Beauveria bassiasna : การใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียในการกำจัดศัตรูพืช

เชื้อราบิวเวอร์เรีย ( Beauveria bassiasna ) เป็นจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคกับแมลง ซึ่งสามารถทำลายแมลงได้หลายชนิด

กลไกการเข้าทำลายแมลงของเชื้อราบิวเวอร์เรีย คือ เมื่อสปอร์ของเชื้อราสัมผัสกับผิวของแมลง ในสภาพความชื้นที่เหมาะสม (ความชื้นสัมพัทธ์ 50 % ขึ้นไป) จะงอกเส้นใยแทงผ่านผิวหนังเข้าไปในลำตัวแมลง แล้วขยายจำนวนเจริญอยู่ภายในโดยใช้เนื้อเยื่อของแมลงเป็นอาหาร แมลงจะตายในที่สุด ภายในระยะเวลาต่างๆ ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และวัยของแมลง โดยทั่วไปประมาณ 3 – 14 วัน เชื้อราบิวเวอร์เรียสามารถนำมาใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชที่สำคัญในพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น แมลงศัตรูพืชเป้าหมายในข้าว ได้แก่ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไฟ บั่ว หนอนห่อใบ ในมะม่วงได้แก่ เพลี้ยจักจั่นที่ทำลายช่อมะม่วง แมลงค่อมทอง ในพืชตระกูลส้มได้แก่ เพลี้ยอ่อนส้ม เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยไฟ ไรแดง ในพืชผักได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไรขาว แมลงหวี่ขาว หนอนผีเสื้อต่างๆ ในอ้อยได้แก่ แมลงค่อมทอง เป็นต้น

ปัจจัยที่เอื้อต่อการใช้เชื้อราเชื้อราบิวเวอร์เรียให้เกิดประสิทธิผล
เนื่องจากเชื้อราเป็นสิ่งมีชีวิต การนำไปใช้จะได้ผลหรือไม่ ต้องอาศัยปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องหลายอย่าง ได้แก่ อุณหถูมิ ความชื้น แสงกับช่วงเวลา และตัวของแมลงเอง

อุณหภูมิ อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับเชื้อราเชื้อราบิวเวอร์เรียที่จะทำให้เชื้อรางอกสปอร์ได้ดี จะอยู่ในระหว่าง 25-27 องศาเซลเซียส ดังนั้นหากเกษตรกรซื้อมาแล้วยังไม่ได้ใช้ จะต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม คือ 25-27 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิสูงกว่านี้ สปอร์จะไม่เจริญเติบโตและเสื่อมคุณภาพ เมื่อนำเชื้อราไปพ่นกำกัดแมลงหรือเพลี้ยก็จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร

ความชื้น ความชื้นที่เหมาะสมสำหรับพ่นเชื้อราเชื้อราบิวเวอร์เรีย ต้องมีความชื้นสูงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ความชื้นที่เหมาะสมที่สุด คือช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่ในบรรยากาศมีความชื้นสูง เนื่องจากความชื้นจะไปกระตุ้นให้สปอร์งอกออกมาและแทงทะลุผ่านเข้าไปในตัวแมลงหรือตัวเพลี้ย แต่ถ้าจะพ่นในช่วงฤดูฝนต้องดูว่าช่วงนั้นเพลี้ยระบาดหรือเปล่า เพราะโดยธรรมชาติฝนจะช่วยลดการระบาดของเพลี้ยอยู่แล้ว แต่เนื่องจากเพลี้ยแป้งมันจะระบาดในช่วงแล้ง ซึ่งอุณหภูมิและความชื้นไม่เหมาะต่อการพ่นเชื้อรา ดังนั้นเกษตรกรจะต้องมีความเข้าใจในธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทั้งสองชนิดนี้ จึงจะสามารถใช้เชื้อราให้เกิดประสิทธิผล

แสงกับช่วงเวลา การที่จะพ่นยาเชื้อราเชื้อราบิวเวอร์เรียให้ได้ผล คือ ต้องเป็นช่วงเวลาเย็นที่อากาศมีความชื้นสูงและอุณหภูมิต่ำ การที่เลือกเวลาพ่นเชื้อราในตอนเย็น ก็เพื่อไม่ให้โดนแสงแดด เพราะแสงแดดจะทำให้เชื้อราเสื่อมคุณภาพเร็วยิ่งขึ้น

ตัวแมลง เพลี้ยแป้งมีลักษณะเฉพาะตัวของมันเอง คือ มีแป้งคลุมตัวอีกชั้นหนึ่ง การพ่นเชื้อรากว่าสปอร์จะทะลุเข้าไปถึงตัวชั้นใน จะต้องผ่านแป้งที่คลุมอยู่อีกหนึ่งชั้น ดังนั้นการใช้เชื้อรากำจัดเพลี้ยแป้งจึงยากกว่าการกำจัดเพลี้ยธรรมดา และระยะที่เหมาะสมกับการพ่นเชื้อรา คือ ช่วงระยะตัวอ่อน ซึ่งเพลี้ยแป้งยังไม่มีแป้งมาปปกคลุมลำตัว

การฉีดพ่นเชื้อราเชื้อราบิวเวอร์เรีย
การพ่นเชื้อราเชื้อราบิวเวอร์เรียในแปลงเพียงครั้งเดียวไม่ได้ผล ต้องพ่นซ้ำ 2-3 ครั้งขึ้นไป และต้องพ่นในช่วงที่แมลงยังตัวเล็กๆ การพ่นต้องให้ถูกตัวแมลงด้วย เนื่องจากเชื้อราเป็นสิ่งมีชีวิต การออกฤทธิ์ของเชื้อราไม่เหมือนสารเคมีซึ่งสามารถดูดซึมผ่านไปยังเนื้อเยื่อได้ เมื่อเพลี้ยมาดูดกินก็จะได้รับสารเคมีทำให้เพลี้ยตาย ในกรณีที่เพลี้ยเกาะอยู่ใต้ใบ หากพ่นเชื้อราไปตกอยู่บนใบ เชื้อราจะไม่ออกฤทธิ์ฆ่าแมลงได้ ดังนั้นการพ่นเชื้อราต้องให้สปอร์ไปตกหรือถูกตัวแมลงเท่านั้นจึงจะทำลานเพลี้ยได้ อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงช่วงเวลา แสง อุณหภูมิ และความชื้นที่เหมาะสมดังกล่าวเป็นสำคัญ สปอร์จึงจะงอกเส้นใยออกมาแทงทะลุเข้าไปในตัวแมลงได้

การใช้เครื่องพ่นยาร่วมกับอุปกรณ์พ่นเชื้อรา
สามารถใช้อุปกรณ์ตัวเดียวกันได้ แต่จะต้องเปิดรูหัวฉีดให้กว้างขึ้น ถ้าเราไม่ปรับหัวฉีดให้รูกว้างขึ้น อาจทำให้อุปกรณ์ส่วนอื่นอุดตันได้ โดยเฉพาะที่หัวฉีด เพราะการใช้เชื้อราพวกนี้ต้องการความชื้นมาก จึงจำเป็นต้องเปิดรูให้กว้างขึ้น ปริมาณน้ำที่ใช้ผสมจะต้องมากกว่าการพ่นสารเคมี จึงจะทำให้มีความชื้นมากและต้องพ่นให้เปียกโชก ควรผสมสารจับใบด้วยเพื่อให้สปอร์เกาะพืชดีขึ้น

การซื้อเชื้อราจากร้านค้ามาใช้ปราบศัตรูพืช เกษตรกรควรสังเกตสถานที่เก็บเชื้อราว่า วางอยู่ในสถานที่อย่างไร ที่สำคัญคือ ต้องไม่โดนแสงแดด ไม่โดนลม ดังที่กล่าวแล้วว่าเชื้อราเป็นสิ่งมีชีวิต หากอยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิสูง สปอร์จะเสื่อมคุณภาพ คุณภาพของเชื้อราจะลดลง เกษตรกรนำไปใช้ไม่ได้ผล

ดังนั้น เกษตรกรที่จะใช้เชื้อราในการป้องกันกำจัดเพลี้ยหรือแมลงศัตรูพืช จะต้องศึกษาและเข้าใจในธรรมชาติของเชื้อรา และแมลงศัตรูพืชแต่ละชนิด และใช้ให้ถูกวิธีการกำจัดจึงจะได้ผล

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยกีฏและสัตววิทยา และกลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-5583 และ 0-2579-7542