ธาตุโบรอน เป็นธาตุอาหารพืชที่พืชต้องการน้อยมาก แต่ก็จำเป็นในพืชผักทุกชนิด ในการเจริญเติบโต พืชแต่ละชนิด ต้องการธาตุโบรอนในปริมาณที่แตกต่างกันออกไป แร่ที่มีธาตุโบรอนเป็นองค์ประกอบได้แก่ บอแรกซ์ ทัวร์มาลีน ซึงพบว่ามีธาตุโบรอนอยู่มาก และเป็นสารที่ละลายน้ำได้ยาก และทนต่อการกัดกร่อน จึงทำให้การปลดปล่อยธาตุโบรอนจากต้นกำเนิด ค่อนข้างยากและช้า ทำให้ดินขาดธาตุโบรอนมากขึ้น เมื่อมีการปลูกพืชอย่างต่อเนื่องโดยไม่ปล่อยให้ดินพักตัว
หน้าที่ความสำคัญของธาตุโบรอนในพืช
ธาตุโบรอนแม้ว่าพืชต้องการน้อยมาก แต่ก็มีความสำคัญไม่แพ้ธาตุอาหารหลักของพืช เนื่องจากโบรอน ช่วยในขบวนการสังเคราะห์โปรตีนและลิกนิน ควบคุมการสร้างการเคลื่อนย้ายคาร์โบไฮเดรท และการแบ่งเซลล์ และยังเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่สำคัญในพืช การยึดตัวของรากพืชบางชนิดและมีความสำคัญในการสร้างปมรากพืชตระกูลถั่ว นอกจากนี้ธาตุโบรอนยังมีความเกี่ยวพันกับธาตุอาหารอย่างอื่นด้วย เช่น
– เมื่อขาดธาตุโบรอน จะทำให้พืชดูดซึมธาตุ โปแตสเซี่ยม ขึ้นมาจากดินมากเกิความต้องการของพืช จนอาจเกิดอันตรายหรือเป็นพิษต่อพืชได้
– เป็นตัวช่วยเร่งปฏิกิริยาการสลายตัวของธาตุแคลเซี่ยม ให้เกิดอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ (หากพืชพืชได้รับธาตุแคลเซี่ยมน้อยไม่สมดุลย์กับธาตุโบรอน ก็จะทำให้พืชแสดงอาการโบรอนเป็นพิษ)
– ช่วยลดการเป็นพิษ อันเกิดจากการที่มีธาตุเหล็กมากเกินไป
ธาตุโบรอนที่พืชสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
จะอยู่ในรูปของ โบเรท (ที่ละลายน้ำได้) ในดินส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปเกลือแคลเซี่ยม และแม็กนีเซี่ยมโบเรท ที่ละลายน้ำได้ ซึ่งจะมีปริมาณน้อย ปัจจัยที่ธาตุโบรอนเป็นประโยชน์ต่อพืชน้อย จะขึ้นอยู่กับ
1.ปริมาณแร่ดินเหนียวมีมากขึ้น ความเป็นประโยชน์ของโบรอนในดินจะลดน้อยลง
2.ดินที่เป็นด่าง หรือดินที่ได้รับการใส่ปูน
3.ความชื้นสูง ความเป็นประโยชน์ของธาตุโบอนก็จะมากขึ้นด้วย
4.ชนิดของพืช เช่นพืชบางชนิดจะไวต่อการขาดธาตุโบรอน เช่น ถั่งลิสง ทานตะวัน
ความต้องการธาตุโบรอนของพืช
เราแบ่งพืชตามความต้องการของธาตุโบรอนเป็น 4 จำพวก ได้แก่
1.พืชที่ทนต่อโบรอนได้ในปริมาณที่มาก (ต้องการโบรอนในปริมาณค่อนข้างมาก) เช่น กะกล่ำดอก ฯ
2.พืชที่ทนต่อโบรอนได้ในปริมาณปกติ (ต้องการโบรอนในปริมาณธรรมดา ปานกลาง รองลงมาจากพวกที่ 1) เช่น หน่อไม้ฝรั่ง บร็อคโคลี่ กะหล่ำปลี แครอท ผักกาดขาว มะเขือยาว กะหล่ำปม ผักกาด หอมหัว หอมใหญ่ พริก ผักกาดหัว มันเทศ ฯ
3.พืชที่มีความไวต่อธาตุโบรอน (ต้องการโบรอนน้อย เช่น คึ่นฉ่าย แตง Muskmelon แตงไทย แตงโม ถั่วแขก ถั่วลันเตา มันฝรั่ง มะเขือเทศ ฯ
4.พืชที่มีความไวมากต่อธาตุโบรอน (ต้องโบรอนน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับ 3 พวกแรก) เช่น ถั่วชนิดต่างๆ ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วฝักยาว ถั่วผี แตงร้าน แตงกวา สตอเบอรี่ ฯ
ประโยชน์ต่อพืช
– ช่วยในการออกดอกและการผสมเกสร
– มีบทบาทสำคัญในการติดผลและการเคลื่อนย้ายน้ำตาลมาสู่ผล
– การเคลื่อนย้ายของฮอร์โมนในพืช
– การใช้ประโยชนจากธาตุไนโตรเจนและการแบ่งเซลล์
ปกติดินที่ขาดธาตุโบรอน จะเป็นดินทรายตามชายฝั่งทะเลซึ่งมีธาตุโบรอนน้อยที่สุด แต่การขาดธาตุโบรอนนั้น (จนเป็นอันตรายต่อพืช) จะพบในดินเกือบทุกชนิด การขาดธาตุโบรอนนี้จะเกิดขึ้นรุนแรงและเห็นได้เด่นชัดในช่วงที่พืชกระทบอากาศแห้งแล้ง หรือพืชขาดน้ำมากๆ ในดินที่มีฤทธิ์เป็นด่าง และพบว่าพืชที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว (เร็วเกินไป) จากการที่เราเร่งปุ๋ยไนโตรเจนและโปแตสเซี่ยม จะแสดงอาการขาดธาตุโบรอนรุนแรงกว่า พืชที่เจริญเติบโตเป็นปกติหรือโตช้า
อาการทั่วไปของพืชที่ขาดธาตุโบรอน
1.ชะงักหรือหยุดการเจริญเติบโต
2.ส่วนปลายหรือขอบใบ(โดยเฉพาะยอด/ใบอ่อน)จะไหม้แห้ง (ใบอ่อนบางโปร่งใสผิดปกติ เส้นกลางใบหนาและกร้าน)
3.ใบแก่จะบิดเบี้ยวผิดรูป
4.ที่ขอบหรือส่วนล่างของผิวใบจะเปลี่ยนเป็นสีแดง
5.ลำต้นส่วนที่เป็นไส้กลาง หรือส่วนของเนื้อเยื่อที่อวบอ่อน จะช้ำหรือเป็นแผลแตกแยกออก (อาจมีอาการตกกระ มีสารเหนียวๆ ออกมาตามเปลือกของลำต้น) กิ่วก้านจะดูเหี่ยวๆ
6.พืชหัว เช่นแครอท มันฝรั่ง หรือ พืชเป็นผล เช่นแตง สีเนื้อภายในจะซีดจางหรือหายไป เนื้อหยาบแข็ง ผลเล็กแข็งผิดปกติ เปลือกหนา บางทีผลแตกได้
7.พืชผักที่ปลูกเพื่อเอาเมล็ดหรือทำพันธุ์ เมล็ดจะน้อย หรือไม่มีเมล็ด
อาการเฉพาะของพืชแต่ละชนิดเมื่อขาดธาตุโบรอน (ขอยกตัวอย่าง 3 พืช)
พืชตระกูลกะหล่ำ
อาการที่ส่วนแกนหรือไส้ของลำต้น แยกแตกออก หรือเน่ากลวง ระบบรากไม่สมบูรณ์ (อาจเน่าด้วย) กะหล่ำดอกจะแสดงอาการชัดเจนและรุนแรงมากกว่าอย่างอื่น คือจะมีอาการเกิดเป็นจุดแผลสีน้ำตาลและจะขยายลุกลามคลุมจนเต็มดอกทั้งหมด หากขาดในช่วงที่ดอกยังเล็กอยู่ ดอกจะแตกแขนงเล็กๆ ไม่รวมกันหรือห่อเป็นช่อและมีแผลจุดสีน้ำตาลเช่นกัน
คึ่นช่าย
จะเกิดแผลแตกหรือแยก ตามขวาง ที่ก้านใบ ส่วนของเปลือกใบจะม้วนขึ้นกลับไปด้านหลัง ทำให้ก้านใบมีลักษณะเป็นขุยหรือแผลสะเก็ดเล็กๆ ถ้าเป็นมากๆ ขุยเหล่านั้นจะหายไปแต่จะเกิดแผลสีน้ำตาลขึ้นแทน เมื่อยังขาดธาตุนี้อีก รากจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือสีส้ม เปลือกขาดออกง่าย ปลายรากกุด
แตงหรือฟักทอง
จะหยุดการเจริญเติบโต แคระแกร็น เถาหดสั้น กิ่งก้านใบแข็งเปราะ หักง่าย ใบเหลืองห่อ หุบลงด้านล่างเป็นรูปถ้วยคว่ำ ก้านใบหนา ปลายเถาม้วน ใบอ่อนปลายเถาจะแห้ง
อาการของพืชเมื่อได้รับธาตุโบรอนมากเกินไป
– เนื้อใบระหว่างเส้นกลางใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง (ลักษณะเหมือนขาดธาตุแมกนีเซี่ยม)
– ขอบใบแห้ง
– ระบบรากเสียหาย
– ต้นพืชไม่เตริญเติบโต คล้ายๆ ได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอ (อาจทำให้พืชตายทั้งต้นได้)