คุณภาพน้ำสำหรับพืช

ในการเริ่มต้นสำหรับการหาพื้นที่เพื่อทำการเกษตร หัวใจหลักที่เราต้องรู้ก่อนคือ สภาพดิน และ น้ำ ของพื้นที่ที่เราจะเริ่มต้น

ดินด่าง ถอยดีกว่า (วัดได้ด้วย pH meter)
ดินเค็ม กลับหลังหันลืมไปได้เลย (วัดได้ด้วย EC meter)

น้ำ…..ขอใช้ข้อมูลมาตรฐานคุณภาพน้ำ ของ กล้วยไม้ เป็นตัวเริ่มต้น
แหล่งน้ำในพื้นที่ที่เราเลือก จะต้องมีน้ำเพียงพอตลอดทั้งปี และแล้งต่อเนื่อง 2 ปีก็ยังมีน้ำพอใช้

ในกรณีที่เราจำเป็นต้องขุดบ่อเพื่อเก็บน้ำสำรอง คุณภาพดินตรงบริเวณบ่อจะเป็นตัวตัดสิน
ถ้าดินเป็นด่าง น้ำที่เอาเข้ามาเก็บ ก็จะมีฤทธิ์เป็นด่างไปด้วย ซึ่งตรงนี้จะส่งผลกับคุณภาพและประสิทธิภาพของ สารกำจัดศัตรูพืช และ ปุ๋ย ยิ่งเป็นด่างมากเท่าไหร่ก็ยิ่งสร้างปัญหามากเท่านั้น pH น้ำที่เหมาะสม คือ 5.5-6.5
ถ้าเป็นดินเค็ม น้ำที่เอาเข้ามาเก็บก็จะละลายเกลือที่มีอยู่ออกมา ในกรณีนี้ ก็วัดค่าการนำไฟฟ้า ECw ซึ่งจะบอกว่าน้ำนั้นควรใช้หรือไม่ ถ้าเป็นน้ำเค็มที่มีค่าการนำไฟฟ้า > 1,000 ไมโครซีเมนส์/ซม. ควรจะส่งน้ำเข้าไปวิเคราะห์หาชนิด ปริมาณของเกลือแต่ละชนิด เพื่อตัดสินใจว่าน้ำใช้ได้หรือไม่ จะสามารถปรับแก้ได้หรือไม่ คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่

ค่ามาตรฐานของน้ำสำหรับกล้วยไม้หวายตัดดอก
…………………………………..มาตราฐาน………หน่วย
ความเป็นกรด-ด่าง..pHw…….5.2 – 6.2
ความนำไฟฟ้า……..ECw ไม่เกิน…750…..ไมโครซีเมนส์/ซม.
โซเดียม……………..Na+ ไม่เกิน….3.0…มิลลิอีควิวาเลนท์/ลิตร
คลอไรด์……………..Cl- ไม่เกิน……3.0…มิลลิอีควิวาเลนท์/ลิตร
ซัลเฟต……………SO4-2 ไม่เกิน…10.0…มิลลิอีควิวาเลนท์/ลิตร
ไบคาร์บอเนต…..HCO3- ไม่เกิน…..1.5…มิลลิอีควิวาเลนท์/ลิตร
โซเดียมที่ละลายน้ำ..SSPไม่เกิน…60……เปอร์เซนต์
อัตราการดูดซับโซเดียม..SARไม่เกิน…2.0

การวิเคราะห์น้ำ เพื่อดูคุณภาพเราจะวิเคราะห์

pHw……….ECw
ปริมาณ…..Ca+2…..Mg+2…..K+…..Na+
อนุมูล…….CO3-2…HCO3-….SO4-2…..Cl-
% SSP Soluble Sodium Percentage
SAR Sodium Adsorption Ratio
การปรับ pH ของน้ำด้วยกรดไนตริก

วิธีเก็บตัวอย่างน้ำ
ใช้ขวดพลาสติกขนาด 1.5 ลิตร ล้างขวดให้สะอาดในน้ำที่เราจะเก็บ ใช้นิ้วหัวแม่มืออุดปากขวด กดขวดให้จมน้ำลึกประมาณ 1 ช่วงแขน เปิดปากขวดให้น้ำเข้าจนเต็มขวด ปิดปากขวดใต้น้ำ พยายามอย่าให้มีฟองอากาศในขวด เขียนชื่อ ที่อยู่ สถานที่เก็บน้ำให้ชัดเจน ห่อขวดด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ แล้วนำส่งวิเคราะห์

สถานที่ให้บริการวิเคราะห์ดิน และ น้ำ ฟรี สำหรับเกษตรกร


กลุ่มงานวิจัยพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำ
กลุ่มวิจัยเกษตรเคมี
สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
กรมวิชาการเกษตร
กรุงเทพมหานคร………..0-2579-8600-2 ต่อ 700-702

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1
จ.เชียงใหม่………..….0-5311-4121-5

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2
จ.พิษณุโลก……….…0-5531-1407

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3
จ.ขอนแก่น……..……0-4334-2920 ต่อ 115

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จ.อุบลราชธานี……….0-4520-2190

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จ.ชัยนาท……………..0-5640-5070 ต่อ 111

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จ.จันทบุรี……………..0-3939-7076

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จ.สุราษฎร์ธานี………..0-7725-9445-6

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จ.สงขลา………………0-7444-5905-6 ต่อ 26

เมื่อเราส่งน้ำแล้วได้ผลวิเคราะห์ โดยปกติทางห้องปฏิบัติการจะให้คำแนะนำมาพร้อมด้วย
แต่เราก็สามารถที่จะดูเองได้ โดยดูไปที่ละขั้นตามนี้

จากผลวิเคราะห์ที่ได้ เราสามารถเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ว่าคุณภาพน้ำนั้น มีปัญหาอะไรบ้าง

– ความนำไฟฟ้าของน้ำ (ECw)
ถ้าสูงเกิน 1,000 ไมโครซีเมนส์ / เซนติเมตร และ
ค่า SSP สูงกว่า 60%
แสดงว่าน้ำนั้นมีปริมาณของ Na มากกว่า Ca + Mg
…………………………………………เป็นอันตรายขั้นที่ 1

………สูตรคำนวณ %SSP = Na / Na + Ca + Mg x 100

เพราะฉะนั้น
ถ้า….Na….น้อยกว่า…Ca + Mg…ค่า SSP…จะต่ำกว่า 50%
Na = Ca + Mg……………………..ค่า SSP…จะเท่ากับ 50%
Na………….มากกว่า…Ca + Mg…ค่า SSP…จะสูงกว่า 50%

– ปริมาณ Na มากกว่า 3 มิลลิอิควิวาเลนท์ / ลิตร ……………………………………………เป็นอันตรายขั้นที่ 2

– ปริมาณ Cl มากกว่า 3 มิลลิอีควิวาเลนท์ / ลิตร
และมีปริมาณมากกว่า SO4 แสดงว่าเกลือส่วนใหญ่ในน้ำเป็นเกลือแกง ( NaCl ) เมื่อสะสมในเครื่องปลูกจนถึงระดับหนึ่ง ก็จะทำให้รากไม่สามารถดูดอาหารและน้ำได้ ต้นก็จะเหลืองและเหี่ยวตายในที่สุด………………………เป็นอันตรายขั้นสุดท้าย

ส่วน อนุมูลไบคาร์บอเนต (HCO3-) จะเข้าไปตกตะกอนในราก อุดตันรากไม่สามารถดูดน้ำได้ ถ้ามีปริมาณในน้ำสูงเกินกว่า 1.5 มิลลิอีควิวาเลนท์ / ลิตร ก็สามารถใช้กรดที่ปรับ pHw มาแก้ปัญหานี้ได้เช่นกัน

การปรับ pH ของน้ำ
ในกรณีน้ำมี pH เป็นด่าง เราใช้กรดเป็นตัวปรับ เช่น
— กรดเกลือหรือกรดไฮโดรคลอริก (HCl) 
— กรดกำมะถันหรือกรดซัลฟูริก(H2SO4)
— กรดฟอสฟอริก(H3PO4)
— กรดไนตริก(HNO3) เป็นต้น

กรดเกลือ เราหลีกเลี่ยงที่จะใช้เพราะคลอไรด์ที่มีอยู่จะไปจับกับโซเดียมในน้ำ เป็นโซเดียมคลอไรด์ ถ้าสะสมมากๆก็จะเป็นอันตรายกับการเจริญเติบโตของกล้วยไม้

กรดกำมะถัน จะไปจับกับธาตุอาหารรองและจุลธาตุในน้ำ บางส่วนตกตะกอนพืชใช้ประโยชน์ไม่ได้

กรดฟอสฟอริก จะไปจับกับธาตุอาหารรองและจุลธาตุในน้ำ ส่วนใหญ่ตกตะกอนไม่เป็นประโยชน์กับพืช

เราเลือกใช้กรดไนตริก เพราะเกลือไนเตรทของธาตุอาหารรองและจุลธาตุทุกชนิดละลายน้ำได้ดี คงความเป็นประโยชน์เหมือนเดิม
ตามคำแนะนำของ อ.ดร.ยงยุทธ เจียมไชยศรี อาจารย์เป็นนักกล้วยไม้ยุคกล้วยไม้บางเขน ผ่านประสบการณ์ใช้น้ำบาดาลและปัญหาอนุมูลไบคาร์บอเนต(HCO3-)

ปัจจุบันกลุ่มงานวิจัยพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำ
กลุ่มวิจัยเกษตรเคมี สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ก็ใช้กรดไนตริก 50% เป็นมาตรฐานในการปรับ pH และปรับลดอนุมูลไบคาร์บอเนตในน้ำที่ใช้กับกล้วยไม้

การเตรียม กรดไนตริก 50%
(ในทีนี้หมายถึงการทำกรดไนตริกเข้มข้น 68% ให้เหลือความเข้มข้นครึ่งหนึ่ง)

กรดไนตริกเข้มข้น มีฤทธิ์ในการกัดกร่อนสูงและไอของกรดถ้าหายใจเข้าไปก็จะกัดเยื่อบุภายในจมูก จึงต้องมีความระมัดระวังอย่างมาก และการผสมกรดทุกชนิดทุกครั้ง จะต้องเทกรดลงในน้ำเสมอ “ห้าม” เทน้ำลงในกรดจะเกิดการระเบิด

เตรียมน้ำสะอาด 1 ส่วนใส่ในภาชนะทนกรด ค่อยๆเทกรดไนตริกเข้มข้น 1 ส่วน ลงในน้ำที่เตรียมไว้ เราก็จะได้ กรดไนตริก 50% เอาไว้ใช้

ผลกระทบ pH ของน้ำต่อคุณภาพของปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืช

โดยทั่วไปปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืช จะมีอายุการเก็บรักษา(shelf life) หลังจากการผลิต 3 – 5 ปี 
แต่มีอายุหลังจากผสมน้ำใช้ที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพคือ ครึ่งอายุ (half life) หมายถึง ช่วงระยะเวลาที่ปุ๋ยหรือสารกำจัดศัตรูพืชจะเสื่อมไปครึ่งหนึ่ง เมื่อผสมน้ำ โดยทั่วไปปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืชที่เราใช้มีฤทธิ์เป็นกรด ถ้าน้ำที่เราใช้ผสมมีฤทธิ์เป็นด่างก็จะเกิด hydrolysis ทำให้ประสิทธิภาพลดลง ตย. เช่น

ไทอามีโทแซม…..ที่ pH 5.0 …..จะมีครึ่งอายุ 260 ชม.
………………………ที่ pH 7.0 …..จะมีครึ่งอายุ 63 ชม.
………………………ที่ pH 9.0 …..จะมีครึ่งอายุ 1.32 ชม.

มีปัญหาอีกอย่างที่มีผลกระทบ คือ ไบคาร์บอเนต (HCO3-) ปกติน้ำที่เราใช้มี pH เป็นด่าง 7.5 – 8.5 เมื่อปรับด้วยกรดไนตริก 50% อัตรา 3 – 5 ซีซี./น้ำ 20 ลิตร pH จะลดลงมาอยู่ที่ 5.5 – 6.5 โดยประมาณ แต่ถ้า pH ลดลงเล็กน้อย แสดงว่าในน้ำนั้นมีปริมาณไบคาร์บอเนตสูง ซึ่งจะสร้างปัญหาทิ้งคราบหินปูนบนต้น ใบ ดอก ที่สำคัญไบคาร์บอเนตจะเข้าไปอุดตันในราก ทำให้รากชะงักไม่สามารถดูดน้ำดูดอาหารไปเลี้ยงต้น

ข้อมูลส่วนนี้ใครที่ถูกน้ำเค็มปนเปื้อนคงจะได้ใช้ประโยชน์ เพราะปกติกรมชลประทาน จะรายงานเป็นค่าความเค็ม หน่วยเป็น กรัม/ลิตร หรือ ppt. part per thousand (อัตราส่วน/พันส่วน)
ส่วนทางกรมวิชาการเกษตร จะรายงานเป็น ค่าการนำไฟฟ้า หน่วยเป็น ไมโครซีเมนส์/ซม.