พาราควอต ควรอยู่หรือไป

ขึ้นชื่อว่าสารเคมี โดยเฉพาะสารเคมีกำจัดวัชพืช เมื่อนำมาใช้ในไร่นา พืชอาหาร หลายคนคงรู้สึกกลัวสารตกค้าง กลัวอันตราย พาราควอตเป็นหนึ่งในสารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีการจำหน่ายและใช้งานมานานกว่า 50 ปี โดยนิยมใช้กำจัดวัชพืชในสวนผลไม้ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และพืชไร่ที่ปลูกเป็นแถว เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และพื้นที่นอกการเกษตร เช่น คันนา ทางส่งน้ำชลประทาน ปัจจุบันสิทธิบัตรสารพาราควอตหมดอายุสัญญา จึงมีหลายบริษัทนำเข้าพาราควอตเพื่อผลิตสารกำจัดวัชพืช ทำให้ช่วงนี้เรื่องราวของพาราควอตเป็นกระแสมากมาย พาราควอตจะอันตรายจริงหรือไม่ เราควรยกเลิกการใช้ พาราควอตหรือไม่ ศาสตราจารย์ ดร. รังสิต สุวรรณมรรคา (รูปซ้ายมือ) อดีตอาจารย์จากภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีคำตอบให้เรา

โดยท่านได้ให้คำแนะนำเพื่อให้เกษตรกรและประชาชนได้เข้าใจและรู้จักพาราควอตใน เบื้องต้น ดังนี้

พาราควอตเป็นสารกำจัดวัชพืช มีคุณสมบัติทางชีวภาพและกลไกการออกฤทธิ์เมื่อโดน แสงสว่าง พาราควอตจะกลายเป็นอนุมูลอิสระ และเกิดปฏิกิริยาต่อไปจนทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ ทำให้เซลล์แตก วัชพืชจึงเหี่ยวและแห้งตาย พาราควอต มีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่สำคัญ คือ ซึมเข้าสู่ใบพืชอย่างรวดเร็ว ไม่เคลื่อนย้ายในพืช ออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว ไม่ซึมผ่านสู่ชั้นดิน คุณสมบัติเฉพาะตัวเหล่านี้ทำให้พาราควอตมีความสำคัญในการ แก้ปัญหาวัชพืชได้ดี เวลานำมาใช้งานจะต้องทำการเจือจางก่อนที่ใช้ ฉีดพ่นทางใบหลังวัชพืชงอก โดยจะซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อสีเขียวอย่างรวดเร็วภายใน 15 นาที ออกฤทธิ์เร็ว ทนทานต่อการชะล้างโดยน้ำฝน สามารถดูดยึดไว้กับอนุภาคดินอย่างเหนียวแน่น และเสื่อมฤทธิ์ทันทีจึงไม่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในดิน พาราควอตออกฤทธิ์ทำลายเฉพาะส่วนสีเขียวที่อยู่เหนือดิน ไม่ทำลายส่วนที่เป็นสีน้ำตาลของพืช เช่น  โคนต้น ลำต้น พืชปลูกที่มีลำต้นสูง ใบของพืชอยู่ห่างวัชพืชจึงไม่ได้รับอันตราย สำหรับพืชต้นเตี้ยต้องใช้อย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้ใบไหม้ พาราควอตสามารสลายตัวด้วยแสง UV และจุลินทรีย์หลายชนิดในดิน มีค่าการสลายตัว DT50  ประมาณ 34-46 วัน องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดพาราควอตเป็นสารอันตรายปานกลางใน Class II เบื้องต้น และได้สรุปว่า ระดับของสารตกค้างพาราควอตในพืช อาหารและน้ำดื่ม ที่เกิดจากการใช้ พาราตวอตทางการเกษตร ตามคำแนะนำปกติ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของเด็กและประชาชนทั่วไป ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของคณะผู้เชี่ยวชาญ WHO/FAO  ด้านสารพิษตกค้าง JMPR ในปี 1986 และ 2003 และ USEPA ปี 1997

พฤติกรรมของพาราควอตในอากาศ พาราควอตเป็นสารที่ไม่ระเหย เมื่อเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง 64 วัน จะไม่มีการสูญหาย เมื่อมีการฉีดพ่นพาราควอตไปยังวัชพืชจะมีเพียงละอองน้ำที่มีสารผสมอยู่ แต่จะไม่อยู่ในรูปไอระเหย ปัจจุบันพบว่ามีเกษตรกรนำเครื่องพ่นแบบแรงเหวี่ยงใช้น้ำน้อยมาฉีดพ่นพาราควอต โดยการเจือจางเพียง
10 เท่า ซึ่งเป็นข้อห้ามที่ระบุไว้บนฉลาก เนื่องจากพาราควอตมีความเข้นข้นสูงอาจเกิดอันตรายกับผู้ใช้ได้ พฤติกรรมของ พาราควอตในดิน เราพบว่าเมื่อพาราควอตตกลงสู่ดินจะถูกดูดยึดไว้กับอนุภาคของดินอย่างเหนี่ยวแน่น เนื่องจากพาราควอตเป็นประจุบวกและแร่ดินเหนียวหรืออินทรียวัตถุเป็นประจุลบและเสื่อมฤทธิ์ทันที

จากผลงานวิจัยของ Roberts และคณะ ปี 2002 พบว่าพาราควอตเมื่อใช้ในดินเหนียว พาราควอตจะอิ่มตัวในดินเหนียวที่ 240-2,400 กิโลกรัมต่อไร่ ในดินร่วน 73.6-736 กิโลกรัมต่อไร่ ในดินทราย 12-120 กิโลกรัมต่อไร่ ในดินที่มีอินทรียวัตถุสูง (Peat) 4-12 กิโลกรัมต่อไร่ ปกติ พาราควอตแนะนำให้ใช้ในอัตรา 80 กรัมต่อไร่ เพราะฉะนั้นจะต้องใช้พาราควอตในดินเหนียว 3,000-30,000 ครั้ง ในดินร่วน 920-9,200 ครั้ง ในดินทราย 150-1,500 ครั้ง และในดินที่มีอินทรียวัตถุสูง 50-150 ครั้งพาราควอตจึงจะมีการอิ่มตัวในดิน (ตารางที่ 1) และพาราควอตไม่ถูกปลดปล่อยออกจากดิน หากมีการปลดปล่อยออกจากดินจริงก็จะถูกย่อยสลายโดยแสงแดดและจุลินทรีย์ดินชนิดต่างๆ

ผลการวิจัยยังพบว่า หากมีการใช้ พาราควอตปีละ 1 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ ปีละ 1 ครั้ง ทุกๆ ปีติดต่อกันเป็นเวลา 12 ปี เมื่อสิ้นปีที่ 12 ทำการวิเคราะห์ดิน ถ้า
พาราควอตไม่สลายตัวในดินควรจะพบ พาราควอต 12 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ แต่ในความเป็นจริงเมื่อวิเคราะห์ดินที่ 5 ปี หลังจากใช้พาราควอตจะพบว่า มีสารอยู่ในดินประมาณ 4 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ หลังจากนั้นปริมาณพาราควอตในดินจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงแต่ไม่เกิน 5 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ แสดงว่ามีการสลายตัวของพาราควอตอย่างต่อเนื่องและไม่สะสมในความเข้นข้นที่สูงขึ้น ดังภาพที่ 1


ภาพที่ 1 ความสัมพันธ์ปริมาณการใช้พาราควอต กับปริมาณผลตกค้างของพาราควอตในดิน ดัดแปลงจาก : Roberts et al. (2002)

จากกระแสข่าวการต่อต้านการใช้ พาราควอต หากถามว่าใช้สารกำจัดวัชพืชชนิดอื่นแทนพาราควอตได้ไหม คงต้องทำความเข้าใจกันว่าสารกำจัดวัชพืชแต่ละชนิดมีจุดอ่อนและจุดแข็งแตกต่างกัน ความสามารถในการกำจัดวัชพืชของสารแต่ละชนิดก็แตกต่างกัน พาราควอตถือเป็นสารที่มีประสิทธิภาพสูงและราคาถูก เกษตรกรจึงนิยมใช้อย่างกว้างขวาง การพยายามหาสารเคมีอื่นมาทดแทนคงต้องพิจารณาให้ครบทุกด้าน ทั้งนี้เพราะเกษตรกรจะต้องลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มสมรรถนะในการแข่งขัน

 โดยสรุปจากการใช้งานพาราควอตเพื่อประโยชน์ทางการเกษตรในประเทศไทยมากว่า 50 ปี แม้พาราควอตจะเป็นสารอันตราย แต่หากผู้ใช้งานปฏิบัติตนและใช้อย่างถูกวิธีตามคำแนะนำ ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลในทางการเกษตร และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่อย่างใด