เพลี้ยไฟกะไอ้ฮวบ (ไอ้ฮวบ,บั่วกล้วยไม้,หนอนแมลงวันชอนดอกกล้วยไม้)
(Thrips>>> Thrips palmi and Orchid blossom midge>>> Contarinia maculipennis)
สองศัตรูตัวร้ายของช่อดอกกล้วยไม้ ในช่วงปีที่ผ่านมาอากาศแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ ทำให้การระบาดของเพลี้ยไฟกะไอ้ฮวบมีสลับกันตลอดทั้งปี สร้างความเสียหายมากมาย การตรวจพบการระบาดตั้งแต่เนิ่นๆจึงเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันกำจัด หลักในการจัดการก็คือ เราต้องเดินตรวจสวนเองทุกวัน ถ้าตัดไม้เอง กำไม้เองก็ยิ่งดีใหญ่ เพราะเราจะได้พบเห็นปัญหาตั้งแต่เริ่ม การป้องกันกำจัดสามารถทำได้ทันทีทันเหตุการณ์
โดยปกติเพลี้ยไฟกะไอ้ฮวบจะเกิดระบาดทำลายช่อดอกกล้วยไม้ ด้านใดด้านหนึ่งของสวนก่อนจะขยายตัวระบาดไปทั่วทั้งสวน
เราจะพบเพลี้ยไฟบริเวณยอดช่อดอกและในดอกบาน ปลายยอดช่อดอกที่ถูกทำลายจะบิดงอ สีดอกจะซีดจาง ชาวสวนบางคนเรียกเพลี้ยไฟว่าตัวกินสี ตามอาการที่เกิดกับกลีบดอก เพลี้ยไฟเป็นแมลงขนาดเล็กราวๆปลายเข็ม วัยแรกจะมีสีลำตัวขาวขุ่น วัยสองมีสีขาวใส วัยสามสีจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองใส ตัวเต็มวัยมีสีเหลืองเข้ม ขนาดลำตัวยาว 0.8-1.0 มิลลิเมตร บริเวณส่วนหลังจะเห็นปีกชัดเจน
ส่วนไอ้ฮวบจะพบทำลายดอกตูม ดอกตูมจะบิดเบี้ยว มีอาการฉ่ำน้ำ ในหนึ่งดอกตูมอาจจะมีตัวหนอนเป็นสิบตัว ขนาดของหนอนประมาณ 2.0 มิลลิเมตร ลำตัวเรียบลื่น เคลื่อนไหวโดยการดีดตัว
การป้องกันกำจัดด้วยสารกำจัดแมลงควรทำควบคู่กับการตัดช่อดอกในบริเวณที่มีการระบาด
เพลี้ยไฟเราจะตัดช่อที่มีดอกบานในโต๊ะที่พบการระบาดและโต๊ะถัดมาอีกหนึ่งโต๊ะ
โดยเฉพาะไอ้ฮวบแนะนำให้ตัดช่อดอกที่มีดอกตูมในโต๊ะที่ระบาดออกทิ้งให้หมด และตัดทิ้งช่อดอกตูมในโต๊ะถัดมาด้วย ช่อดอกที่ตัดทิ้งจะต้องเก็บใส่ถุง ปิดปากถุงให้มิดชิด เอาไปตากแดดหรือเผาทำลาย ห้ามทิ้งไว้บนดินเพราะตัวหนอนจะออกมาเข้าดักแด้ในดิน เป็นตัวแมลงวันขายาวออกมาวางไข่บนช่อดอกอีก เพื่อเป็นการลดจำนวนไข่และตัวหนอนก่อนที่จะใช้สารกำจัดแมลง วิธีนี้จะช่วยให้การกำจัดมีประสิทธิภาพและสามารถยับยั้งการทำลายในระยะเวลาสั้นๆ การระบาดจะไม่กระจายไปทั่วทั้งสวน
ในปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตสารกำจัดแมลง ได้จัดแบ่งสารกำจัดแมลงตามกลไกการออกฤทธิ์เป็น 28 กลุ่ม และแนะนำให้ใช้สารกำจัดแมลงสลับกลุ่มเพื่อลดการสร้างความต้านทาน ในหนึ่งช่วงชีวิตของแมลง 30-45 วัน ควรใช้สาร 4-5 กลุ่มสลับกัน
ในที่นี้จะขอแนะนำสารกำจัดแมลงที่มีประสิทธิภาพ กลุ่มของสารและกลไกการออกฤทธิ์
กลุ่ม 4 เอ นีโอนิโคตินอยด์ (กระตุ้นจุดรับนิโคตินิคอะเซททิลโคลีน ระบบประสาท)
อิมิดาโคลพริด ไทอะมีโทแซม โคลไทอะนีดิน ไดโนทีฟูแรน
อะเซททามิพริด ไทอะโคลพริด
เป็นสารดูดซึมทั้งกลุ่ม ในกรณีที่มีการระบาดรุนแรงให้ใช้สารกลุ่มนี้ 2 ครั้งต่อเนื่องกัน
กลุ่ม 2 บี เฟนนิลไพราโซล (ขัดขวางการทำงานของGABAทางช่องผ่านคลอไรด์ ระบบประสาท)
ฟิโพรนิล อีทิโพรล
แมลงที่ต้านทานสารกลุ่มคาร์บาเมท ออแกโนฟอสเฟท ไพรีทอยด์ จะไม่ต้านทานสารกลุ่มนี้
กลุ่ม 1 เอ คาร์บาเมท (ยับยั้งเอนไซม์อะเซททิลโคลินเอสเตอร์เรส ระบบประสาท)
คาร์โบซัลแฟน เมทโธมิล ฟีโนบูคาร์บ เบนฟูราคาร์บ
ฟอร์มีทาเนท เมทธิโอคาร์บ
กลุ่ม 1 บี ออแกโนฟอสเฟท (ยับยั้งเอนไซม์อะเซททิลโคลินเอสเตอร์เรส ระบบประสาท)
อะซีเฟท ไดเมทโธเอท โอเมทโธเอท คลอไพรีฟอส
ไดอาซิโนน อีพีเอ็น ฟอสซาโลน โปรฟีโนฟอส
กลุ่ม 3 เอ ไพรีทอยด์สังเคราะห์ (รบกวนช่องผ่านโซเดียม ระบบประสาท)
ไบเฟนทริน เบต้าไซฟลูทริน ไซฮาโลทริน-แอล ไซเปอร์เมทริน
เบต้าไซเปอร์เมทริน ซีต้าไซเปอร์เมทริน อีโทเฟนพรอก เฟนโปรพาทริน
กลุ่ม 6 อะเวอร์เมคติน (กระตุ้นการทำงานของช่องผ่านคลอไรด์ ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ)
อะบาเมคติน อีมาเมคตินเบนโซเอท
รอบการฉีดสารกำจัดแมลง ทุก 5-7 วัน เริ่มต้นจาก
กลุ่ม 4 เอ……..กลุ่ม 2 บี……..กลุ่ม 1 เอ………กลุ่ม 3 เอ……..กลุ่ม 1 บี……..กลุ่ม 6
สารกำจัดแมลง 6 กลุ่ม รอบการฉีดทุก 5-7 วัน รวมระยะเวลาทั้งหมด 30-42 วัน ซึ่งจะครอบคลุมหนึ่งชั่วอายุ (life cycle) ของเพลี้ยไฟและไอ้ฮวบ
นอกจากเราจะหมุนเวียนกลุ่มสารกำจัดแมลงตามกลไกการออกฤทธิ์ ในแต่ละกลุ่มสารเรายังสลับสับเปลี่ยนตัวสารมิให้ซ้ำกันอีกด้วย และสารกำจัดแมลงแต่ละชนิดให้ใช้ตามอัตราที่แนะนำ
หากมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจตรงไหนก็โทรมาคุยกัน สุรชัย 08 1838 7587 หรือใครอยากรู้เพิ่มก็เข้าไปศึกษาเองที่ www.irac-online.org
Keywords : เพลี้ยไฟ, ตัวกินสี, Thrips, Thrips palmi,
ไอ้ฮวบ, บั่วกล้วยไม้, หนอนแมลงวันชอนดอกกล้วยไใม้ Orchid blossom midge, Contarinia maculipennis