น้ำมันหอมระเหย ใบกะเพรา

น้ำมันหอมระเหยใบกะเพรา ผลิตจากใบกะเพราสายพันธ์ุ Ocimum tenuiflorum ด้วยวิธีการกลั่นด้วยไอน้ำ มีกลิ่นหอมฉุนคล้ายกลิ่นของใบกะเพราสด ให้ความหอมสดชื่น ผ่อนคลาย น้ำมันหอมระเหยใบกะเพรามีความหนืดน้อย มีลักษณะเป็นของเหลวคล้ายน้ำ ประกอบไปด้วยสารสำคัญหลายชนิด โดยสัดส่วนของสารสำคัญแต่ละชนิดมากน้อยไปตามฤดูกาลเก็บเกี่ยว แหล่งเพาะปลูก, สภาพอากาศ และสายพันธ์ุ

น้ำมันหอมระเหยจากใบกะเพราประกอบไปด้วยสารประกอบหลักสำคัญ 3 ชนิด คือ Eugenol, β-elemene และ β-caryophyllene Eugenol พบในน้ำมันหอมระเหยใบกะเพรามากถึง 30-50% รองลงมาเป็น β-elemene 15% และ β-caryophyllene 2-25% Eugenolเป็นส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหยในพืชสมุนไพร และเครื่องเทศหลายชนิด นอกจากพบได้ในน้ำมันหอมระเหยใบกะเพราแล้วยังพบได้ในน้ำมันหอมระเหยกานพลู ข่า ตะไคร้ และใบโหระพา มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ทำลายเชื้อรา และแบคทีเรีย รวมทั้งจุลินทรีย์ก่อโรคหลายชนิด น้ำมันหอมระเหยใบกะเพรานอกจากใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางแล้วยังเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมอาหารจำพวกเครื่องปรุงรส ผงปรุงรส และอาหารสำเร็จรูปที่ต้องการกลิ่นและรสชาติของใบกะเพรา น้ำมันหอมระเหยใบกะเพราของ Aisainbioplex เป็นน้ำมันหอมระเหยเกรดอาหาร สามารถใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหาร รับประทานเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพได้


สารประกอบสำคัญ

Methyl charvicol, Borneol, Salinene, Methyl eugenol, Eugenol, β-caryophyllene, β-elemene, Camphene, Eugenol, Cineole


สารประกอบหลัก

Eugenol

β-elemene

β-caryophyllene


สรรพคุณและการนำไปใช้งาน

  • ช่วยบรรเทาโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

สารสำคัญในน้ำมันหอมระเหยใบกะเพรา camphene, eugenol, และ cineole มีสรรพคุณต้านเชื้อรา ไวรัส และแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งแบบเรื้องรังและเฉียบพลัน ช่วยลดอาการไอ หอบหืด เพียงหยดน้ำมันหอมระเหยใบกะเพราลงในน้ำอุ่น ไอระเหยจะช่วยให้ระบบทางเดินหายใจสุขภาพดีขึ้น

 

  • มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดีกว่าวิตามินซี

ใบกะเพราประกอบไปด้วยสารฟีนอลิกจำนวนมาก เช่น cirsilineol, cirsimaritin, isothymusin, apigenin, rosmarinic acid และ eugenol และสารฟลาโวนอยด์ ได้แก่ orientin และ vicenin น้ำมันหอมระเหยจากใบกะเพราจึงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดีและดีกว่ากรดแอสคอร์บิคหรือวิตามินซี และยังมีส่วนช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เมื่อใช้เป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือครีมบำรุงผิว จะช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระทำให้ผิวแข็งแรงสุขภาพดี ช่วยลดการเกิดริ้วรอย

 

  • ช่วยปรับสมดุลของความเครียดที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย

ความเครียดเกิดจากหลายสาเหตุที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย เช่น สารเคมีหรือสารสื่อประสาทในสมอง สภาพร่างกาย และอารมณ์ น้ำมันหอมระเหยใบกะเพรามีส่วนช่วยให้สารสื่อประสาทในสมองเกิดความสมดุลและผ่อนคลายลง ทำให้ความวิตกกังวลลดลง ส่งผลต่ออารมณ์ทำให้ดีขึ้น ช่วยลดความตึงเครียด

 

  • ช่วยลดสิวอักเสบ ป้องกันการเกิดสิว

ด้วยสรรพคุณที่มีประโยชน์หลายด้านของน้ำมันหอมระเหยใบกะเพรา ทำให้น้ำมันหอมระเหยใบกะเพราเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหลายชนิด นอกจากช่วยบำรุงผิวแล้วยังช่วยลดสิวอักเสบ ช่วยป้องกันการเกิดสิว เป็นสารธรรมชาติที่สามารถใช้ในผลิตภัณฑ์ลดการเกิดสิวแบบธรรมชาติได้ มีผลงานการวิจัยรายงานว่า สารสำคัญหลัก eugenol ในน้ำมันหอมระเหยใบกะเพรานั้น มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา สามารถต้านแบคทีเรียและเชื้อรา มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อที่ก่อให้เกิดสิวและหนอง โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มของ Propionibacterium acnes (P.acnes) ที่เป็นสาเหตุของการเกิดสิวอุดตัน สิวอักเสบ

สุทัศน์ สุระวัง และจริญญา พันธุรักษา.  (2549).  การสกัดและการนำไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารของน้ำมันหอมระเหยจากกะเพรา: รายงานการวิจัย.  (Extraction and Application in Food Products of Essential Oil from Holy Basil).  เชียงใหม่: ภาควิชาเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์
คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  68 หน้า.  ภาพประกอบ.
(ส.ร. 547.71 ส4411ก)

 เปรียบเทียบวิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหย จากใบกะเพราอบแห้งบดละเอียดที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางอนุภาคเฉลี่ย 310 ไมโครเมตร โดยวิธีกลั่นและสกัดพร้อมกัน การกลั่นด้วยไอน้ำทางตรง และการกลั่นด้วยไอน้ำทางอ้อม  พบว่าได้ปริมาณน้ำมันหอมระเหยร้อยละ 1.23  0.44  และ 0.33 ตามลำดับ   น้ำมันหอมระเหยกะเพรามีค่าดรรชนีหักเหอยู่ระหว่าง 1.5148-1.5153  องค์ประกอบหลักของสารให้กลิ่นในน้ำมันหอมระเหยกะเพรา ที่วิเคราะห์โดยเทคนิคแก๊สโครมาโทกราฟี-แมสสเปกโทรเมตรี (GC-MS) พบว่ามีปริมาณ Methyl eugenol, Trans – Caryophyllene, Eugenol, 2,4-Diisopropenyl-1-methly-1-vinyl และ L-linalool ร้อยละ 45.83, 22.46, 19.73, 1.98 และ 0.31 ตามลำดับ  การทดสอบความสามารถการเป็นสารต้านออกซิเดชั่นโดยวิธี DPPH พบว่า น้ำมันหอมระเหยจากกะเพราขาวมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งสูงกว่าน้ำมันหอมระเหยจากกะเพราแดง ทั้งที่ได้จากวิธีการกลั่นและสกัดพร้อมกัน และการกลั่นด้วยไอน้ำ  ปริมาณสารประกอบฟีนอลทั้งหมดที่พบในน้ำมันหอมระเหยกะเพรา มีความสัมพันธ์กับความสามารถของการเป็นสารต้านออกซิเดชั่น  การประยุกต์ใช้น้ำมันหอมระเหยกะเพราที่สกัดโดยวิธีการกลั่นด้วยไอน้ำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารในรูปของสารปรุงแต่งกลิ่นรส ได้แก่ การพ่นเคลือบบนมันฝรั่งแท่งทอดกรอบ การทำขนมปังกะเพรา และการใช้เป็นส่วนผสมในซอสผัดกะเพราปรุงรส  พบว่า ผู้ทดสอบให้คะแนนความชอบของการใช้น้ำมันหอมระเหยที่ระดับ 0.5% สำหรับใช้พ่นเคลือบบนมันฝรั่งแท่งทอดกรอบสูงที่สุด โดยมีระดับความเข้มของกลิ่นและกลิ่นรสที่พอดี ในขณะที่คะแนนความชอบเฉลี่ยที่มีต่อผลิตภัณฑ์ขนมปังกะเพราจากการทดสอบผู้บริโภค อยู่ในระดับชอบเล็กน้อยถึงชอบปานกลาง (6.80 + 0.90) และความชอบต่อผลิตภัณฑ์ซอสผัดกะเพราปรุงรส ในระดับชอบปานกลาง (7.02 + 1.02)