การทำปุ๋ยปลาหมักสูตร วท

             ปุ๋ยปลาหมักเป็นปุ๋ยน้ำชีวภาพที่ได้จากการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้จากปลาได้แก่ หัวปลาก้างปลา หางปลา พุงปลา และเลือด ผ่านขบวนการหมักโดยการย่อยสลายโดยการใช้เอนไซม์ ซึ่งเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หลังจากหมักจนได้ที่แล้ว จะได้สารละลายสีน้ำตาลเข้ม ประกอบด้วยธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม นอกจากนี้ปุ๋ยปลายังประกอบด้วยธาตุอาหารรองได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน และธาตุอาหารเสริมได้แก่ เหล็ก ทองแดง และแมงกานีส 

          นอกจากนี้ปุ๋ยปลายังประกอบด้วยโปรตีนและกรดอะมิโน ซึ่งเกิดจากกระบวนการย่อยสลายของโปรตีนในตัวปลา ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการบ่งชี้ชัดว่ากรดอะมิโนสามารถจับตัวกับธาตุอาหารปุ๋ยทำให้ ปุ๋ยสามารถดูดซึมเข้าสู่ต้นพืชได้เร็วขึ้น ซึ่งตรงกับคำบอกเล่าของเกษตรกรที่พบว่าปุ๋ยปลาหมัก ช่วยพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เช่น ดอกไม้มีสีสดขึ้น ผลไม้มีคุณภาพดี และช่วยเร่งการแตกยอดและดอกใหม่ ตลอดจนการเพิ่มผลผลิตของพืช

ดร.สุริยา สาสนรักกิจ ได้เสนอสูตรการทำปลาหมักไว้ ดังนี้

1. หมักโดยใช้เชื้อจุลินทรีย์ Lactobacillus plantarum 

ในการหมักปุ๋ยปลาหมัก พบว่าได้ผลดี โดยการหมักเศษปลาจำนวน 100 กิโลกรัม ใช้กากน้ำตาล 20 ลิตรเติมเชื้อจุลินทรีย์ Lactobacillus sp. จำนวน 10 ลิตร คนให้เข้ากันใช้เวลาการหมักประมาณ 1-2 เดือน ก็จะได้ปุ๋ยปลาหมักจากเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์สำหรับพืชและสัตว์ นอกจากนั้นหลังจากหมักเป็นปลาหมักแล้วยังสามารถนำปลาหมักไปเป็นอาหารเสริมสำหรับสุกร ลดการติดเชื้อของโรคทางเดินอาหารของสุกรอีกด้วย

2. หมักโดยการใช้กรดอินทรีย์

กรดอินทรีย์ที่นิยมใช้ในการผลิตปุ๋ยปลาหมักได้แก่ กรดมด (กรดฟอร์มิค หรือกรดกัดยาง) และกรดน้ำส้มสายชู (กรดอะซิติก) ซึ่งกรดทั้งสองมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศเดนมาร์ค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1948 การใช้กรดทั้งสองชนิดในการผลิตปลาหมักเนื่องจาก กรดมดหรือกรดกัดยาง เป็นกรดที่หาได้ง่ายในพื้นที่ที่ทำสวนยาง ได้แก่ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนกรดน้ำส้มสายชูจะถูกนำมาใช้ในพริกดอง ซึ่งมีความเข้มข้นของกรด 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่จะนำมาใช้ในการผลิตปลาหมักเป็นกรดน้ำส้มสายชูเข้มข้นที่เรียกว่า “หัวน้ำส้ม” สามารถหาซื้อได้ในตลาดสดแทบทุกแห่ง

ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยปลา

ปุ๋ยปลาสามารถผลิตได้โดยการนำเอาพุงปลาและเลือดปลามาทำการบดให้ชิ้นส่วนต่างๆเหล่านี้มีขนาดเล็กลง จากนั้นนำไปหมักโดยใช้กรดมดเข้มข้น (formic acid) หรือกรดน้ำส้มสายชูเข้มข้น (acetic acid) ในปริมาณร้อยละ 3.5 มาผสมให้เข้ากันกับพุงปลาและเลือด นอกจากนี้ยังต้องเติมกากน้ำตาลในปริมาณร้อยละ 20 เพื่อช่วยดับกลิ่นคาวจากเศษปลา จากนั้นทำการคนให้เข้ากันและคนติดต่อกันอย่างน้อยเป็นเวลา 7 วัน ในระยะนี้จะสังเกตเห็นว่าพุงปลาเริ่มมีการละลายออกมาเป็นสารละลายเกือบหมดแล้วจากนั้นทำการหมักต่อไปอีกเป็นเวลา 21 วัน ในระหว่างที่ทำการหมักให้คนปุ๋ยปลาเป็นครั้งคราว การหมักปุ๋ยปลาถ้าใช้เวลานานจะได้ปุ๋ยปลาที่มีคุณภาพและกลิ่นที่ดี บางครั้งปุ๋ยปลาที่หมักได้จะมีคุณภาพของปุ๋ยที่มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุดิบและกระบวนการหมัก แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีธาตุอาหารไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบประมาณ 3.5 เปอร์เซ็นต์ โพแทสเซียม 0.5-1เปอร์เซ็นต์ และมีจุลธาตุดังกล่าวข้างต้น เป็นองค์ประกอบ

วิธีการผลิต

1. ปลาหมัก จำนวน 40 กิโลกรัม

2. กากน้ำตาล (โมลาส) จำนวน 20 กิโลกรัม

3. หัวเชื้อปุ๋ยหมัก พด.-2 จำนวน 1 ถุง

ขั้นตอนการทำ

นำหัวเชื้อปุ๋ยหมัก พด.-2 มาละลายในน้ำอุ่น 20 ลิตร ผสมลงในถัง ขนาด 200 ลิตร พร้อมปลาหมักและกากน้ำตาล เติมน้ำสะอาดจนเกือบเต็ม แต่อย่าให้ถึงกับล้นประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์นำไนล่อนชนิดถี่มาปิดไว้เพื่อป้องกันแมลงวันวางไข่ หมักไว้ประมาณ 25–30 วัน ในระหว่างนี้น้ำในถังจะเริ่มลดลง ให้เติมน้ำสะอาดลงไปอีก ใช้ออกซิเจนตลอดเวลาและหมั่นคนปุ๋ยอย่างน้อยวันละ 2–3 ครั้ง ในกรณีใช้พ่นทางใบ ควรหมักให้นานกว่าปกติ ยิ่งนานยิ่งดี เพราะถ้านำมาใช้เร็ว อาจเกิดผลเสียทำให้ใบไหม้ได้

วิธีสังเกตดูว่าเมื่อไรจึงจะนำปุ๋ยน้ำมาใช้ได้

1. ระยะที่ 1 สังเกตน้ำปุ๋ยจะออกเข้มข้น เป็นฟองใหญ่ไม่แตกง่าย

2. ระยะที่ 2 ฟองจะค่อยๆ เล็กและแตกง่าย จะมีกลิ่นหอม

3. ระยะที่ 3 ฟองจะค่อยๆ เล็กลงมากๆ มีกลิ่นน้ำส้มคล้าย ๆกลิ่นแอลกอฮอล์และฟองจะละเอียดมาก

ประโยชน์ของการใช้ปุ๋ยน้ำ

1. ออกดอกเร็ว เก็บผลผลิตได้เร็ว ได้ผลผลิตปริมาณที่มากขึ้นและมีคุณภาพดี

2. ลงทุนน้อย ลดต้นทุนในการผลิตและสามารถผลิตไว้ใช้เองในครัวเรือน

3. ไม้ผลจะมีรากแข็งแรง ใบสวย ใบใหญ่และยังปรับให้สภาพพื้นที่ดินดี ไม่เสีย ไม่เปรี้ยว

วิธีใช้

1. กรณีใช้ฉีดพ่นทางใบ ใช้ปุ๋ยน้ำ 1ลิตร ต่อน้ำ 100–150 ลิตรปริมาณการพ่น 7–10 วัน / ครั้ง

2. กรณีใช้ราดลงดิน ราดโคน ใช้ปุ๋ยน้ำ 1 ลิตร ต่อน้ำ 50 ลิตรปริมาณการใช้อย่างน้อยปีละ 3–4 ครั้งหรือ 30–40 วัน/ครั้ง