การผลิตเชื้อไตรโคเดอร์มา

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
1. เชื้อไตรโคเดอร์มาแบบแห้ง
2. ข้าวสาร
3. หม้อหุงข้าวไฟฟ้า
4. ถุงพลาสติก
5. หนังยางรัดปากถุง
6. เข็ม
ขั้นตอนแรก

เอาข้าวสารมาหุงค่ะ ใส่น้ำไม่ต้องมาก เราต้องการข้าวที่หุงแบบเมล็ดข้าวไม่แตกบายมาก แบบยังเป็นเมล็ดแข็งๆอยู่

ในที่นี้หุงกับหม้อที่ใช้กับไมโครเวฟ ใส่น้ำท่วมข้าวประมาณครึ่งองคุลี(ครึ่งข้อแรกของนิ้วชี้)

ข้าวที่ได้ก็ประมาณนี้ค่ะ แข็งๆหน่อย

จากนั้นก็เอาข้าวตักใส่ถุงพลาสติกใส ขณะที่ข้าวกำลังร้อนค่ะ ตัดใส่ประมาณ 250กรัม แล้วพับปากถุงไว้ รอจนข้าวเกือบเย็น แบบนี้

**การพับปากถุงปิดไว้ เพื่อไม่ให้เชื้ออื่นเข้าไปปนเปื้อนค่ะ **

แล้วก็เชื้อไตรโคเดอร์มาแบบแห้งค่ะ มันอยู่ในขวดลักษณะแบบนี้

เมื่อข้าวเย็นแล้ว ไม่ต้องเย็นมากนะคะ แบบอุ่นๆ เอาเข้าปากได้ไม่ร้อนก็พอ
จากนั้นเอาเชื้อไตรโคเดอร์มาแห้ง เหยาะลงไปค่ะ เหมือนเหยาะพริกไทยอย่างใดอย่างนั้นเลย ประมาณสัก3เหยาะก็พอ

จากนั้นก็เอามำขยำๆๆๆ คลุกเคล้าค่ะ แล้วก็รัดด้วยหนังยางที่เตรียมไว้ ให้ข้างในพอมีอากาศนิดหน่อย

จากนั้นเอาเข็มค่ะ มาแทงแบบไม่ยั้งตรงบริเวณใต้ที่รัดยางประมาณ20ครั้งค่ะ เพื่อพอมีการถ่ายเทอากาศที่ไม่มากไม่น้อยเกินไป มากไปเดี๋ยวเชื้ออื่นจะเข้ามาแทนค่ะ

จากนั้นก็เอาวางไว้แบนๆแบบนี้ ดึงถุงให้ขึ้นมาเพื่อพอมีอากาศภายในถุง แล้ววางไว้ในที่ที่มีแสงพอประมาณแบบนี้ ไม่ควรให้โดยแดดโดยตรงนะคะ
วางไว้ริมหน้าต่างแบบนี้ก็พอค่ะ

ผ่านไปได้สักราวๆ2-3วัน ถ้าเชื้องอกเจริญเติบโตดี ก็จะเห็นเป็นแบบนี้ค่ะ จะเห้นเป็นสีเขียว ซึ่งแสดงว่า เชื้อเจริญได้ดีค่ะ

เราก็เอามาขยำๆ ให้เชื้อกระจายให้ทั่วเมล็ดข้าวๆ แล้วก็วางไว้เหมือนเดิมอีก1-2วันค่ะ

เมื่อเชื้อโตเต็มที่แล้ว โดยปรกติจากวันที่เราทำจนถึงวันใช้งานได้ก็ราวๆ5-7วันค่ะ ไม่ควรเกินนี้เพราะว่าเชื้อไตรโคเดอร์มาจะหมดอาหารกิน ตอนนี้เค้าหิวพวกเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคพืชมากๆแล้วค่ะ

เราก็เอามาใส่ภาชนะแบบนี้ แล้วเอาน้ำใส่ลงไปพอประมาณค่ะ

คนๆๆๆ ให้เชื้อไตรโคเดอร์มาที่เป็นสีเขียวๆละลายน้ำที่ใส่ลงไป แล้วก็กรองด้วยกระชอนค่ะ

จากนั้น ก็เอาน้ำนี้แหละค่ะ ไปผสมน้ำอีก 10 ลิตร แล้วเอาไปทำการฉีดพ่นลงบนต้นไม้ต่างๆ ทุเรียน กล้ายางพารา ต้นกล้าข้าว เฟิน กล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับอื่นๆ ที่เราต้องการค่ะ

ศักยภาพของเชื้อราไตรโคเดอร์มาค่ะ
ไตรโคเดอร์มาจัดเป็นเชื้อราชั้นสูงที่เจริญเติบโตได้ดีในดิน เศษซากพืช ซากสิ่งมีชีวิตต่างๆรวมทั้งจุลินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ตามธรรมชาติ โดยมีกลไกในการต่อสู้กับเชื้อสาเหตุโรคพืชอยู่4ประการ
1. แข่งขันกับเชื้อโรคพืช ด้วยเหตุที่เชื้อราไตรโคเดอร์มาสร้างเส้นใยรวดเร็ว สามารถสร้างสปอร์ได้ปริมาณสูง โดยอาศัยอาหารจากเศษวัสดุอินทรีย์ต่างๆจึงช่วยให้เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถแข่งขันกับเชื้อโรคพืชหรือจุลินทรีย์ที่อยู่บริเวณเดียวกัน

2. การเป็นปรสิตต่อเชื้อโรคพืช เชื้อไตรโคเดอร์มาที่ผ่านการคัดเลือกแล้วสามารถพันรัดเส้นใยเชื้อราสาเหตุโรคพืช แล้วสร้างเอนไซม์ไคติเนส เซลลูเลส และกลูคาเนส วึ่งมีคุณสมบัติในการย่อยสลายผนังเส้นใยของเชื้อโรคพืช จากนั้นจึงแทงเส้นใยเข้าไปเจริญอยู่ภายในเส้นใยโรคพืชเป็นเหตุให้เชื้อโรคพืชสูญเสียความมีชีวิต ส่งผลให้ปริมาณของเชื้อโรคพืชลดลง

3.การสร้างสารยับยั้งหรือทำลายเชื้อโรคพืช
เชื้อไตรโคเดอร์มาบางสายพันธุ์สามารถสร้างสารปฎิชีวนะสาร สารพิษและน้ำย่อยเพื่อหยุดยั้งหรือทำลายเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคพืชได้

4.ชักนำให้พืชมีความต้านทานโรค
เชื้อไตรโคเดอร์มาบางสายพันธุ์ สามารถชักนำให้พืชสร้างกระบวนการผลิตสารประเภทเอนไซม์หรือโปรตีน ซึ่งมีส่วนช่วยให้พืชเกิดความต้านทานต่อเชื้อโรคได้

ประโยชน์ของเชื้อราไตรโคเดอร์มา

1. ไตรโคเดอร์มาลดกิจกรรมของเชื้อราสาเหตุโรคพืช

เชื้อราสาเหตุโรคพืชหลายชนิดสามารถเจริญได้ โดยอาศัยอาหารทั้งจากซากพืชอาศัยโดยตรงในขณะที่กำลังเข้าทำลายพืชอยู่ หรืออาสัยวัสดุอินทรีย์จำพวกเศษซากที่กำลังย่อยสลาย ตัวอย่างเช่นเชื้อราพิเที่ยม เชื้อราไรซอคทอเนีย และเชื้อราสเคลอโรเที่ยมเป็นต้น ส่วนเชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นเชื้อราที่ไม่ทำให้พืชเกิดโรค จึงไม่สามารถใช้อาหารจากพืชปรกติได้ แต่อาศัยอาหารจากอินทรีย์วัตถุ และเศษซากพืชในดินแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ดังนั้นเชื้อราไตรโคเดอร์มาจึงอาจมีผลกระทบต่อกิจกรรมของเชื้อราสาเหตุโรคพืชได้ในช่วงระยะที่เชื้อโรคอาสัยอาหารจากอินทรีย์วัตถุเป้นสำคัญ กิจกรรมที่สำคัญของเชื้อราสาเหตุโรคพืชประกอบด้วย การงอกของสปอร์ การเจริญเติบโตของเส้นใย โดยใช้อาหารจากเศษซากพืชและอินทรีย์วัตถุ การสร้างส่วนขยายพันธุ์ให้มีปริมาณมากและการแพ่หระจายของเชื้อเป็นต้น เชื้อราไตรโคเดอร์มาบางสายพันธุ์มีคุณสมบัติในการลดกิจกรรมของเชื้อราสาเหตุโรคพืชดังกล่าว โดยสามารถพันรัดเส้นใย แล้วปลดปล่อยเอนไซม์ออกมาหลายชนิด เช่นไคติเนส เซลลูเลส กลูคาเนส เพื่อสลายผนังเส้นใยของเชื้อโรคก่อนที่จะแทงส่วนของเส้นใยเข้าไปในเส้นใยของเชื้อโรค กิจกรรมด้านการเจริญของเส้นใยเชื้อโรคจะลดลงมาก ส่งผลให้กิจกรรมเกี่ยวกับการสืบพันธุ์และการขยายพันธุ์ของเชื้อโรคลดลงด้วย
นอกจากนี้ในกรณีที่เชื้อโรคกำลังเข้าทำลายรากพืชหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของพืช เช่นบริเวณรอยแผล รอยตัด (ในกรณีทีเราปลูกเฟิน ตอนเราผ่าแบ่งหน่อ ปาดพัพ ) เชื้อราไตรโคเดอร์มาจะทำหน้าที่ขัดขวางกิจกรรมการเข้าทำลายของเชื้อโรคบริเวณดังกล่าวได้ โดยการแข่งขันใช้อาหารและรบกวนการเจริญเติบโตของเชื้อโรคพืชทุกระยะเช่น การงอกของสปอร์ การรบกวนนี้จะส่งผลให้กิจกรรมต่างๆของเชื้อโรคลดลงในที่สุด

2. เชื้อราไตรโคเดอร์มาลดปริมาณเชื้อราสาเหตุโรคพืช

ปริมาณของเชื้อราสาเหตุโรคพืชมักมีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับกิจกรรมการเจริญเพื่อสร้างเส้นใยและสปอร์ทั้งในและบนส่วนหรือบริเวณของพืชที่ถูกเชื้อโรคเข้าทำลาย ดังนั้นเมือ่กิจกรรมการเจริญและพัฒนาของเส้นใยเพื่อเข้าทำลายพืชอาศัย ตลอดจนกิจกรรมเพื่อสืบพันธุ์หรือสร้างส่วนโครงสร้างเพื่อการขยายพันธุ์ของเชื้อโรคถูกขัดขวางหรือรบกวนโดยเชื้อราไตรโคเดอร์มาอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะทำให้ความรุนแรงของการเกิดโรคลดน้อยลงยังส่งผลให้ปริมาณเชื้อราสาเหตุโรคพืชลดลงจนอยู่ในระดับที่ไม่สามารถเข้าทำลายก่อให้เกิดความรุนแรงต่อพืชที่ปลูกได้

เชื้อราไตรโคเดอร์มา สามารถเข้าทำลายส่วนที่เป็นโครงสร้างของเชื้อสาเหตุโรคพืชที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการสืบพันธุ์หรือเพื่อการอยู่รอดภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ เช่น กรณีของเชื้อราไตรโคเดอร์มาที่เข้าทำลายเม็ดสเคลอโรเที่ยมของเชื้อราสเคลอโรเที่ยม รอส์ฟสิไอ(ราเม็ดผักกาด) ทำให้เม็ดสเคลอโรเที่ยมฝ่อตายก่อนที่จะมีโอกาศงอกเป็นเส้นใยเพื่อเข้าทำลายพืช แสดงให้เห็นว่าเชื้อราไตรโคเดอร์มามีบทบาทสำคัญในการเข้าทำลายเชื้อโรคพืชขณะที่อยู่ในระยะพักตัวได้ ส่งผลให้เชื้อโรคพืชลดลงอย่างต่อเนื่อง

**เชื้อราสเคลอโรเที่ยม เราจะพบบ่อยมากๆในบริเวณโคนต้นเฟิน หรือกล้วยไม้ มีลักษณะเป็นเม็ดกลมๆชัดเจนมาก กำจัดยาก และยาสารเคมีที่กำจัดก็เป็นยาเฉพาะและราคาแพงมากด้วยค่ะ เวลาลูกค้ามาปรึกษาเรื่องราตัวนี้ แล้วลูกค้าปลูกเฟินหรือกล้วยไม้แค่1-2ต้น จะมีปัญหาในการแนะนำยามาก เนื่องจาก ยาจะมีขนาดแพคใหญ่แล้ว ราคายังสูงอีกด้วย**

3. ไตรโคเดอร์มาเพิ่มการเจริญเติบโตของพืช
นอกจากเชื้อราไตรโคเดอร์มาจะช่วยป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อโรคพืชหลายชนิดแล้วยังพบว่าไตรโคเดอร์มาเพิ่มการเจริญเติบโตและการสร้างดอกของพืชอีกหลายชนิด แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดสำหรับกลไกนี้สำหรับกรณีการเพาะเมล้ดที่ปลูกในดินโดยโรยด้วยไตรโคเดอร์มา พบว่ามีอัตราการงอกที่เร็วกว่าปรกติ2-3วันและต้นกล้ามีขนาดโตกว่าปรกติ นอกจากนี้ยังพบเปอร์เซนต์การงอกและจำนวนต้นที่รอดตายเพิ่มมากขึ้นด้วย ในต่างประเทศเช่นสหรัฐอเมริกาและนิวซีแลนด์มีชีวภัณฑืไตรโคเดอร์มาที่มีคุณสมบัติดังกล่าวแล้วข้างต้นวางจำหน่ายเช่นโพรมอท promot ซึ่งประกอบด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มาหลายสปีชีส์

ต่อไปนี้เป็นเชื้อราสาเหตุโรคพืชที่เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถควบคุมได้

1. เชื้อราไฟทอปทอร่า Phytophthora spp. ที่เป็นสาเหตุของโรครากเน่าโคนเน่า

2. เชื้อราไรซอคทอเนีย Rhizoctonia solani ที่เป็นสาเหตุของโรคเน่าระดับคอดิน

3. เชื้อราพิเที่ยม Fusarium spp. เป็นสาเหตุของโรคเหี่ยว

4. เชื้อราสเคลอโรเที่ยม Sclerotium rolfsii เป็นสาเหตุของโรคโคนเน่าและโรคเหี่ยวของพืชหลายชนิด

วิธีการนำเชื้อสดไปใช้ค่ะ

1. แบบฉีดพ่น อย่างที่ทำให้ดูค่ะ ต้องกรองให้ดีค่ะ ไม่อย่างนั้นจะอุดตันหัวฉีด อัตราใช้ คือ 4-8 ถุงเชื้อสด ต่อน้ำ 200 ลิตร

2. แบบคลุกกับปุ๋ยหมัก ในอัตรา เชื้อ 2 ถุง ต่อปุ๋ยหมัก 1 กระสอบ 50 กก. รำละเอียด 10 กก. คลุกให้เข้ากัน แล้วเอาไปใส่ในโคนต้นไม้ที่เราต้องการ