กลุ่ม 23 รบกวนระบบพลังงาน การสังเคราะห์ไขมัน มีสารฯทั้งหมด 3 ชนิด เป็นของไบเออร์ทั้งหมด ก็อยู่ที่ว่าจะจัดมาลงเวทีอย่างไร
สไปโรไดคลอเฟน (LD50 > 2,500 mg/kg….MRLs = 0.2 ppm.) ยังไม่มีการวางตลาดในบ้านเรา
สไปโรมีซีเฟน (LD50 > 2,500 mg/kg…..MRLs = 0.5 ppm.) ใช้กำจัดไร ไม่ดูดซึม ออกฤทธิ์สัมผัสและกินตาย มีผลต่อการพัฒนาทุกระยะ ส่งผลไปถึงการเจริญพันธุ์ ตัวเมียจะวางไข่น้อยลง และคุมไข่ด้วย ทั้งยังมีฤทธิ์กำจัดแมลงหวี่ขาวด้วย
สไปโรเตตราเมท (LD50 > 2,000 mg/kg…..MRLs = 2.0 ppm.) ออกฤทธิ์กินตายและสัมผัส ตัวสารสามารถแทรกซึมเข้าสู่ระบบท่อน้ำท่ออาหาร และเคลื่อนย้ายไปทั่วต้นพืช กำจัดทั้งไข่และตัวอ่อน ส่งผลไปถึงการเจริญพันธุ์ ตัวเมียจะวางไข่น้อยลง สามารถกำจัดแมลงที่อาศัยกัดกินรากและส่วนที่อยู่ใต้ดิน ใช้กำจัด แมลงหวี่ขาว เพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไก่ฟ้า เพลี้ยไฟบางชนิด ชื่อการค้า โมเวนโต (Movento) มาจาก move เพราะสามารถเคลื่อนย้ายในพืชได้ และที่น่าสนใจกว่าคือค่า MRLs ที่สูงถึง 2.0 ppm. (แต่ด้วยระบบการขึ้นทะเบียนที่ล้าหลัง ทำให้มีคิวตกค้างกว่า 7,000 คิว ซึ่งกว่าสารฯนี้จะผ่านมาให้ได้ใช้คงต้องใช้เวลาอีก 2 ปี ขอให้ผู้รับผิดชอบได้ช่วยกันปรับระบบให้เร็วขึ้น ไม่ใช่ปล่อยผีเฉพาะพวกเดียวกัน)
กลุ่ม 24 รบกวนระบบพลังงาน
ฟอสฟีน ที่ผลิตใช้มีเกลือ อลูมีเนียม แคลเซียม แมกนีเซียม สังกะสี ใช้ในการรมในโรงเก็บ เพื่อกำจัดแมลงศัตรูในโรงเก็บ หนู เนื่องจากมีความเป็นพิษสูงมากต่อสัตว์เลือดอุ่น (LD50 = 8.7 – 72.3 mg/kg) โดยเฉพาะไอระเหย ในการใช้จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมและมีใบอนุญาตเป็นผู้ควบคุม ซึ่งก็จะมีอุปกรณ์อื่นๆมาใช้ร่วมด้วย
ไซยาไนด์ ที่ผลิตใช้ในอดีต คือ แคลเซียมไซยาไนด์ ใช้เป็นปุ๋ย แล้วเปลี่ยนมาเป็นสารกำจัดวัชพืช สารปลิดใบ ปัจจุบันไม่มีการใช้แล้ว สำหรับคนที่เรียนกีฏวิทยาแล้วต้องทำกล่องแมลงส่งอาจารย์ ก็คงจะรู้จัก โพแทสเซียมไซยาไนด์ ที่เอามาทำเป็นขวดไว้น๊อคแมลง
กลุ่ม 25 รบกวนระบบพลังงาน มีจำหน่ายในบ้านเราเพียงสารเดียว
ไซฟลูมีโทเฟน (LD50 > 2,000 mg/kg…..MRLs ไม่มีข้อมูล) ออกฤทธิ์แบบสัมผัส ตัวอ่อนที่ฟักออกมาสัมผัสสารจะตายอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับตัวแก่
ไซอีโนไพราเฟน (LD50 > 5,000 mg/kg…..MRLs = 5.0 Japan) ไม่มีจำหน่ายในบ้านเรา