เลี้ยงหอยขม แบบกระเป๋าแขวน

“เลี้ยงหอยขม” แบบกระเป๋าแขวน
ประสิทธิภาพดี ไม่มีกลิ่นโคลน

“หอยขม” หรือบางท้องถิ่นเรียกว่า หอยจุ๊บ หรือ หอยดูด เป็นหอยที่อยู่ตามธรรมชาติที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี ซึ่งนิยมนำมาเป็นอาหารกันทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เช่น นำมาทำเป็นแกงคั่ว แกงอ่อม ใส่ส้มตำ รวมถึงลวกจิ้มซึ่งก็ให้รสชาติดีไม่แพ้กัน หอยขมจึงนับเป็นอาหารโปรตีนคุณภาพที่อยู่คู่คูคลอง ท้องไร่ท้องนาของไทยมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามควรทำให้สุกเต็มที่ก่อนนำมาบริโภค เพื่อความปลอดภัยจากเชื้อโรคและตัวอ่อนของพยาธิที่อาจติดมากับหอยขมได้

ด้วยเหตุนี้ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จึงได้ศึกษาและคิดค้นการเลี้ยงหอยขมในกระชัง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเชิงพาณิชย์ได้ พร้อมกับได้พัฒนารูปแบบการเลี้ยงหอยขมที่มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น นั่นก็คือ “การเลี้ยงหอยขมแบบกระเป๋าแขวน” การเลี้ยงรูปแบบนี้ นอกจากทำให้หอยมีอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็ว เก็บผลผลิตได้ง่ายและรวดเร็วแล้ว หอยที่ได้จากการเลี้ยงวิธีนี้ยังมีคุณภาพที่ดี สะอาดและไม่มีกลิ่นโคลนอีกด้วย

อาจารย์ปิยะพัชร์ สถิตปรีชาโรจน์ ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศูนย์ศิลปาชีพบางไทรและ “นักศึกษาสมาชิกกลุ่มไอคิวทะลุฟ้าเพื่อสัตว์น้ำอินทรีย์” ให้ข้อมูลว่า หอยขมถือเป็นสัตว์น้ำที่มีความน่าสนใจ และกำลังได้รับความนิยมในหมู่เกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไป แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการเลี้ยงที่หลากหลาย เนื่องจากยังขาดองค์ความรู้และรูปแบบการเลี้ยงที่เป็นระบบ ปลอดภัยต่อการนำมาบริโภค ผลผลิตของหอยขมส่วนใหญ่ได้มาจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีคุณภาพและปริมาณไม่แน่นอน รวมถึงอาจมีสารพิษจากภาคการเกษตรปะปนด้วย

“การพัฒนารูปแบบการเลี้ยงหอยขมเชิงเกษตรอินทรีย์สู่เกษตรกรอย่างยั่งยืน จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถพัฒนาด้านการเกษตรแบบธรรมชาติหรือเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากหอยขมสามารถเจริญเติบโตได้รวดเร็ว กินอาหารโดยการดูดซึม ชอบอยู่ในที่ที่มีสารอินทรีย์สูง ๆ ที่สำคัญยังไม่มีการเลี้ยงหอยขมเป็นการค้า ผลผลิตส่วนใหญ่ได้จากธรรมชาติและผลพลอยได้จากการเลี้ยงปลาเท่านั้น หอยขมเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย มีความอดทนต่อสภาพแวดล้อม สามารถขยายพันธุ์และเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้หอยขมยังมีคุณค่าทางอาหารสูง”

ความต้องการของตลาดมีจำนวนมาก ลำพังหอยขมที่จับได้จากธรรมชาติไม่เพียงพอ ทั้งยังหายากขึ้นเนื่องจากแหล่งน้ำที่อาศัยของหอยขมสภาพไม่เหมาะสม ทำให้มีเกษตรกรรวมถึงนักวิชาการริเริ่มการเลี้ยงหอยขมกันขึ้น ซึ่งรูปแบบการเลี้ยงส่วนใหญ่ก็อิงกับธรรมชาติเป็นหลัก เช่นการเลี้ยงในบ่อดิน การเลี้ยงในร่องสวน รวมทั้งเลี้ยงในกระชัง ซึ่งก็แขวนไว้ในบ่อดินเช่นกัน ที่แตกต่างมาหน่อยก็คือการเลี้ยงในวงบ่อ ซึ่งหอยก็สามารถให้ผลผลิตได้เช่นกัน

“หลักการง่าย ๆ ของการเลี้ยงหอยขม คือ การจัดการสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติของหอยขมมากที่สุด ทั้งความลึกของน้ำ น้ำนิ่ง อยู่ในที่ร่ม มีพื้นที่ยึดเกาะและอาหารที่เพียงพอ ที่สำคัญดูแลน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ จากนั้นก็นำพันธุ์หอยขม ซึ่งอาจรวบรวมจากธรรมชาติหรือหาซื้อตามท้องตลาดทั่วไปก็ได้ นำมาปล่อยในบ่อหรือพื้นที่ที่เตรียมไว้ จากนั้นอาจเสริมด้วยอาหารเช่นรำข้าว เพียงเท่านี้หอยขมก็ให้ผลผลิตและจับจำหน่ายได้”

อาจารย์ปิยะพัชร์บอกว่า ในอนาคตหอยขมน่าจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ อีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาเลี้ยงในระบบฟาร์มแบบผสมผสาน ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยวิธีการง่าย ๆ และลงทุนต่ำ โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ในส่วนของการพัฒนาการเลี้ยงหอยขมโดยการใช้วิธีการเลี้ยงโดยใช้กระเป๋าแขวน ซึ่งเป็นรูปแบบการเลี้ยงหอยขมเชิงเกษตรอินทรีย์สู่เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยการพัฒนานวัตกรรมที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของหอยขม เพื่อประโยชน์และเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาของเกษตรกรอย่างยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้โครงการ “วิถีเพียงพอตามพ่อสอน” เพื่อการอยู่ดีกินดีของเกษตรกรที่ประกอบอาชีพเลี้ยงหอยขมในอนาคตต่อไป

“การเลี้ยงหอยขมในกระเป๋าแขวน เป็นการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาจากการเลี้ยงในกระชัง เนื่องจากปัญหาที่พบว่าเมื่อน้ำขึ้น หอยขมจะออกนอกกระชัง เกษตรกรต้องเลื่อนกระชังขึ้นลงตามปริมาณน้ำ เกิดความยุ่งยาก และเพื่อให้ง่ายและสะดวกขึ้น กลุ่มนักศึกษาจึงได้คิดค้นรูปแบบการเลี้ยงหอยขมในกระเป๋าแขวน ซึ่งลักษณะของกระเป๋าแขวนจะมีเชือกสามารถผูกมัดกับเสาหลัก สะดวกในการเคลื่อนที่ไปไหนได้ ที่สำคัญป้องกันไม่ให้หอยออกจากกระเป๋า นับเป็นรูปแบบการเลี้ยงที่เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่จำกัดและแก้ปัญหาหอยขมหลบหนีในช่วงน้ำขึ้นน้ำลงได้เป็นอย่างดี”

สำหรับวัสดุอุปกรณ์ในการเลี้ยงหอยขมในกระเป๋าแขวน 1.ตาข่ายไนลอน สำหรับทำกระเป๋า ขนาด 1 ตารางเมตร 2.เสาไม้ไผ่ สำหรับผูกกระเป๋าแขวน 3.ทางมะพร้าว สำหรับเป็นที่ยึดเกาะของหอยขม
อัตราการปล่อยหอยขม เมื่อรวบรวมหอยขมขัดล้างทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว นำหอยขมที่ได้ปล่อยลงเลี้ยงโดยอัตราปล่อยหอยขมจะปล่อยในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ที่ระดับน้ำความลึก 1 เมตร

อาหารของหอยขม

โดยธรรมชาติของหอยจะหาอาหารกินที่พื้นแต่ในการเลี้ยงหอยขมจะใช้รำละเอียดปั้นก้อนเป็นอาหารเสริม ทุกๆ 2-3 วัน เพื่อเพิ่มธาตุอาหารในบ่อเลี้ยงให้หอยขมมีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น และการใส่จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูง (EM) ลงในบ่อเลี้ยงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 ลิตร ลงในบ่อเลี้ยงเพื่อควบคุมและรักษาคุณภาพน้ำให้เหมาะสมตลอดการเลี้ยง

ทั้งนี้ หอยขมเป็นสัตว์ที่มีอวัยวะเพศทั้งเพศผู้และเพศเมียอยู่ในตัวเดียวกัน สามารถผสมพันธุ์ทั้งกับตัวเอง หรือผสมกับตัวอื่นได้ โดยการมาประกบกัน ส่วนการผสมพันธุ์ได้ด้วยตัวของมันเองจะทำได้เมื่ออายุได้ 60 วันขึ้นไป หอยขมออกลูกเป็นตัว ครั้งละประมาณ 40-50 ตัว ลูกหอยขมที่ออกมาใหม่ ๆ จะมีวุ้นหุ้มอยู่ แม่หอยขมจะใช้หนวดแทงวุ้นจนแตกเพื่อให้ลูกหอยหลุดออกจากวุ้น ลูกหอยขมสามารถเคลื่อนไหวได้ทันทีเมื่อออกจากตัวแม่

การเก็บผลผลิต ในการเลี้ยงหอยขมจะใช้ระยะเวลา 60 วัน สามารถทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตไปจำหน่ายได้ ซึ่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตหอยขม โดยการยกทางมะพร้าว หอยขมก็จะติดขึ้นมา เกษตรกรสามารถคัดเลือกหอยขมตัวใหญ่ ขึ้นไปจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 30-40 บาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งหอยขมจะผสมพันธุ์ในช่วงข้างขึ้น และออกลูกในช่วงข้างแรม

เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศูนย์ศิลปาชีพบางไทร 59 หมู่ 51 อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาจารย์ ปิยะพัชร์ สถิตปรีชาโรจน์ โทร.08-7999-9210