ข้อควรรู้ก่อนผสมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชหลายชนิด

การผสมสารเคมี มากกว่า 2 ชนิด จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

1. ฤทธิ์เพิ่มขึ้น (Synergistic effect) ความหมายคือ หลังจากที่สารเคมี 2 ชนิด ผสมกันแล้วเกิดปฏิกิริยาเคมีในทางที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น หรือทำให้เพิ่มฤทธิ์ในการฆ่าศัตรูพืชมากขึ้น เกิดจากการเพิ่มฤทธิ์ทางเคมี (ซึ่งแตกต่างจากการใช้สารเสริมฤทธิ์ (Adjuvants) ที่เสริมคุณสมบัติทางกายภาพทำให้สารเคมีแทรกซึมใบพืช หรือเข้าตัวแมลงได้ดี ซึ่งจะนำเสนอเรื่อง สาร Adjuvants ในโอกาสหน้า) การที่สารเคมีที่เพิ่มฤทธิ์กันได้นั้น ที่จริงแล้วต้องมีงานวิจัยเกี่ยวกับความเป็นพิษโดยการทำการทดสอบ Bio-assay กับแมลงศัตรูพืชของสารเดี่ยวแต่ละตัวก่อน โดยหาอัตราหรือความเข้มข้นที่ทำให้แมลงตาย 50% (LD50 หรือ LC50) หลังจากนั้นนำสารเคมี 2 ชนิดนั้น มาผสมกัน (การผสมจะมีอัตราส่วนของสารออกฤทธิ์ เช่น 1:1 1:2 2:1 1:10 ฯลฯ) แล้วคำนวณค่าความเป็นพิษ ซึ่งการหาค่าระดับความเป็นพิษจะศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตรา(หรือความเข้มข้น)ของสารกับอัตราการตายของแมลง (Dosage-mortality) คำนวณตามวิธีการของ Finney (1971) ที่เรียกว่า Probit Analysis แล้วคำนวณให้ได้ค่า Co-toxicity Coefficient (CTC) ตามวิธีของ Sun และคณะ (1960) ซึ่งเป็นรายละเอียดเชิงลึก จะไม่ขอกล่าวในที่นี้

2. พิษลดลง (Antagonism) อาจเป็นเพราะสารผสมเข้ากันไม่ได้ (Incompability) ที่เคยเสนอไปแล้ว หรือเกิดปฏิกิริยาเคมีกันแต่โครงสร้างทางเคมีเปลี่ยนไป เช่น สาร A + สาร B เกิดปฏิกิริยาเคมี ได้สาร C ถ้า C พิษเพิ่มขึ้นแสดงว่าเป็นเพิ่มฤทธิ์ (Synergists) ถ้าพิษลดลงแสดงว่าเป็น Antagonists

3. ฤทธิ์เท่าเดิม (No Reaction) สารทั้งสองชนิดที่ผสมกันไม่เกิดปฏิกิริยาเคมี ต่างคนต่างออกฤทธิ์กำจัดศัตรูพืชได้ตามปกติ เช่น การใช้สารกำจัดแมลงบางชนิด ผสมกันสารกำจัดเชื้อราบางชนิด ต่างคนต่างออกฤทธิ์ ไปทำลายศัตรูพืชโดยที่ประสิทธิภาพยังเหมือนเดิม

4. เกิดความเป็นพิษต่อพืช (Phytotoxicity) การเกิดพิษต่อพืชที่เกิดจากสารเดี่ยว อาจเป็นเพราะสูตร เช่น สูตร EC มีโอกาสเกิดพิษต่อพืชมากกว่าสูตรอื่นๆ แต่การผสมสารเคมี 2 ชนิด อาจเกิดความเป็นพิษต่อพืช ได้เช่นกัน สาเหตุเกิดจากปฏิกิริยาเคมีสาร A + สาร B ให้เกิดสาร C ที่มีองค์ประกอบที่เป็นพิษต่อพืช เช่น เป็นกรดจัด หรือมีคุณสมบัติการชะล้างไขของพืชเพิ่มขึ้น อาการที่เกิดอาจแสดงออกที่ใบ ดอก หรือผล เช่น ใบอาจจะไหม้ เหลืองตามขอบใบ เหลืองเป็นจุดๆ หรือเป็นจุดไหม้ ดอกไหม้ หรือร่วง ผลอ่อนร่วง ผลมีผิวสีผิดปกติ เป็นต้น

ในวันนี้กล้วยไม้ที่พี่เกษตรกรนำมาเป็นพันธุ์สกุลแวนด้า ซึ่งพันธุ์นี้จะอ่อนแออยู่แล้ว ดอกมีอาการไหม้ ทั้งดอกตูม ดอกบาน มากบ้างน้อยบ้าง เมื่อสอบถามพี่เกษตรกร ก็ได้รับคำตอบว่า สั่งให้คนงานพ่นสารเคมีผสมกัน 3 ชนิด คือ อิมิดาโคลพริด 70%WG ไซเพอร์เมทริน 35%EC และสารกำจัดเชื้อราแคปแทน 50%WP ใส่สารจับใบด้วย ช่วงนี้เพลี้ยไฟระบาดมากคนงานใจดี เลยพ่นละเอียดมาก น้ำยาที่ผสมเหลือเลยมีการพ่นซ้ำไป ซ้ำมา อาการดอกไหม้มาเป็นเดือนยังไม่หาย แถมยอดที่แตกใหม่ ก็ยังมีอาการอยู่ ผู้เขียนเลยแนะนำว่าช่วงนี้ อาจจะงดพ่นสารสูตร EC งดสารจับใบ สักพักหนึ่ง และเพื่อให้กล้วยไม้ฟื้นตัวเร็ว อาจจะต้องพ่นปุ๋ยทางใบ แล้วให้น้ำถี่ขึ้น เพื่อให้ต้นกล้วยไม้คายสารพิษออกมากับน้ำ

นี่เป็นแค่เพียงตัวอย่างเดียว ยังมีสวนกล้วยไม้ สวนมะนาว สวนมะม่วง ที่ผู้เขียนเคยไปดูที่แปลงเอง แต่ไม่ได้ถ่ายภาพบันทึกไว้ จึงอยากฝากถึงพี่น้องเกษตรกรที่ชอบผสมสารหลายชนิดนะครับ บางคนผสมสารกำจัดแมลง 2 ชนิด สารกำจัดเชื้อรา 1 ชนิด ปุ๋ยทางใบ แถมด้วยฮอร์โมน แค่นี้ 5 ชนิดแล้ว อย่าลืมนะครับว่าปุ๋ย และฮอร์โมนเป็นเคมีทั้งหมด หรือแม้แต่การใช้สารสกัดจากพืชธรรมชาติก็เป็นเคมีเช่นเดียวกัน เราไม่รู้ว่าการผสมสารจะเกิดปฏิกิริยาเคมีอะไรขึ้น และจะกระทบกับพืชเราหรือไม่ ถ้าอยากใช้ขอให้ลองใช้กับพืชต้นสองต้นก่อน ถ้าไม่เป็นพิษต่อพืชแล้วค่อยใช้นะครับ จะได้ไม่เกิดปัญหาภายหลัง

ปิดท้ายวันนี้ผมลองค้นดูพอมีตัวอย่างว่าสารอะไรผสมกันแล้วเพิ่มฤทธิ์กันบ้าง และสารอะไรผสมกันแล้วเป็นพิษต่อพืช ลองดูนะครับเผื่อเอาไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง
o สารกลุ่มไพรีทรอยด์ผสมกับสารกลุ่มไทโอฟอสเฟต (เช่น คลอร์ไพริฟอส ไตรอะโซฟอส โพรฟีโนฟอส ) จะเพิ่มฤทธิ์กันดี
o สารกลุ่มไพรีทรอยด์ผสมกับสารกลุ่มคาร์บาเมท (เช่น เมโทมิล คาร์โบซัลแฟน) จะเพิ่มฤทธิ์ปานกลาง
o สารอามีทราซผสมกับเอ็นโดซัลแฟน จะเพิ่มฤทธิ์กันดีมาก (แต่เสียดายเอ็นโดซัลแฟนถูกประกาศห้ามใช้แล้ว)
o สารกลุ่มอะเวอร์เมกติน (อะบาเมกติน อิมาเม็กตินเบนโซเอตผสมกับกลุ่มไดเอไมด์ (คลอแรนทรานิลิโพรล ฟลูเบนไดเอไมด์) จะเพิ่มฤทธิ์กัน
o สารคาร์บาริล หรือไทโอไดคาร์บ ผสมกับ ไดเมทโธเอท หรือมาลาไทออน อาจเกิดอันตรายกับพืช เช่น ถั่วเหลือง มะเขือเทศ และฝ้าย
o ปิโตรเลียมออยล์ผสมกับไดเมทโธเอท โอเมทโธเอท เฟนโทเอต ซัลเฟอร์ อาจเป็นพิษต่อพืช
o คาร์บาริล ผสมกับ แคพแทน ทำให้ผลมะเขือเทศอ่อนๆเป็นจุดๆในช่วงฤดูร้อน
นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังในการผสมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในสภาพที่มีค่า pH มากกว่า 7 หรือสภาพเป็นด่างจัด ซึ่งอาจรวมถึงการผสมปุ๋ยบางชนิดที่ละลายแล้วมีคุณสมบัติเป็นด่าง เนื่องจากจะไปลดประสิทธิภาพของสารกำจัดศัตรูพืช

เอกสารประกอบการเรียบเรียง
นิรนาม. 2553. คำแนะนำการป้องกันกำจัดแมลงและสัตว์ศัตรูพืชปี 2553. กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร, กรุงเทพฯ. 303 หน้า.
Finney, D.J. 1971(3rd). Probit analysis. Cambridge University Press. London. 333 Pages.
Sun, Y.P. andE.R.Johnson. 1960. Analysis of Joint Action of Insecticides against houseflies. Journal of Econ.Entomol. 53(5):887-892