หลักเบื้องต้นในการพัฒนาสูตรน้ำยาทำความสะอาด

เรียบเรียง จาก How to Formulate Industrial Detergent โดย David G. Urban

น้ำยาทำความสะอาด หรือ detergent มีคุณสมบัติหลัก คือ ขจัดคราบสกปรกออกจากพื้นผิว ด้วยการที่ มีความหลากหลาย ของชนิดคราบสกปรก และพื้นผิว จึงทำให้เรามีสูตรต่างๆ ของน้ำยาทำความสะอาดมากมาย

น้ำยาทำความสะอาดทั่วไป ที่ดี ต้องมีคุณสมบัติ 4 ประการ อย่างแรก คือ ต้องมีความสามารถในการทำให้คราบที่มีธรรมชาติเป็นกรดให้กลายเป็นกลาง ประการที่สอง ในการทำความสะอาด คราบน้ำมัน ไขมัน ออกจากพื้นผิวนั้นสามารถที่จะสลาย คราบให้เป็นโมเลกุลเล็กๆ และกระจายตัวในน้ำได้ ประการที่สาม ต้องสามารถ สลายพันธะ หรือ แตกตัว คราบบางชนิด เช่น เขม่าคาร์บอน ฝุ่นดำ ดินเหนียว ให้เป็นอนุภาคเล็กๆ และ ประการที่สี่ เมื่อ ทำสามประการแรกสำเร็จแล้ว มันต้องมีความสามารถในการ ป้องการการย้อนคืนของคราบกลับไปสู่พื้นผิว ในขณะล้างฟองออกด้วยน้ำ

น้ำยาทำความสะอาด โดยทั่วไป อาศัยองค์ประกอบสองส่วน ในการทำหน้าที่ นั้นคือ สารลดแรงตึงผิว (Surfactants) และ สารเสริมพลัง (Builders) สารลดแรงตึงผิวสามารถเป็นได้ ทั้ง ของเหลว หรือเป็นผง ส่วน สารเสริมพลัง  นั้น ส่วนมากเป็น สารประกอบอนินทรีย์  (Inorganic) โดยทั่วไป ในรูป ผงละเอียด เช่น พวก ฟอสเฟต ซิลิเกต คาร์บอเนต หรือ โอโธฟอสเฟต  การนำสองสิ่งนี้ ส่วนมาผสมกัน คือ ขั้นตอนพื้นฐานการทำน้ำยาทำความสะอาด

ในการทำสูตรใดๆ นั้น เราจะให้สัดส่วนความสำคัญของหลักทั้งสี่ เท่าใดนั้น ขึ้นกับวัตถุประสงค์ในการใช้งานของสูตรนั้นๆ อีกทั้งต้องดูถึง ชนิดของพื้นผิวที่เราจะทำความสะอาดด้วย เพื่อป้องกัน ความเสียหายที่จะเกิดกับพื้นผิวนั้น รวมทั้ง มี องค์ประกอบอื่น อีก สามประการ ที่มีผลต่อประสิทธิภาพ ของน้ำยาทำความสะอาด ซึ่งคือ การปั่น  เวลา และ ความร้อน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ เราแช่ผ้าไว้ ในน้ำผงซักฟอก ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ประสิทธิภาพ การทำความสะอาดจะได้ สมมุติว่าระดับหนึ่ง ถ้าเราแช่ผ้านานขึ้น ความสะอาดของผ้าจะดีขึ้น และถ้า เราปั่นผ้า และให้ความร้อน ไปด้วย ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นไปอีก  นั้นคือ การใช้ ทั้ง น้ำยา การปั่น เวลา และ ความร้อน จะให้ประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด ถ้าเราตัดอันใดอันหนึ่งไป ก็ต้องไปชดเชยในปัจจัยอื่นที่เหลือ

ตัวแปรเหล่านี้ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ ต่างๆ มากมาย ในปัจจุบัน เช่น น้ำยาล้างจานด้วยมือ น้ำยาล้างจานสำหรับเครื่อง แชมพูเด็ก แชมพูสัตว์เลี้ยง น้ำยาล้างน้ำมันเครื่องจักรกล แชมพูล้างรถ น้ำยาทำความสะอาดเอนกประสงค์ น้ำทำความสะอาดโลหะ น้ำยาทำความสะอาดมือ น้ำยาทำความสะอาดสูตรเข้มข้น และน้ำยาทำความสะอาดแบบพร้อมใช้  แต่ละตัวมีความต่าง แต่ก็มีจุดร่วมคือ บรรลุหลักการทำความสะอาดทั้งสี่ข้อ ในการทำความสะอาดคราบออกจากพื้นผิว

สารลดแรงตึงผิว (Surfactants)

เราอาจใช้น้ำ ในการทำความสะอาดคราบได้ แต่อาจได้ผลไม่ดีนัก เนื่องจากความสามารถของน้ำในขจัดคราบยังไม่ดีพอ การฉีดน้ำแรงๆ ล้างรถอาจทำความสะอาดคราบโคลน ยางมะตอยได้ น้ำฝนที่ต้องหนักๆ อาจทำความสะอาดหลังคาบ้านได้  อย่างไรก็ดี ความสามารถในการทำความสะอาดของน้ำ สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างมาก โดยการเติมสารลดแรงตึงผิวลงไปเพียงเล็กน้อย

คำว่า สารลดแรงตึงผิว มาจากภาษาอังกฤษ ว่า Surfactants ซึ่งย่อมาจากคำว่า Surface Active Agent  สารลดแรงตึงผิวมีมากมายหลายตัว แต่เราสามารถแบ่งสารลดแรงตึงผิว ออกเป็น สี่กลุ่ม คือ พวก ประจุลบ (anionic surfactant) พวกไร้ประจุ (non ionic surfactant) พวกประจุบวก (cat ionic surfactant) และพวกสองประจุ (amphoteric surfactant) สารลดแรงตึงผิวประจุลบมี ประจุลบ สารลดแรงตึงผิวประจุบวก มีประจุบวก สารลดแรงตึงผิวไร้ประจุ ไม่มี่ประจุ ส่วน สารลดแรงตึงผิวสองประจุ จะมีได้ทั้งประจุบวก หรือ ประจุลบ หรือทั้งบวกและลบพร้อมๆ กัน

สารลดแรงตึงผิว ทำหน้าที่ดังชื่อคือ สามารถลดแรงตึงผิวของของเหลวได้ เมื่อเราเติมสารลดแรงตึงผิวลงไปในน้ำ จะทำให้แรงตึงผิวของน้ำลดลง และทำให้สารละลายของสารลดแรงตึงผิวนี้ มีความสามารถที่จะแทรกซึมไปในคราบสกปรก และพื้นผิวได้ดีขึ้น  นอกจากนั้น สารลดแรงตึงผิวยังสามารถ ลดแรงตึงผิวของของเหลวสองชนิดที่แตกต่างกันได้ ตัวอย่างเช่น กรณี ของน้ำกับน้ำมัน โดยปกติ น้ำมันจะลอยบนผิวน้ำ แต่เมื่อเติมสารลดแรงตึงผิวลงไป จะทำให้แรงตึงผิวของผิวสัมผัสของน้ำกับน้ำมัน ลดลง ทำให้น้ำกับน้ำมัน “ผสมรวม” กันได้ และจะเกิดเป็น อีมันชั่น (emulsion) หรือ ของเหลวเนื้อเดียวขาวขุ่น

เราลองมาดูรายละเอียดของสารลดแรงตึงผิว สักตัว คือ อีทอกซีเลต โนนิ่วพีนอล (ethoxylated nonylphenols) สารตัวนี้ เป็นสารหลักที่ใช้กันมากใน น้ำยาทำความสะอาดในวงการอุตสาหกรรม สารตัวนี้ไม่มีประจุ ประกอบด้วยสองส่วนคือ ส่วนที่ละลายได้ในน้ำมัน เป็นพวกไฮโดรคาร์บอน และ ส่วนที่ ละลายได้ในน้ำ ซึ่งเป็น อีทอกซีเลตกรุ๊ป หรือ เราเรียกสั้นๆ ว่า อีโอกรุ๊ป ยิ่งมี อีโอกรุ๊ปมากเท่าไร สารลดแรงตึงผิวนั้น  ก็จะละลายน้ำได้ดีขึ้นเท่านั้น

อีทอกซีเลต โนนิ่วพีนอล ที่มี อีโอกรุ๊ป 4 ตัว (4EO) จะละลายใน น้ำมันก๊าด แต่ไม่ละลายน้ำ ถ้ามันมี อีโอกรุ๊ปเพิ่มเป็น 13 ตัว จะละลายได้ในน้ำ แต่ไม่ละลายในน้ำาม้นก๊าด  อัตราส่วนโดยโมล ของ ส่วนที่ละลายน้ำ (อีโอกรุ๊ป) กับ ส่วนที่ละลายในน้ำมัน (ไฮโดรคาร์บอน) เราเรียกว่า Hydrophile/ Lipophile balance หรือ HLB  HLB มึค่าตั้งแต่ 1-20 ยิ่งค่า HLB มาก การละลายน้ำของสารลดแรงตึงผิวนั้นจะดีขึ้น

บริษัทเคมีชั้นนำ อย่าง Dow Chemical ผลิต สารลดแรงตึงผิวกลุ่ม โนนิ่วฟีนอล (Nonylphenol Ethoxylated) ภายใต้ชื่อทางการค้าว่า TERGITOL NP โดยมีตัวเลขตามหลัง NP หมายถึง จำนวน อีโอกรุ๊ป ต่อไปนี้ตือตัวอย่าง บางตัว

TERGITOL NP-4 เป็นสารลดแรงตึงผิวที่เป็นของเหลว ละลายได้ในน้ำมัน ทำให้เกิด  water in oil อีมันชั่น HLB 8.9

TERGITOL NP-6  เป็นสารลดแรงตึงผิวที่เป็นของเหลว ละลายได้ในน้ำมันจะสร้าง water in oil อีมันชั่น HLB 10.9

TERGITOL NP-7 เป็นของเหลว ละลายได้ดีในน้ำมัน ละลายได้เล็กน้อยในน้ำ HLB 11.7

TERGITOL NP-9 เป็นของเหลว ละลายได้ดีในน้ำ ละลายได้เล็กน้อยในน้ำมัน HLB 12.9

TERGITOL NP-13 เป็นของเหลวละลายน้ำได้ ไม่ละลายในน้ำมัน ทำให้เกิด oil in water อีมันชั่น HLB 14.4

อาจกล่าวเป็นหลักคร่าวๆ ได้ ในการใช้ค่า HLB ในการกำหนด การนำไปใช้งานของ สารลดแรงตึงผิว โดยที่ สารลดแรงตึงผิว ที่มีค่า HLB ระหว่าง 4-6 นำไปใช้สำหรับละลายน้ำในตัวทำละลายอินทรีย์ (water in oil, w/o emulsion) ส่วนที่มีค่า HLB ระหว่าง 7-9 จะใช้เป็น wetting agent ส่วนกลุ่มที่มี HLB ระหว่าง 8-18 ดีสำหรับละลายน้ำมัน ในน้ำ (oil in water, o/w emulsion) หรือว่า จาก 13-15 เหมาะสำหรับใช้ทำสูตร น้ำยาทำความสะอาดทั่วไป (all purpose cleaner) 10-18 เหมาะสำหรับการทำละลายสารอื่น ๆในสูตร

เราอาจจะผสมสารที่มี ค่า HLB ต่างๆ กันลงไปในสูตร เพื่อทำให้เป็นสิทธิภาพการทำความสะอาดดีขึ้น ตัวอย่างเช่น สูตรน้ำยาทำความสะอาดง่ายๆ สูตรหนึ่งประกอบด้วย NP-9 สิบส่วน กับน้ำ เก้าสิบส่วน นั้น อาจปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วยการเพิ่ม NP-6 อีกสองส่วน โดยทั่วไป NP-6 ไม่ละลายน้ำ แต่ NP-9 ทำหน้าที่ช่วยการละลาย NP-6 จะทำให้ประสิทธิภาพในการขจัดคราบน้ำมัน และไขมัน ของสูตรดีขึ้น

ในทางกลับกัน สารลดแรงตึงผิวประจุลบ เป็นสารประเภทที่ให้ฟองมาก ใช้กันมากในสูตร ทำแชมพูสระผม แชมพูล้างรถ น้ำยาล้างจาน  หนึ่งในตัวที่ใช้กันอย่างมากคือ โซเดียมลอรีลซันเฟต (Sodium Laurylsulfate, SLS) เนื่องจาก สารลดแรงตึงผิวชนิดนี้ มีประจุลบ มันจะถูกทำให้ ด้อยประสิทธิภาพโดย อิออนบวกที่มาจากน้ำกระด้าง ดังนั้น การทำสูตรที่ใช้ สารลดแรงตึงผิวประจุลบ ควรมี ตัวจับประจุบวก (chelating agent) ที่มากับน้ำ สารลดแรงตึงผิวประจุลบอื่นๆ ก็มี อัลกอฮอลซันเฟต (Alcohol Sulfate) อัลกอฮอลอีเทอร์ซันเฟต (Alcohol Ether Sulfate) สบู่ หรือ พวก เบนซีนซันโฟเนต (Benzend Sulfonate)

สารลดแรงตึงผิวประจุบวก ส่วนมากจะใช้ในสูตร ผลิตภัณฑ์ ขจัดไฟฟ้าสถิต (anti static product) เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม ครีมนวดผม หรือในน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เนื่องจากการที่มันมีประจุบวก สารลดแรงตึงผิวประเภทนี้จะไม่เข้ากันกับ สารลดแรงตึงผิวประจุลบ ตัวอย่างพวกประจุบวกเช่น กลุ่ม ควอเตอร์นารี่แอมโมเนียมคอมปาว (Quaternary Ammonium Compound) หรือ เรียกสั้นๆ ว่า ควอด (Quad)

ส่วนสารลดแรงตึงผิวสองประจุ เป็นกลุ่มค่อนข้างพิเศษ ตรงที่ ประจุของมันขึ้นกับค่า pH ของสารละลายที่มันอยู่ โดยมันจะมีประจุลบ เมื่อ pH เป็นด่าง จะไร้ประจุเ เมื่อ pH เป็นกลาง และมีประจุบวกเมื่อมี pH เป็นกรด  เนื่องจากมีความอ่อนโยนต่อผิว และให้ฟองมาก เราจึงใช้สารกลุ่มนี้ใน การทำผลิตภัณฑ์ ที่ใช้กับคน (personal care product) เช่น แชมพู สบู่เหลว  และเรายังใช้แทนสารลดแรงตึงผิวประจุลบ ในสูตรที่มี สารลดแรงตึงผิวประจุบวกอยู่ ตัวอย่างสารกลุ่มนี้ เช่น Cocamidopropyl betaine (CAPB), lauroamphopropylsulfonate และ Cocoamphophopropylsulfonate

เมื่อเราเลือกใช้สารลดแรงตึงผิวในการทำสูตรใดๆ เราควรทราบ สิ่งต่อไปนี้

Foam (การเกิดฟอง)  กลุ่มสองประจุ และ ประจุลบ จะให้ฟองดีที่สุด บางตัวของพวกประจุบวกก็ให้ฟองดี แต่ส่วนมาก พวกประจุบวกให้ฟองปานกลาง ส่วนกลุ่มไร้ประจุนั้น ให้ฟองน้อย ถึงปานกลาง

Wetting (การเข้าถึงพื้นผิว) พวกประจุลบเป็น wetting agent ที่ดี ตามด้วยกลุ่มไร้ประจุ  ส่วนพวกสองประจุทำให้ปานกลาง ในขณะที่พวกประจุบวกทำหน้าที่นี้ไม่ดีนัก

Emulsificaiton (การรวมเป็นเนื้อเดียวกับน้ำมัน) กลุ่มไร้ประจุทำหน้าที่นี้ได้ดีที่สุด ตามด้วยกลุ่มประจุลบ และ สองประจุ ส่วนกลุ่มสองประจุไม่ดี

Detergency (ความสามารถในการทำความสะอาด ขจัดคราบ) ทั้ง กลุ่มไร้ประจุ ประจุลบ และ สองประจุ ทำหน้าที่นี้ได้ดีพอๆ กัน ในขณะที่ประจุบวกไม่ดี

Skin and Eyes Irritation (การระคายเคืองผิวหนัง และตา) สารลดแรงตึงผิวกลุ่มสองประจุ ถูกจัดให้เป็นกลุ่มที่อ่อนโยนมากที่สุด ต่อผิวแลตา ส่วนพวก ประจุลบ และไร้ประจุ มีความระคายต่อผิว และตาเล็กน้อยถึงปานกลาง ในขณะที่ กลุ่มประจุบวกมีความรุนแรงต่อผิวและ ตา

Compatibility with other sufactants (การเข้ากันได้กับ สารลดแรงตึงผิวอื่น)  สารลดแรงตึงผิว ประจุลบ สองประจุ และ ไร้ประจุ รวมกันได้ไม่มีปัญหา ส่วน กลุ่มประจุลบกับประจุบวก อยู่รวมกันในสูตรไม่ได้  และ กลุ่มไร้ประจุ สองประจุ เข้ากันได้กับ กลุ่มประจุบวก

โดยทั่วไป เรานิยมใช้สารลดแรงตึงผิวกลุ่มไร้ประจุ ในการทำน้ำยาทำความสะอาดระดับอุตสาหกรรม (Industrial detergents) ส่วน กลุ่ม ประจุลบ สองประจุ และประจุบวก จะใช้ในผลิตภัณฑ์ สำหรับบุคคล อย่างไรก็ดี อาจมีการเปลี่ยนไปมาได้ ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ที่จะทำ

สารเสริมพลัง (Builders)

สารเสริมพลัง หรือ builder คือสารที่เราใส่เข้าไปในสูตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ของสารลดแรงตึงผิวและน้ำ  มันทำอย่างนั้นได้ด้วยขบวนการ ต่อไปนี้

ประการแรก builder ทำหน้าที่ ทำให้น้ำอ่อนลงหรือมีความกระด้างน้อยลง โดยการไปจับ อิออน บวกพวกแคลเซียม (Ca2+) หรือ แมกนีเซียม (Mg2+) ในน้ำกระด้าง ไม่ให้ไปรบกวนการทำงานของสารลดแรงตึงผิว โดยเฉพาะสารลดแรงตึงผิวประจุลบ โดย builder นี้ จะมีโมเลกุลประจุลบ ไปล้อมรอบอิออนบวกไว้ ไม่ให้ทำงาน  หรือบางประเภทจะไปจับกับอิออนบวก แล้วทำให้เกิด เกลือแล้วตกตะกอนลงมา อย่างไรก็ดี builder ที่ทำให้เกิดการตกตะกอนจะมีผลทำให้เกิดคราบขาวตกค้างบนพื้นผิว จึงไม่เป็นที่นิยมนัก โดยมากจะนิยมใช้ประเภทที่ไปล้อมรอบอิออนบวกมากกว่า สารกลุ่มนี้เราเรียกว่า ซีเควสเทอริ่ง เอเจ้น (sequestering agent)

ประการที่สอง builder มีส่วนในการรักษาความเป็นด่างให้กับสารละลายในระหว่างการทำความสะอาด การทำงานของสารลดแรงตึงจะเกิดได้ดีในช่วง pH ที่เป็นด่าง เป็นที่ทราบกันว่า คราบสกปรกจะมีความเป็นกรดและทำให้สารทำความสะอาดมี ค่า pH ต่ำลงมา การมี builder นั้น มันจะไปรักษา pH อยู่ในช่วงเป็นด่างอยู่ โดยตัวมันจะไปทำให้คราบสกปรกมีความเป็นกลาง

ประการที่สาม builder จะไปทำให้ขนาดของคราบสกปรกแตกออกเป็นส่วนย่อยๆ และกระจายตัวอยู่ในน้ำทำความสะอาด

ประการที่สี่ builder มีส่วนป้องกันการย้อนคืนกลับของคราบสู่พื้นผิวโดยการเพิ่มความเป็นประจุลบให้กับอนุภาคของคราบ ทำให้อนุภาคเหล่านั้น ผลักซึ่งกันและกัน และไม่สามารถรวมกันเป็นอนุภาคที่ใหญ่ขึ้นได้ และไม่สามารถไปจับติดกับพื้นผิวที่เพิ้งทำความสะอาดใหม่ๆ

ประการที่ห้า builder ทำให้อนุภาคของคราบ แขวนลอยอยู่ในสารละลาย และทำให้ง่ายต่อการล้างออกจากพื้นผิว

ต่อไปนี้เป็น builder ที่เราใช้ๆ กันในสูตร

Sodium Trypolyphosphate (STPP)

เรียกกันสั้นๆ ว่า เอสทีพีพี ตัวนี้เป็นบิวเด้อร์ที่ใช้กันมากที่สุดตัวหนึ่ง โดยเฉพาะการทำสูตรผงทำความสะอาด หรือผงซักฟอก เอสทีพีพี ทำหน้าที่เป็น สารทำให้น้ำอ่อนลงโดยไปล้อมรอบ แคลเซียม หรือแมกนีเซียมอิออน และอีกประการหนึ่ง เอสทีพีพี ไปทำให้อนุภาคของคราบแตกออกเป็นส่วนย่อยๆ และแขวนลอยอยู่ในน้ำ ในบางสูตร จะมีการผสมรวมกับ โซเดียมเมต้าซิลิเกต (Sodium metasilicate) ทั้งสองตัวนี้ทำงานเสริมกันอย่างยอดเยี่ยม มากกว่า การใช้ตัวใดตัวหนึ่งในสูตรเพียงอย่างเดียว

เอสทีพีพีไม่สามารถละลายคราบไขมันได้เอง แต่การทำงานร่วมกันระหว่าง NaLAS (Sodium Linearalkyl benzene sulfonate) กับ เอสทีพีพี เพิ่มประสิทธิผลอย่างมากในการละลายคราบไขมัน

ความสามารถในการละลายน้ำ ของ เอสทีพีพี สูงสุด อยู่ที่ 14 กรัม ต่อน้ำ 100 กรัม สารละลาย เอสทีพีพี 1 % ในน้ำมีค่า pH 9.6

Potassium Trypolyphosphate (KTPP)

เป็นบิวเด้อร์อีกตัวหนึ่งที่ใช้กันทั่วไป แม้ว่าราคาจะแพงกว่า เอสทีพีพี แต่ เคทีพีพี ก็มีความยอดเยี่ยมในการปรับสภาพน้ำกระด้าง มันยังมีความสามารถที่ดีในการสลายอนุภาคคราบและแขวนลอยคราบ นอกจากนั้น เคทีพีพี ละลายน้ำได้ดีกว่า เอสทีพีพี ความสามารถในการละลายน้ำมากกว่า 60 % สารละลาย 1 % ของเคทีพีพี ให้ค่า pH เท่ากับ 9.6

Tetrasodium Pyrophosphate (TSPP)

ขณะที่ โพลีฟอสเฟต มีฟอสฟอรัส 3 อะตอม ไพโรฟอสเฟตมีเพียง 2 อะตอม ค่าพีเฮสของเทตระโซเดียมไพโรฟอสเฟต (TSPP) จะมีค่าสูงกว่า STPP อยู่เล็กน้อย คือ 10.2 โดยมีค่าการละลายน้ำอยู่ที่ 8 กรัมต่อน้ำ 100 กรัม  TSPP เป็นชีเควสเทอริ่งเอเจ้น ดีกว่า STPP

Tetrapotassium Pyrophophate (TKPP)

เนื่องจากความสามารถในการละลายน้ำสูง (มากกว่า 60 %) TKPP นิยมใช้ในสูตรที่เป็นน้ำ  ค่า พีเฮส เท่ากับ 10.2

Trisodium Phosphate (TSP)

TSP ทำให้น้ำอ่อนลงโดยใช้การจับตัวให้ตกตะกอน มีค่าพีเฮสเท่ากับ 11.4 และมีค่าการละลายน้ำ 14 กรัมต่อน้ำ 100 กรัม

Disodium Phosphate (DSP)

DSP เป็นเกลือของ กรดฟอสฟอริก มีพีเฮสต่ำกว่า TSP คือ 9.2 มันทำให้น้ำอ่อน โดยหลักการตกตะกอนเหมือนกัน การละลายน้ำ ตือ 14 กรัมต่อน้ำ 100 กรัม

Monosodium Phosphate (MSP)

เป็นเกลือของกรดฟอสฟอริก เช่นกัน ซึ่งมีค่า pH ต่ำสุดคือ 4.6 และทำงานใช้การตกตะกอนอิออนบวก เช่นเดียวกัน ความสามารถในการละลายน้ำ 87 กรัม ต่อน้ำ 100 กรัม ทั้งนี้ Tri, Di และ Mono phosphate ยังมีในรูปเกลือโปแตสเซียม (K) ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะมีความสามารถใกล้เคียงกัน แต่การละลายน้ำดีกว่า

Sodium Carbonate

โซเดี่ยมคาร์บอเนต หรือ โซดาแอชเป็นบิวเดอร์ ที่ใช้กันมากๆ ตัวหนึ่งในวงการทำน้ำยาทำความสะอาด เนื่องจากมีราคาค่อนข้างถูก มี่ความเป็นด่างสูง และทำให้น้ำอ่อนลงโดยการตกตะกอน อย่างไรก็ดี โซดาแอชนิยมใช้ร่วมกันกับ เอสทีพีพี ในการป้องกันการเกิด คราบหินปูนตามพื้นผิว  โซเดี่ยมคาร์บอเนต มี pH 11.4 และมีค่าการละลายน้ำ 7 %

Sodium Bicarbonate

โซเดี่ยมไบคาร์บอเนต เป็นรูปด่างอย่างอ่อนของ โซเดี่ยมคาร์บอเนต มันมีค่า pH เท่ากับ 8.4 มีค่าการละลายน้ำเท่ากับ 10 % ทำให้น้ำอ่อนโดยการตกตะกอน โซเดี่ยมไบคาร์บอเนต ใช้กันมากในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดโลหะ เช่นน้ำยาทำความสะอาด อลูมิเนียม เครื่องโลหะพรรณ

Sodium Sesquicarbonate

โดยการรวม โซเเดี่ยมคาร์บอเนต และโซเดี่ยมไบคาร์บอเนต เราจะได้ โซเดี่ยม เซสคิวคาร์บอเนต สารตัวนี้ทำให้น้ำอ่อนลงโดยการตกตะกอนเช่นกัน โดยมึค่า pH เท่ากับ 9.8 และการละลายน้ำที่ 15 %

Sodium Metasilicate

โซเดี่ยมเมต้าซิลิเกต เป็นสารในกลุ่ม โซเดี่ยมซิลิเกต ซึ่งเป็นสารประกอบของ ซิลิกอนไดออกไซด์ (ซิลิก้า) และ โซเดี่ยมออกไซด์ (ด่าง)  อัตราส่วนของซิลิกา และด่างเป็นตัวกับหนดความเป็นด่างมากหรือน้อย โซเดียมซิลิเกต มีทั้งแบบน้ำ หรือผงแป้ง แม้ว่ามันจะทำหน้าที่ในด้านทำให้น้ำอ่อนไม่เด่นนัก แต่ว่า มันให้ความเป็นด่าง และยังปกป้องโลหะเนื้ออ่อน อย่างเช่น อลูมิเนียม ทองแดง สังกะสี ดีบุก จากการถูกกัดกร่อนจากด่างในน้ายาทำความสะอาด ซิลิเกตยังช่วยป้องกันการย้อนคืนกลับของคราบสู่พื้นผิว  โซเดี่ยมเมต้าซิลิเกต นิยมใช้ในสูตรผงซักฟอก

Sodium Metasilicate Petahydrate

เป็นรูปของ โซเดียมซิลิเกต ที่มีน้ำอยู่ในโมเลกุล โซเดียมเมต้าซิลิเกตเพนตะไฮเดต ให้ความเป็นด่าง และป้องกันการกัดกร่อน ความแตกต่างคือมันมีน้ำอยู่ 41 % ในเพนตะไฮเดต ซึ่งทำให้มันละลายน้ำได้ดีขึ้น โดยละลายน้ำได้ถึง 36 % ทำให้มันเหมาะสมในการทำสูตรน้ำยาแบบน้ำ อีกทั้งยังเหมาะในการทำสูตรผงทำความสะอาดที่ต้องการให้ละลายน้ำได้เร็ว

Sodium Ethlenediamine Tetraacetate

รู้จักในชื่อ อีดีทีเอ EDTA  อยู่ในกลุ่ม อะมิโนคารบ้อกซิเลต (aminocarboxylate) มีคุณสมบัติเด่น ในการเป็นซิเวสเทอริ่ง เอเจ้น ที่ดีมากๆ และมีความสามารถการละลายน้ำสูง (มากกว่า 60 เปอร์เซน) อีดีทีเอ ป้องกันการเกิดคราบหินปูนได้ดี และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการล้างน้ำออก (rinsability)  ค่า pH อยู่ที่ 13

Hydroxyethylidene Diphosphonic acid (HEDP)

ด้วยความสามารถสูงในการปรับสภาพน้ำ เอชอีดีพี นิยมใช้กันมากในสูตรที่ ไม่ใช้ ฟอสเฟต เอชอีดีพีสามารถป้องกันการก่อ ตัวของคราบหินปูนแม้ในภาวะอุณหภูมิต่ำ มันมีค่าpH เท่ากับ 9 และมีค่าการละลายน้ำ 20 %

Sodium Hydroxide

มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า คอสติกโซดา (Caustic soda) หรือ โซดาไฟ ใช้ในการทำสูตรน้ำยาทำความสะอาดที่ต้องการความเป็นด่างสูงๆ เหมาะสำหรับการขจัดคราบที่มีความเป็นกรดมาก เช่นคราบไขมัน น้ำมัน คราบไหม้ฝังแน่น โซดาไฟไม่มีคุณสมบัติในการปรับสภาพน้ำให้อ่อนลง หรือการทำให้คราบแขวนลอย มี pH 13.1 และ มีการละลายน้ำที่ 60 %

Potassium Hydroxide

มีชื่อเรียกโดยทั่วไปว่า คอสติ โปแตช (caustivc potash) หรือ โซดาโปแตช ส่วนมากจะใช้ในการทำน้ำยาทำความสะอาดแบบน้ำ มันใช้สำหรับให้ความเป็นด่างในสูตร แต่ก็เช่นเดียวกับโซดาไฟ คือไม่มีคุณสมบัติทำให้น้ำอ่อน หรือ การจายตัวคราบ การละลายน้ำดีกว่าโซดาไฟ คือที่ 75 % ในขณะที่มีค่า pH 13

Sodium Hexametaphosphate

มีประสิทธิภาพดีมากๆ สำหรับการปรับสภาพน้ำให้อ่อน มีค่า pH 8 และการละลายน้ำ เท่ากับ 5 เปอร์เซน

Sodium Sulfate

โซเดี่ยมซันเฟต เป็นสารเติมเต็ม (filler) ราคาถูกในการทำสูตรผงซักฟอกทั่วไป ปรับสภาพน้ำให้อ่อนลงโดยการตกตะกอนแคลเซียม มีค่า pH 9 และการละลายน้ำอยู่ที่  7 %

โดยทั่วไป บิวเดอร์ หรือสารเสริมพลัง จะผลิตออกมาในลักษณะผงแป้ง มีทั้งผงแบบละเอียด ผงแบบหยาบ หรือเป็นเม็ดๆ แต่ละรูปแบบก็จะมีความหน่าแน่น (density) แต่ต่างกันไป เช่น เอสทีพีพีแบบ ความหนาแน่นต่ำ (low density) หรือ แบบ ความหนาแน่นสูง (high density)

เราจะใช้เกรดที่ต่าง กันของ เอสทีพีพีในการทำสูตรที่ต่างกัน เช่น เช่นในการทำน้ำยาแบบน้ำ จะใช้เอสทีพีพี แบบเกรดหนาแน่นต่ำ เนื่องจากละลายน้ำได้รวดเร็วกว่า ในขณะที่แบบหนาแน่นสูงจะใช้ในการทำผงซักฟอก

บางครั้งสารเสริมพลัง ก็มีทั้งในเกรดที่เป็นน้ำ และ เป็นผง อีดีทีเอ มีในรูปของ สารละลาย 60 % เช่นกันกับ TKPP ส่วน โซดาไฟ มีทั้งแบบ 50 % 30 % และ 18 % โซเดียมซิลิเกต ก็มีในรูปน้ำเหมือนกัน

กรด (Acid)

กรดเป็นสารประกอบที่ มีค่า pH น้อยกว่า 7 มันจะทำปฏิกริยากับโลหะ และเมื่อละลายน้ำจะให้ไฮโดรเจนอิออน (H+) ออกมา แตเมื่อมันทำปฏิกิริยากับด่างจะให้เกลือ กับ น้ำ กรดมีตั้งแต่กรดอ่อน เช่น กรด ซิตริก (citric acid) ไปจนถึงกรดแก่มากๆ เช่น กรดไฮโดรคลอริก (Hydrochloric acid)

เราใช้กรดในน้ำยาทำความสะอาดโลหะ เพื่อทำให้ขึ้นเงา และ กัดผิว ใช้น้ำยาทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์ เพื่อขจัดคราบหินปูน คราบเหลืองที่เกิดจากน้ำกระด้าง ใช้ในน้ำยาล้างท่อ เพื่อกำจัดเศษเส้นผม หรือ สิ่งอุดตันอื่นๆ  กรดที่ใช้กันมากที่สุดในน้ำยาทำความสะอาดโลหะ คือ กรดฟอสฟอริก และ กรดซิตริก ในขณะที่ กรดซันฟุริก และกรดไฮโดรคลอริก ใช้มากใน น้ำยาทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์ และน้ำยาลอกท่อ กรดยังใช้ในสูตร เพื่อปรับค่า pH

การทำงานกับกรดต้องให้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก กรดจะกัดกร่อนผิวหนัง ดวงตา และเนื่อเยื่อ การกัดกร่อนอาจจะไม่เกิด ให้เห็นทันทีทันใด กรดบางชนิดกัดกร่อนผิวหนัง โดยการค่อยๆ ซึมเเข้าไปจถึงกระดูก แล้วค่อยๆ กรดกัดเนื่อเยื่อจากข้างใน กรดส่วนมากจะให้ความร้อนเมื่อรวมกับน้ำ (exothermic) พึงระวังไว้เสมอ ว่าต้องเติมกรดลงไปใน้ำ อย่า เติมน้ำลงไปในกรดเด็ดขาด ถ้าเราเติมน้ำลงไปในกรดไฮโดรคลอริก จะทำให้เกิดความร้อนขึ้น และทำให้ส่วนผสมกรดกระเด็นขึ้นมา และอาจจะโดนตาเราได้ ค่อยๆ เติมกรดลงในน้ำ ทำให้ความร้อนที่เกิดขึ้นกระจายตัวและลดความรุนแรง อย่าเก็บกรดไว้ในภาชนะที่เป็นโลหะ กรดจะทำปฏิกิริยากับโลหะทำให้เกิดกาซไฮโดรเจนที่อาจระเบิดได้

 ด่าง (Bases)

ด่างให้ pH มากกว่า 7 เมื่อรวมกับน้ำจะให้ ไฮดอกซิล อิออน (OH) เมื่อรวมกับกรดจะให้เกลือและน้ำ ด่างที่รู้จักกันดี คือโซดาไฟ (sodium hydroxide) โซดาโปแตช (potassium hydroxide) แอมโมเนีย หรือ ไตรเอทานอลามีน (Triethanolamine) เราใช้ด่างกันในสูตรเพื่อรักษาระดับ pH (buffer) โดยธรรมชาติ คราบสกปรกมักมีฤทธิ์เป็นกรด เราจึงใช้ด่างรักษาระดับ pH ให้เป็นด่าง สม่ำเสมอ เพื่อให้สารลดแรงตึงผิวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทีสุด ด่างยังใช้ในการทำให้สารลดรงตึงผิวที่เป็นกรด เปลี่ยนเป็นกลาง และยังใช้เป็น ด่างบางตัวมีประโยชน์หลากหลาย เช่น ไตรเอทานอลามีนเป็น ได้ ทั้งรักษาระดับความเป็นด่าง (buffer) ตัวทำให้เป็นกลาง (neutralizer) และมันยังเป็นตัวป้องกันการถูกกัดกร่อนได้อีก

โซดาไฟเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรง การทำงานกับโซดาไฟต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก  มันจะให้ความร้อนออกมาเมื่อมันรวมตัวกับน้ำ เราจำเป็นต้องค่อยๆ ใส่โชดาไฟลงในน้ำ เช่นเดียวกับกรด เราต้องใส่โซดาไฟลงในน้ำ ไม่ใช่น้ำลงในโซดาไฟ น้ำยาที่มีโซดาไฟเป็นส่วนผสมนั้น จะกัดกร่อนโลหะเนื้ออ่อน (non ferrous metal) เช่น ทองเหลือง โครเมียม หรือ อลูมิเนียม  ดังนั้นในสูตรเราจะเสริมโซเดี่ยมเมต้าซิลิเกตลงไป เพื่อลดความรุนแรงจากการถูกกัดกร่อน อย่างไรก็ดี ถ้าสูตรทำเพื่อใช้กับโลหะเนื้ออ่อนโดยเฉพาะ ควรเลี่ยงการใช้โซดาไฟดีที่สุด

ตัวทำละลาย (Solvents)

นอกจากสารลดแรงตึงผิว และ สารเสริมพลังแล้ว องค์ประกอบในสูตรน้ำยาทำความสะอาดที่มักจะมีร่วมด้วยคือ ตัวทำละลาย หรือ โซลเว้น (Solvent) โดยภาพรวมแล้ว กลุ่มโซลเว้นที่นิยมใช้กันมากที่สุด คือพวก ไกลค้อลอีเท้อร์ (glycol ethers) ไกลค้อลอีเท้อร์ เป็นของเหลวใสไม่มีสี มีกลิ่นสารเคมีอ่อนๆ และมีอัตราการระเหย ไล่ไปตั้งแต่ต่ำถึงปานกลาง โดยทั่วไปมันละลายได้ทั้งในน้ำ และน้ำมัน  เราใช้โซลเว้นในสูตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการละลายคราบน้ำมัน น้ำมันเครื่อง จาระบี ยางมะตอย ไกลค้อลอีเท้อร์สลายตัวได้ในธรรมชาติ (biodegradable)

ไกลค้อลอีเทอร์ ผลิตมาจาก เอทิลีนออกไซด์ (ethylene oxide) หรือ ไม่ก็ โพพิลลีนออกไซด์  (propylene oxide) กลุ่มที่มาจากโพพิลลีนออกไซด์ หรือ ซีรีย์ P ได้รับความนิยมมากกว่า กลุ่มที่มาจาก เอทิลลีนออกไซด์ หรือ ซีรีย์ E เนื่องจากปัจจัยเรื่องความปลอดภัยต่อสุขภาพ  แม้ว่า กลุ่ม E ถูกใช้กันมาต่อเนื่องหลายปี แต่เร็วๆนี้ มีการพูดถึงความเสี่ยงของมันในการทำให้ เกิดความผิดปกติต่อไข่อ่อน หรือ เซลสิบพันธ์ จึงมีการใช้ ซีรีย์ P แทน ซีรีย์  E เนื่องจากพบว่า กลุ่มโซลเว้น ซีรีย์ P ไม่มีหลักฐาน หรือข้อมูลที่แสดงว่ามันทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความผิดปกติดังกล่าว และยังให้ผลประสิทธิภาพการทำความสะอาดที่ใกล้เคียง หรือดีกว่ากลุ่มซีรีย์ E อีกด้วย กลุ่มโซลเว้นซีรีย์ P ที่นิยมใช้กันในสูตรก็เช่น propylene glycol t-butyl ether โดยมีชื่อทางการค้าว่า ACROSOLVE PTBTM โซลเว้นชนิดนี้ เมื่อเติมไปในสูตรน้ำยาทำความสะอาด มันจะเพิ่มประสิทธิภาพในการสลายคราบน้ำมัน ไขมัน จารบี หรือพวกยางมะตอย อีกตัวในกลุ่ม P ที่นิยมใช้กันคือ BUTYL PROPASOLTMหรือ propylene glycol monobutyl ether และ DPMTM หรือ Dipropylene glycol methyl ether โซลเว้นเหล่านี้ถูกใช้กันมากในน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ

นอกจากนี้ โซลเว้นกลุ่มอื่นๆ ก็มีใช้กัน เช่น mineral spirits, kerosene, aromatic hydrocarbon, แอลกอฮอล์, methylene chloride, perchloroethylene และ พวก naphtha อย่างไรก็ดี โซลเว้นเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อพิษ ที่ทำอันตรายต่อร่างกาย ดังนั้นในปัจจุบันสูตรใหม่ๆ มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงที่จะใช้สารเหล่านี้ และหันมาใช้กลุ่มที่ไม่เป็นพิษ และปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม หนึ่งในโซลเว้นที่จัดอยู่ในประเภทนี้ได้แก่ D’ Limonene ซึ่งเป็นสารที่สกัดจากน้ำมันจากเปลือกหรือผิวผลไม้ประเภทส้ม (คนละตัวกับ citric acid นะครับ)  มันมีคุณสมบัติการทำละลายสูง ใช้กันมากใน น้ำยาขจัดคราบน้ำมัน (degreaser) น้ำยาดับกลิ่น สบู่เหลวล้างมือ และน้ำยาทำความสะอาดเอนกประสงค์ D’Limonene  ไม่เป็นพิษ สลายตัวได้ตามธรรมชาติ และให้กลิ่นสดชื่นคล้ายกลิ่นผิวส้ม

Alkanolamide

อัลคานอลาไมด์ เกิดจากการทำปฎิกิริยาระหว่าง แฟตตี้ เอซิด (fatty acid) ซึ่งผลิตมาจาก น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม กับ อัลคานอลามีน เช่น ไดเอทนอลามีน ไตรเอทานอลามีน หรือ โมโนเอทานอลามีน อัตราส่วนที่ใช้โดยมาก เป็น เอมีนสองส่วนต่อแฟตตี้เอซิดหนึ่งส่วน ประโยชน์ในสูตรของ อัลคานอลาไมด์ เช่น การเพิ่มฟอง การทำให้ฟองคงตัว ทำให้น้ำยาข้นขึ้น การป้องกันการกัดกร่อน การป้องการเกิดสนิม และ เป็นมอยเจอร์ไรเซอร์ ในผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล นอกจากนั้นมันยังมีราคาค่อนข้างถูก อีกทั้งสามารถ สลายตัวได้ตามธรรมชาติ (biodegradable)

อัลคานอลาไมด์ ใช้ประมาณ 1-5 % ในสูตรร่วมกับ สารลดแรงตึงผิวตัวอื่น บางสูตรอาจใช้ อัลคานอลาไมด์ โดดๆ เป็นสารลดแรงตึงผิวหลักก็ได้

Hydrotropes

ไฮโดรโทรบ ใช้ในสูตรเพื่อทำให้น้ำยาใส บางครั้งในสูตรที่มีสารลดแรงตึงผิวไร้ประจุในสารละลายที่มีเปอร์เซนบิวเด้อสูงๆ หรือที่มี พีเฮชสูงๆ  อาจจะไม่ละลายเข้ากันและแยกตัวออกมา การใส่ไฮโดรโทรบลงไป สัก 2-3 เปอร์เซน ทำให้การละลายดีขึ้น

โซเดียมไซลีนซัลโฟเนต (SXS) เป็นตัวที่ใช้กันมากตัวหนึ่ง แม้ว่ามันไม่ช่วยคุณสมบัติเพิ่มเรื่องการขจัดคราบ SXS มีขายทั้งแบบน้ำ และแบบผง

สารลดแรงตึงผิวอื่นๆ เช่น Petro 22TM หรือ Triton X-102TM มีความสามารถในการทำลายด้วย จึงมีคุณสมบัติเป็นไฮโดรโทรบได้อีก มีขายทั่งในรูปน้ำ และแบบผงเช่นกัน

ฟอสเฟตเอสเทอร์ (phosphate esters) มีคุณสมบัติเป็นทั้งสารลดแรงตึงผิวและไฮโดรโทรบ โดยทั่วไปจะขายในรูปของกรด เมื่อใช้จะถูกทำให้เป็นกลางด้วยด่าง ฟอสเฟตเอสเทอร์ในรูปกรด นี้มีในรูปของสารละลาย 50 % แม้ว่าราคาของมัน จะสูงกว่า SXS แต่ฟอสเฟตเอสเทอร์ จะคุ้มกว่า เนื่องจากจะใช้น้อยกว่า และยังในความสามารถในการขจัดคราบเพิ่มเติมอีกด้วย

น้ำหอม (Fragrances)

น้ำหอม ทำให้น้ำยาน่าใช้ สร้างความพึงพอใจต่อผู้ใช้ในระหว่างการใช้งาน น้ำยาที่กลิ่นหอมสดชื่นจะมีส่วนทำให้ความพึงพอใจโดยรวมต่อน้ำยาดีขึ้น น้ำหอมมีกลิ่นที่ใช้กับน้ำยาทำความสะอาด ให้เลือกมากมาย กลิ่นที่นิยมทั้วๆ ไป เช่น กลิ่นมะนาว กลิ่นน้ำมันสน กลิ่นมิ้น กลิ่นผลไม้ กลิ่นลาเวนเดอร์  กลิ่นสมุนไพร ไปจนถึงกลิ่นที่ซับซ้อนมากขึ้น

ประโยชน์ของน้ำหอมนอกจากให้กลิ่นหอม แล้วยังช่วยกลบกลิ่นเคมี ที่เกิดจากสารลดแรงตึงผิว หรือโซลเว้นบางชนิด หรือกลิ่นกรด ปกติน้ำหอมในสูตรจะใช้ประมาณ 0.5-1 % แต่ถ้าต้องการใช้เพิ่มกลบกลิ่นกรดแรงๆ อาจต้องใช้ถึง 3 %

สี  (Dyes)

เราใส่สีลงไปในน้ำยาเล็กน้อย เพื่อให้ดูดีขึ้น และบางครั้งสร้างความเฉพาะตัวให้กลับน้ำยาแต่ละชนิด สีทำให้ผู้ใช้แยกแยะได้ว่าน้ำยาต่างชนิดกัน และต่างจากน้ำเปล่า สีส่วนมากมาเป็นผงสี ที่ละลายน้ำได้ สีบางชนิดไม่ละลายน้ำแต่ละลายในน้ำมัน การใช้ต้องขึ้นกับสูตรที่เราทำ และควรปรึกษาผู้ผลิตสีในการเลือกสีที่เหมาะกับสูตรของเรา

สียังสื่อไปถึงชนิดการใช้งานของน้ำยาต่างๆ เช่น สีฟ้า นิยมใช้กับน้ำยาเช็ดกระจก สีเหลืองน้ำยาจาน สีเขียวน้ำทำความสะอาดเอนกประสงค์  สีม่วงอาจเหมาะกับน้ำยาฆ่าเชื้อโรค สีชมพูอาจไปดีกับน้ำยาปรับผ้านุ่มเป็นต้น

สารกันเสีย  (Preservatives)

สารกันเสียยืดอายุการใช้งานให้น้ำยาอยู่ได้นานขึ้น ถ้าไม่มีสารกันเสียน้ำยาจะถูกแบคทีเรียทำลาย ทำให้อาจให้ผลเสียต่างๆ เช่นมีกลิ่นเหม็๋น แยกชั้น หรือ ประสิทธิภาพลดลง

สำหรับน้ำยาทำความสะอาดในแวดวงอุตสาหกรรม สารกันเสียที่นิยมใช้มากที่สุดก็คือ ฟอร์มาลิน ซึ่งเป็นสารละลาย 37 % ของฟอรมาลดีไฮด์ในน้ำ โดยทั่วไปเราใช้ในสูตรเพียง 0.1-0.2 % นอกจากนี้สารกันเสียตัวอื่นที่ไม่มีฟอรมาลดีไฮด์  ก็เช่น DOWACIL 75TM จาก บริษัท  Dow Chemical DOWACIL 75TM เป็นสารกันเสียแบบผง ใช้ใสสูตรประมาณ  0.1 -0.2 %  นอกจากนี้สารกันเสียตัวอื่นๆ ที่นิยมใช้กันในผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับคน เช่น สบู่เหลว แชมพู โลชั่น ก็เป็นพวก mehyl paraben, ethyl paraben  ส่วนมากในสูตรจะใช้ทั้งสองตัวนี้ร่วมกัน เพื่อประโยชน์สูงสุด

สารให้ความขม (Ingestion Deterrents)

สารให้ความขม จะให้ความขมอย่างสุดๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเล็ก ดื่ม หรือกลิ่นน้ำยาโดยไม่ตั้งใจ มีหลายครั้งที่พบว่า มีเด็กเล็กได้รับอันตราย หรือเสียชีวิตจากการเผลอไปกินน้ำยาทำความสะอาดบ้าน การใส่สารให้ความขมแบบนี้ จะทำให้น้ำยามีความขมมากจนเด็กไม่กินเข้าไปอีก สารพวกนี้ที่นิยมใช้กันอยู่ในกลุ่ม denatonium benzoate ขายภายใต้ชื่อการค้าว่า BitrexTM เราใส่ในสูตรประมาณ 20-50 ส่วนในล้านส่วน มันจะทำให้น้ำยามีรสขมอย่างที่สุด