สารกำจัดแมลง (Insecticide)…ตอน 13

กลุ่ม 21 รบกวนระบบพลังงาน เป็นกลุ่มใหญ่ที่เน้นใช้กับไร ออกฤทธิ์สัมผัสและกินตาย มีผลกระทบกับการฟักของไข่ไรด้วย เฉพาะ โทลเฟนไพเรด เยี่ยมมากสำหรับหนอนใย และยังมีผลกับเพลี้ยไฟด้วย

ฟีนาซาควิน (LD50 =134 mg/kg…..MRLs 0.5 ppm.) ออกฤทธิ์สัมผัสแบบเฉียบพลันและมีผลกับไข่ไรด้วย
เฟนไพรอคซีเมท (LD50 = 480 mg/kg…..MRLs = 0.3 ppm.) ออกฤทธิ์สัมผัสแบบเฉียบพลันและมีผลกับการลอกคราบของตัวอ่อน
ไพริดาเบน (LD50 = 1,350 mg/kg…..MRLs = 0.5 ppm.) ออกฤทธิ์สัมผัสแบบเฉียบพลันและมีฤทธิ์นานส่งผลโดยเฉพาะกับตัวอ่อนทุกวัย นอกจากกำจัดไรแล้ว ยังมีผลกับแมลงหวี่ขาว เพลี้ยกระโดด เพลี้ยไฟด้วย
ทีบูเฟนไพเรด (LD50 = 595 mg/kg…..MRLs = 0.5 ppm.) ออกฤทธิ์สัมผัสและกินตายกับไรทุกระยะ สามารถแทรกซึมผ่านผิวใบส่งผลต่อไข่ไรด้านหลังใบ ในตลาดได้แต่งตัวใหม่มาแบบจัดเต็ม ราคาสูงแต่ต้องคิดราคา/ปีบ จะเห็นว่าน่าใช้ทีเดียว

โทลเฟนไพเรด (LD50 = 386 mg/kg…..MRLs = ไม่มีข้อมูล) เป็นพระเอกที่กำจัดหนอนใยที่ดีที่สุดในวันนี้ และยังมีผลกับเพลี้ยไฟ มวน ไรด้วย

ไพริมิดีเฟน ไม่มีจำหน่ายในบ้านเรา

เนื่องจากสารกำจัดไรกลุ่มนี้ต่างมีจุดเด่นต่างกันออกไปเล็กๆน้อยๆ การเลือกใช้จะต้องสลับกับกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์อื่น อย่าใช้สารฯในกลุ่มเดียวกันต่อเนื่องเกินกว่า 2 ครั้ง จะช่วยยืดการสร้างความต้านทานของไรในระยะยาว

กลุ่ม 22 รบกวนระบบประสาท มีเพียงสารเดียวที่นำเข้ามาจำหน่ายในบ้านเรา

อินดอกซาคาร์บ (LD50 = 1,732 mg/kg…..MRLs = 0.3 ppm.) ออกฤทธิ์สัมผัสและกินตาย ยังคงเป็นพระเอกตัวหนึ่งสำหรับหนอนกระทู้ต่างๆในพืชเศรษฐกิจ เป็นสารฯหนึ่งในหลายๆสารฯที่ดูปองค์ให้สิทธิ์ในการทำตลาดกับซินเจนทา ซึ่งในบ้านเรามักวางมาในรูปจับคู่ (combination) เพื่อเสริมฤทธิ์ให้ครอบคลุมศัตรูพืชได้กว้างขึ้นในการใช้ครั้งเดียว

(เดี๋ยวจะจัดเป็นภาคผนวกว่า ซินเจนทา เอาตัวไหนมาและจับคู่อย่างไรบ้าง เพราะที่เอามาทำตลาดในบ้านเราก็เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ขึ้นกับศัตรูพืชที่จะพิจารณาว่าต้องแบบไหนถึงจะเหมาะสม)

เมทาฟลูมีโซน ไม่มีจำหน่ายในบ้านเรา