การหักเงินประกันสังคม

เรียน ผู้ประกันตน (พนักงาน)
สำนักงานประกันสังคม ขอเรียนว่า ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 ค่าจ้าง หมายความว่า เงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาปกติไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลาหรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และให้ความหมายรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างทำได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนดคำนวณหรือจ่ายในลักษณะใดหรือโดยวิธีใดและไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร เพื่อให้ครอบคลุมความหมายของคำว่า ค่าจ้าง ขอให้ท่านทำความเข้าใจด้วยว่าเงินใดจะเป็นค่าจ้างหรือไม่นั้นจะต้องดูเจตนาและลักษณะการจ่ายประกอบ ดังนี้
1. เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้าง
2. จ่ายเพื่อเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันเวลาปกติ
3. การจ่ายไม่คำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกจ้างจะนำไปใช้และไม่มีเงื่อนไขในการจ่าย
4. ต้องไม่ใช่เงินรางวัลหรือสวัสดิการหรือเงินจูงใจ
ทั้งนี้ การจะพิจารณาเกี่ยวกับลักษณะของรายได้ต่างๆ ว่าจะนำมาคำนวณเงินสมทบหรือไม่นั้นจะต้องมีเอกสารหรือหลักฐานประกอบการพิจารณาด้วย เนื่องจากหากรายได้มีเงื่อนไขเหมือนกันแต่มีเงื่อนไขหักจ่ายที่แตกต่างกัน โดยเงื่อนไขดังกล่าวหากเข้าองค์ประกอบนิยามคำว่า ค่าจ้าง ของสำนักงานประกันสังคมก็ต้องนำมาคำนวณเงินสมทบ และตามที่ท่านแจ้งมานั้น ไม่มีรายละเอียดเงื่อนไขการจ่ายเงินดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมจึงขอให้แนวทางในการพิจารณา ดังนี้
เงินเดือน ถือเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 เนื่องจากเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติของลูกจ้าง
ค่าจ้างรายวันและค่าจ้างเหมา หากเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานเป็นปกติของลูกจ้าง ก็ถือว่าเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ต้องนำมาคำนวณเงินสมทบ
เงินโบนัส ที่นายจ้างจ่ายให้พนักงานทุกปีนั้น มีวัตถุประสงค์ในการจ่ายเพื่อตอบแทนผลงานที่พนักงานทำให้บริษัท เป็นการจัดสวัสดิการเพื่อขวัญและกำลังใจของพนักงานจึงไม่ใช่ค่าจ้าง
ค่าล่วงเวลา (O.T) นั้น ไม่ถือเป็นค่าจ้างเนื่องจากค่า O.T. เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้กับพนักงานนอกเวลาทำงานปกติของพนักงาน เบี้ยขยัน หากการจ่ายเบี้ยขยันมีเงื่อนไขว่า พนักงานที่ไม่ลา ขาด สาย ลาป่วยหรือได้รับการร้องจากลูกค้าหรือผู้ควบคุมงานจะไดรับเบี้ยขยัน การจ่ายเบี้ยขยันดังกล่าวถือว่าเป็นเงินที่นายจ้างให้เพื่อตอบแทนความขยันหรือเพื่อจูงใจในการทำงาน ไม่ใช่เป็นการตอบแทนการทำงานปกติ จึงไม่เป็นค่าจ้าง หากท่านต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเงินใดที่ต้องนำมาคำนวณเงินสมทบหรือไม่สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือกองเงินสมทบ สำนักงานประกันสังคม หมายเลขโทรศัพท์ 0-2956-2269
หากนายจ้างนำเงินที่มิใช่เงินเดือนมาคำนวณเงินสมทบนำส่งสำนักงานประกันสังคม สามารถขอเงินดังกล่าวคืนได้ โดยนายจ้างต้องเป็นผู้ดำเนินการขอเงินส่วนที่เกินคืน จากนั้นนายจ้างเป็นคนนำเงินดังกล่าวไปคืนให้กับลูกจ้างต่อไป
ทั้งนี้ หากท่านมีข้อสงสัยสามารถโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 1 สำนักงานประกันสังคม หรือที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด ที่ท่านสะดวกในการติดต่อ

ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม
17 พฤษภาคม 2550