“หอยขมชอบอยู่นิ่ง จากการเลี้ยงในวงบ่อซิเมนต์มา 2 ปีพบว่า โอกาสรอดสูงกว่าบ่อดิน ส่วนอาหารให้กินตะไคร่น้ำ เสริมด้วยอาหารปลาดุกบดละเอียดผสมข้าวเหนียวทำให้หอยขมโตเร็วกว่าในตามธรรมชาติถึง 1 เดือน ผมเลี้ยงมา 2 ปี สามารถสร้างรายได้ทุกเดือนตกเดือนละ 4.8 หมื่นบาท” พงษ์ศักดิ์ กล่าว
ทุกวันนี้ พงษ์ศักดิ์ บอกว่า เริ่มขยายเลี้ยงหอยขมทั้งในบ่อดินและในวงบ่อซีเมนต์จึงแนะนำสำหรับผู้ที่เริ่มต้นหัดเลี้ยงอาจเลี้ยงในวงบ่อซีเมนต์อย่างเดียวก็ได้ เพราะเขาเองก็เน้นเลี้ยงในวงบ่อซีเมนต์เช่นกัน เพราะหอยขมจะอยู่นิ่งกว่าไม่เดินไปมา โตเร็วกว่าและอัตราการรอดสูงกว่าบ่อดิน แม้บ่อดินความเป็นธรรมชาติมากกว่า แต่การจัดการยากกว่าด้วย
สำหรับการเลี้ยงหอยขมในวงบ่อซีเมนต์ให้เทปูนตรงก้นวงบ่อซีเมนต์จนปิดสนิท ต่อท่อระบายน้ำไว้ด้านข้างเป็นลักษณะเกลียวหมุนมีฝาปิด ก่อนนำหอยขมลงเลี้ยงให้ใส่น้ำลงไปพร้อมกับหั่นต้นกล้วยลงไปแช่ 1 สัปดาห์ เพื่อให้น้ำยาปูนซึมออกจากน้ำ ไม่เช่นนั้นหอยขมจะตายได้
และเมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์ให้ใส่ดินเหนียวสูง 1 นิ้ว แล้วใส่ทางมะพร้าวตามลงไปเพื่อไว้ให้หอยขมกิน จึงปล่อยหอยขมลงบ่อได้ อัตราการใส่หอยขมอย่าให้แน่นเกินไป ประมาณ 3-5 กิโลกรัม/วงบ่อซีเมนต์ เลี้ยงคละขนาดกันได้ จากนั้นใส่น้ำลงไป 20-30 เซนติเมตร รอจนน้ำนิ่งแล้วจึงใส่น้ำลงไปอีก 20-30 เซนติเมตร (เบ็ดเสร็จให้น้ำสูง 50 เซนติเมตร)
วิธีการนี้จะช่วยให้น้ำไม่ขุ่นเพราะหอยขมต้องการน้ำสะอาด น้ำนิ่งทั้งนี้ หากใส่หอยขมและน้ำลงไปจนน้ำขุ่นหอยขมจะไม่ยอมกินอาหารนานถึง 3 วัน และหอยขมจะอยู่แค่ความสูงของน้ำออกมารับแสงและออกซิเจนเท่าพอ เลี้ยงได้ 3 เดือน ให้แยกออกไว้อีกบ่อเพื่อขยายพันธุ์ส่วนบ่อเดิมก็เลี้ยงต่อไปอีก 2 เดือน จึงจับไปขายได้
โดยธรรมชาติหอยขมจะเกาะตามกิ่งไม้และกินตะไคร้น้ำตามกิ่งไม้นั้นๆ ที่นี่จึงใส่ทางมะพร้าวให้หอยขม หรือกิ่งไม้ ใบไม้ที่สามารถหาได้เพื่อให้เกิดตะไคร่น้ำและเพื่อไว้เป็นที่หลบด้วย อย่างผมเลี้ยงมา 12 บ่อ ใช้พื้นที่ประมาณ 5×10 เมตร เท่านั้น
โดย 6 บ่อแรกตักหอบมาได้วันละ 50 กิโลกรัม นานครึ่งปี เมื่อตักหมดก็ปล่อยลอตใหม่ลงไปทันที และเราก็มาจับหอยอีก 6 บ่อ ในช่วงครึ่งปีหลังวนเวียนอย่างนี้ตลอด ทำให้เรามีรายได้ทุกวัน
ส่วนการเปลี่ยนน้ำ เขา แนะนำว่า หอยขมต้องเป็นน้ำสะอาด ไม่ควรใช้น้ำประปาโดยตรงเพราะมีคลอรีน ต้องพักน้ำไว้ให้คลอรีนหมดก่อน รวมถึงอย่าให้หอยขมโดนเกลืออาจทำให้หอยตายได้ ทางที่ดีควรปล่อยปลาหางนกยูงลงไปในบ่อหอยขมด้วย เพื่อช่วยกินลูกน้ำที่จะมารบกวนหอยขมอาจทำให้เป็นโรคได้
หากบ่อที่เลี้ยงปลาหางนกยุงด้วยจะเปลี่ยนน้ำทุก 1 เดือน/ครั้ง ด้วยการเปิดฝาเกลียวท่อระบายน้ำออก เอาตาข่ายปิดตรงรูท่อไว้รอจนน้ำระบายออกหมดให้ค่อยๆ ใส่น้ำลงไปใหม่เหมือนการใส่ในครั้งแรก
ส่วนดินใช้ดินเดิม หลังจากเปลี่ยนน้ำจนน้ำสะอาดแล้ว ให้ใส่อีเอ็มผสมลงในน้ำด้วย 1 ฝา เพื่อช่วยให้หอยโตไวขึ้นและป้องกันโรคได้ แต่ถ้าไม่ได้ใส่ปลาหางนกยุงไว้จะเปลี่ยนสัปดาห์ละครั้ง เพื่อป้องกันยุงลงไปไข่ นั่นเอง
“การเลี้ยงหอมขมในวงบ่อซีเมนต์ โอกาสเป็นโรคน้อยกว่าบ่อดิน เนื่องจากเปลี่ยนน้ำได้ง่ายกว่าจึงเปลี่ยนบ่อยได้ กระนั้นการสังเกตุ อาการของหอยขมที่เป็นโรคที่เกิดจากน้ำเสีย จะไม่ค่อยเดิน ไม่กิน ไม่เอาหลังขึ้นคือหอยที่เป็นโรค ที่มักจะนอนหงายเปิดฝาหน้าและตายในที่สุด
นับเป็นอาชีพที่น่าสนใจ ใช้พื้นที่น้อย แต่รายได้งาม