ด้วงหมัดผักแถบลาย

ด้วงหมัดผักแถบลาย ( leaf eating beetle)

ชื่อวิทยาศาสตร์                   Phyllotreta sinuate Stephen

วงศ์                                        Chrysomelidae                                   

อันดับ                                    Coleoptera                           

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

ด้วงหมัดผักพบแพร่ระบาดอยู่โดยทั่วๆไปในธรรมชาติ พบ 2 ชนิด คือ ด้วงหมัดผักแถบลาย P. sinuate และด้วงหมัดผักสีน้ำเงิน P. chontanica ชนิดที่สำคัญคือ ด้วงหมัดผักแถบลายตัวอ่อนกัดกินหรือชอนไชเข้าไปกินอยู่บริเวณโคนต้นหรือรากของผัก ทำให้พืชผักเหี่ยวเฉาและไม่เจริญเติบโต ถ้ารากถูกทำลายมากๆ ก็อาจจะทำให้พืชผักตายได้ ตัวเต็มวัยชอบกัดผิวด้านล่างของใบทำให้ใบเป็นรูพรุน และอาจกัดกินผิวลำต้น และกลีบดอกด้วย ด้วงหมัดผักชอบอยู่ร่วมกันกลุ่มๆ ตัวเต็มวัยเมื่อถูกกระทบกระเทือนจะกระโดดและสามารถบินได้ไกลๆ

รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ

ตัวเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ หรือกลุ่มบริเวณโคนต้นพืช เส้นกลางใบพืชและตามพื้นดิน ไข่รูปร่างคล้ายไข่ไก่มีขนาด 0.13 x 0.27 มม. สีขาวอมเขียว ผิวเรียบเป็นมัน และจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองก่อนฟักเป็นตัว ระยะไข่ 34 วัน ตัวหนอนมีสีขาว ส่วนหัวและส่วนหลังปล้องแรกสีน้ำตาล มีจุดสีน้ำตาลตามลำตัวและแผ่นสีน้ำตาลอยู่ทางด้านบนของปล้องสุดท้ายลำตัวหนอนอาศัยอยู่ในดิน ระยะหนอน 10-14 วัน และเข้าดักแด้ในดิน ส่วปีกและขาของดักแด้แยกจากลำตัวเป็นอิสระเคลื่อนไหวได้ ระยะดักแด้ 4-5 วัน ตัวเต็มวัยเป็นด้วงขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 2-2.5 มม. ปีกคู่หน้าสีดำ มีแถบเหลืองสองแถบพาดตามความยาว ด้านล่างของลำตัวสีดำ ขาคู่หลังตรงส่วนของฟีเมอรืขยายใหญ่และโตกว่ขาคู่อื่นๆ หนวดแบบเส้นด้าย อายุตัวเต็มวัย 30-60 วัน ผสมพันธุ์ได้หลายครั้ง เพศเมียแต่ละตัววางไข่ได้ 80-200 ฟอง

พืชอาหาร

ด้วงหมัดผักชอบทำลายผักตระกูลกะหล่ำ เช่น คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปม ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผักกาดเขียวปลี ผักกาดหัว เป็นต้น

การป้องกันกำจัด

 

  1. วิธีเขตกรรม  การลดการระบาดของด้วงหมัดผัก สามารถทำได้โดยการไถตากดินไว้เป็นเวลานานพอสมควร เพื่อทำลายตัวอ่อนและดักแด้ที่อาศัยอยู่ในดิน นอกจากนี้ควรเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ด้วงหมัดผักไม่ชอบจะเป็นการช่วยลดการระบาดได้อีกทางหนึ่ง
  2. การใช้ใส้เดือนฝอย (Steinernema carpocapsae) เช่น ยูเนมา อัตรา 4 ล้านตัวต่อพื้นที่ 20 ตารางเมตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงเยนซิส เช่น โนโวดอร์ เอฟซี อัตรา 100 มล./น้ำ 20 ลิตร โดยพ่นหรือราดทุก 7 วัน เพื่อฆ่าตัวอ่อนด้วงหมัดผักในดิน
  3. การใช้สารฆ่าแมลงกลุ่ม คาร์บาเมท เช่น คาร์บาริล ( เชฟวิน 85% ดับบลิวพี) หรือ คาร์โบซัลแฟน (ฟอสซ์ 20% อีซี ) อัตรา 40 กรัมและ 50 มล./น้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต เช่น โพรฟิโนฟอส (ซูเปอร์ครอน 50 % อีซี ) หรือ โพรไทโอฟอส (โตกุไธออน 50% อีซี) อัตรา 40 และ 40 มล./น้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ ยังคงใช้ได้ผลดีในแหล่งปลูกผักใหม่ ๆ ที่มีการระบาดไม่รุนแรง ส่วนในแหล่งที่ปลูกผักเป็นประจำ ควรใช้สารฆ่าแมลงกลุ่มฟิพโพลล์ เช่น ฟิโปรนิล (แอสเซนด์ 5% เอสซี) อัตรา 40 มล./น้ำ 20 ลิตร กลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ เช่น โมแลน (อะเซตามิพริโ 20 % เอสพี ) อัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร จะให้ผลดีกว่า

 

By สัจจะ ประสงค์ทรัพย์ (Satja Prasongsap)
Professional Research Scientist
Horticulture Research Institute