกมาทางปากใบ ใช้ระยะเวลาหนึ่งขึ้นกับครึ่งชีวิตของสาร แสงแดด ปริมาณน้ำฝน หรือการให้น้ำ บางครั้งพืชยังขับถ่ายไม่หมด สารเคมีก็ถูกเติมลงไป ทำให้เกิดพิษต่อพืช

5.ช่วงอายุพืช ระยะวิกฤติของพืช อาจอยู่ในช่วงออกดอก ติดผลอ่อน ช่วงแล้งพืชขาดน้ำ เช่น ข้าวช่วงตั้งท้อง การพ่นสารบางสูตรอาจมีผลกระทบต่อพืชได้

6.การผสมสารหลายชนิด ในประเด็นนี้ผู้เขียนเคยนำเสนอมาครั้งหนึ่งแล้วว่า การผสมสารเคมีหลายชนิด บางครั้งอาจเกิดพิษต่อพืชได้ เช่น การผสมสารกำมะถัน (ซัลเฟอร์) หรือสารเคมีกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตที่มีองค์ประกอบของซัลเฟอร์ (ไดเมทโทเอต โอเมทโทเอต เฟนโทเอต โพรฟีโนฟอส คลอร์ไพริฟอส ไตรอะโซฟอส โพรไทโอฟอส ฯลฯ) ไม่ควรผสมกับกลุ่มไวท์ออยล์และปิโตรเลียมออยล์ หรือใช้สารสูตร EC ผสมกับสูตร EC ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดพิษต่อพืชได้ เช่นกรณีล่าสุดที่เพิ่งนำเสนอไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พ่นสารคลอร์ไพริฟอส +ไซเพอร์เมทริน +แคปแทน+สารจับใบ ทำให้ดอกกล้วยไม้เสียไปทั้งสวน

7.สภาพแวดล้อมขณะพ่น การพ่นท่ามกลางแดดจัด และอากาศร้อน มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดอาการเกิดพิษต่อพืช
จากข้อมูลข้างต้นแม้ว่าการขึ้นทะเบียนจะบังคับให้บันทึกข้อมูลความเป็นพิษต่อพืชของผลิตภัณฑ์เคมีเกษตรแล้ว แต่ข้อเท็จจริงคือผู้ผลิต ไม่สามารถขึ้นทะเบียนครอบคลุมทุกพืชได้ ในฉลากอาจมีคำแนะนำแค่ 2 – 3 พืช บางผลิตภัณฑ์มีแค่พืชเดียว เช่น ใช้กำจัดเพลี้ยไฟในกล้วยไม้ ถามว่าแล้วใช้กับทุเรียนจะเกิดพิษ(เป็นยาร้อน) หรือไม่ คงตอบไม่ได้ ดังนั้นเรื่องนี้ผมว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่อย่างน้อย ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือขยายฉลากไว้ แต่สามารถให้พนักงานไปทดสอบหาข้อมูลความเป็นพิษกับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้ เพื่อเป็นข้อมูลก่อนที่เกษตรกรจะนำไปใช้แล้วเกิดปัญหาแก้ไขไม่ทัน ฝากไว้นะครับ

สุดท้ายนี้ใครที่มีข้อมูลดีๆ ช่วยเพิ่มเติมด้วยนะครับ ว่าใช้แบบไหนเกิดพิษ แบบไหนไม่เป็น เพื่อเป็นวิทยาทาน ช่วยกันทำงานนะครับ ความรู้ถ้าเก็บไว้คนเดียวก็เหมือนสินค้าขึ้นหิ้งครับ แต่ถ้าถ่ายทอดออกมาก็เหมือนสินค้าขึ้นห้าง จะเป็นประโยชน์มากต่อพี่น้องเกษตรกรครับ