ธาตุอาหารพืช — ปุ๋ย

ในเรื่อง “ธาตุอาหารพืช — ปุ๋ย” ที่เราใช้ให้กับพืชตามระยะการเจริญเติบโต เดิมๆเราเน้นกันที่จะเพิ่มผลผลิตเป็นหลัก ให้ปุ๋ยไนโตรเจนเร่งกันจนเน่าเสียหาย ก็เปลี่ยนมาจัดการให้เหมาะสมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพแทน ประสบการณ์และความรู้ประกอบกับข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทำให้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนเป็น ” อาหารเป็นยา ยาเป็นอาหาร ” สำหรับเราเองใช้ Way to Cut Back on Chemicals มาเป็นฐาน เน้นให้ใช้ Ca Mg B พร้อมจุลธาตุต่างๆ ในการสร้างความสมบูรณ์ แข็งแรงและความพร้อมให้สามารถทนกับสภาวะทั้ง ร้อนแล้งฝนหนาว ทนทานต่อโรคและแมลง ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพทั้งน้ำหนักทั้งรสชาติ …….ถอดมาเป็นตัวอย่างคร่าวๆ ใครที่สนใจก็เข้าไปดูใน ” ปุ๋ย ” เพิ่มเติม

ปุ๋ย-ธาตุอาหารพืช มีทั้งหมด 17 ธาตุ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
๑. จากธรรมชาติ น้ำและอากาศ คาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) ออกซิเจน (O)
๒. ธาตุอาหารหลัก( Macronutrients ) ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K)
๓. ธาตุอาหารรอง( Secondary nutrients ) แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) กำมะถัน(S)
๔. จุลธาตุ( Micronutrients or trace elements ) สังกะสี (Zn) เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) โบรอน (B) ทองแดง (Cu) คลอรีน (Cl) โมลิบดีนัม (Mo) นิกเกิล (Ni)

ไนโตรเจน ( N ) พืชใช้ในการเจริญเติบโตทางกิ่ง ก้าน ใบ ( vegetative growth ) ในกล้วยไม้ต้องการดอกใหญ่ ช่อยาวก็ต้องใช้เช่นกัน เน้นใช้ยูเรีย ( CO(NH2)2 ) เมื่อต้องการเร่งแรงๆ แอมโมเนียม ( NH4+ )ใช้ในช่วงการติดดอกออกผล ไนเตรท ( NO3- ) ใช้สำหรับคุณภาพก่อนเก็บเกี่ยว

ฟอสฟอรัส ( P ) เน้นให้พืชในระยะแรกเพื่อเพิ่มการเจริญของระบบราก ( plant starter ) พืชจะตั้งตัวได้เร็ว ระบบรากที่ดีก็จะช่วยหาอาหารได้มากขึ้น ในช่วงทำดอกเราใช้ฟอสฟอรัสสูงๆเพื่อกดไนโตรเจน ซึ่งเป็นวิธีปกติที่พวกเราชอบใช้ เพราะในช่วงเร่งการเจริญเติบโตเรามักจะชอบเหยียบ 180 พอจะหยุดก็เลยต้องเบรคแรงๆหน่อย ใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัสสูงๆที่มีราคาแพงกว่าตัวอื่น

โพแทสเซียม ( K ) เปรียบเหมือนเป็นพ่อบ้านใหญ่ เพราะเป็นตัวควบคุมระบบต่างๆในต้น ในกล้วยไม้เราเน้นไปที่ความหนา ความมีเนื้อของดอกและใบ

ถ้าเป็นละคร N P K ก็เป็นเหมือนตัวพ่อตัวแม่

ธาตุอาหารรองและจุลธาตุ แคลเซียม ( Ca )ตัวพระเอก แมกนีเซียม ( Mg )ตัวพระรอง โบรอน (B ) ตัวนางเอก จุลธาตุที่เหลือก็เป็นผู้ช่วยพระเอกนางเอก ขาดไม่ได้เดี๋ยวละครไม่สนุก

แคลเซียม ( Ca ) ช่วยเรื่องโครงสร้าง พืชจะแข็งแรงแค่ไหนก็ดูจากตัวนี้ เปรียบเหมือนเราสร้างรั้วล้อมบ้านตรงไหนอ่อนปูนตรงนั้นก็เป็นจุดอ่อน แต่พืชเจริญเติบโตทุกด้านตลอดเวลา การให้จึงเน้นให้น้อยๆแต่บ่อยๆครั้ง โครงสร้างที่แข็งแรงไม่มีจุดอ่อน ก็จะทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมได้ดี ทนร้อนทนแล้ง ทนฝนทนหนาว ดอกไม่ร่วงไม่ฝ่อ อื่นๆอีกมากมาย

แมกนีเซียม ( Mg ) เป็นแกนกลางของคลอโรฟิลล์ ส่วนที่เป็นสีเขียวเป็นตัวจับพลังงานเพื่อปรุงอาหารเปลี่ยนน้ำและอากาศให้ เป็นแป้งและน้ำตาล แต่การสร้างคลอโรฟิลล์ต้องมีผู้ช่วยพระเอกนางเอกเป็นตัวเร่งขาดไม่ได้ ( คลอโรฟิลล์ 1 โมเลกุล มีแมกนีเซียม 1 อะตอมเป็นแกนกลาง ไนโตรเจน 4 อะตอมและ CHO อีกหลายสิบอะตอม แต่การสังเคราะห์ต้องใช้ เหล็ก เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา )

โบรอน ( B ) ทำงานคู่กับพระเอก เน้นในเรื่องการติดดอก ออกผล ฝักจะติดดีมีเมล็ดเต็มสมบูรณ์ เมล็ดงอกดีไม่มีฝ่อ คุณภาพหลังเก็บเกี่ยวดี

ผู้ช่วยพระเอกนางเอก กำมะถัน สังกะสี เหล็ก แมงกานีส ทองแดง คลอรีน เน้นในเรื่องสีสันสดใส รสชาติดี มีความสมบูรณ์
เฉพาะโมลิบดีนัมและนิคเกิล ที่พวกเรานิยมใช้ในช่วงหลัง เนื่องจากเราเร่งไม้ด้วยไนโตรเจนมากๆ 2 ธาตุนี้จะไปช่วยให้พืชใช้ไนโตรเจนได้ดีขึ้น ( โมลิบดีนัม กระตุ้นเอนไซม์ไนเตรทรีดักเตส นิกเกิล กระตุ้นเอนไซม์ยูรีเอส) มีข้อน่าเป็นห่วงที่พืชต้องการน้อยมากๆ แต่ในผลิตภัณฑ์ที่มีวางขายในปัจจุบันทุกคนจะบอกว่ามีและมี%สูงๆ กลัวว่าถ้าใช้ต่อเนื่องจะเกิดเป็นพิษ ( Phytotoxic ) และไม่รู้ว่าเกิดจาก สาเหตุอะไร ขอให้ระวัง