บทบาทและหน้าที่ธาตุอาหารพืช

ธาตุอาหารพืชคือธาตุที่มีความจำเป็นต่อพืช โดยเมื่อพืชไม่ได้รับธาตุนั้นๆก็จะทำให้ไม่สามารถดำรงชีพได้ครบวงจรชีวิตเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ และเราสามารถแก้ไขโดยให้ธาตุอาหารนั้นแก่พืช อาการขาดธาตุอาหารเหล่านั้นก็จะหายไป พืชก็จะกลับมาเป็นปกติสามารถดำรงชีพได้ครบวงจรชีวิต

ธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชมีทั้งหมด 16 ธาตุ โดยเราสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มดังนี้

  1. มหธาตุ (Macronutrient Elements) มีทั้งหมด 9 ธาตุ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆดังนี้

1.1 ธาตุอาหารที่พืชต้องการมากและพืชสามารถรับได้จากน้ำและอากาศ มี 3 ธาตุดังนี้ คาร์บอน (C), ออกซิเจน

(O), ไฮโดรเจน (H)

1.2 ธาตุหลักคือธาตุที่พืชต้องการมากและในดินมีอยู่น้อย เรามักจะหามาใส่ในการเพาะปลูกทั่วๆไป มี 3 ธาตุ

ดังนี้ ไนโตรเจน (N), ฟอสฟอรัส (P), โพแทสเซียม (K)

1.3 ธาตุรองคือธาตุที่พืชต้องการมากรองจากธาตุหลักและในดินมีอยู่มากพอสมควร เรามักละเลยการใส่จึงจะ

พบว่ามีการขาดแคลนในการเพาะปลูกพืชซ้ำๆกันเป็นเวลานาน มี 3 ธาตุดังนี้ แคลเซียม (Ca), แมกนีเซียม

(Mg) และกำมะถัน (S)

  1. จุลธาตุหรือธาตุเสริม (Micronutrient or Trace Elements) คือธาตุที่พืชต้องการน้อยและในดินก็มีอยู่น้อย มี 7 ธาตุดังนี้ เหล็ก (Fe), แมงกานีส (Mn), โบรอน (B), โมลิบดินัม (Mo), ทองแดง (Cu), สังกะสี (Zn) และคลอรีน (Cl)

ธาตุอาหารพืชทั้ง 16 ธาตุไม่ว่าจะเป็นมหธาตุหรือจุลธาตุ ต่างก็มีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีพของพืชเท่าๆกันจะต่างกันก็แต่พืชต้องการในปริมาณมากน้อยต่างกันเท่านั้น

หน้าที่ของธาตุอาหารของพืช

  1. ธาตุหลัก (Primary Macronutrients)

ไนโตรเจน (N)

– กระตุ้นให้พืชเจริญเติบโตและมีความแข็งแรง

– เพิ่มปริมาณโปรตีนให้แก่พืช

– ช่วยให้พืชมีสีเขียวเร่งการเจริญเติบโตทางใบและลำต้น

ฟอสฟอรัส (P)

– ส่งเสริมการเจริญเติบโตของรากพืช

– ช่วยเร่งการสุกแก่ของพืชให้เร็วขึ้น

– เร่งการออกดอก ออกผล และการสร้างเมล็ดพืช

– เพิ่มความต้านทานต่อโรคพืช

โพแทสเซียม (K)

– ช่วยสังเคราะห์แป้งและน้ำตาลในพืช

– ช่วยเคลื่อนย้ายแป้งและน้ำตาลจากใบไปสู่ผลและพืชหัว

– ช่วยให้ผลเติบโตเร็วและมีรสชาติดี

– ช่วยให้พืชแข็งแรงต้านทานต่อโรคและแมลง

– ควบคุมระบบหายใจและการปิดเปิดปากใบของพืช

  1. ธาตุรอง (Secondary Macronutrients)

แคลเซียม (Ca)

– เป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์พืชและจำเป็นต่อการแบ่งเซลล์พืช

– ทำงานร่วมกับธาตุโบรอนในการช่วยผสมเกสรของพืช

– ช่วยให้การงอกรากและใบของพืชได้ดีและเร็ว

– ช่วยในการเคลื่อนย้ายแป้ง น้ำตาล และโปรตีนในพืช

แมกนีเซียม (Mg)

– เป็นองค์ประกอบสำคัญของคลอโรฟิลล์ (สีเขียว) ในพืช

– ช่วยสร้างโปรตีน ไขมัน วิตามิน และน้ำตาลในพืช

– ส่งเสริมการน้ำธาตุฟอสฟอรัสไปสู่ลำต้น

– ทำให้สภาพกรดด่างในเซลล์เหมาะสม

กำมะถัน (S)

– สร้างกรดอะมิโน โปรตีน และวิตตามินบีในพืช

– ช่วยสร้างสี กลิ่น และน้ำมันในพืช

– ช่วยในการสังเคราะห์คลอโรฟิลล์

  1. ธาตุเสริม (Trace Elements)

เหล็ก (Fe)

– ช่วยในการสังเคราะห์คลอโรฟิลล์

– มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการสังเคราะห์แสงและการหายใจในพืชให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์

แมงกานีส (Mn)

– ช่วยการสังเคราะห์แสงในใบพืช

– กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ (Enzyme) ในต้นพืช

โบรอน (B)

– ส่งเสริมการออกดอกในพืช

– ช่วยในการผสมเกสรและการติดผล

– ช่วยให้พืชใช้ประโยชน์จากไนโตรเจนและแคลเซียมได้ดียิ่งขึ้น

– ช่วยในการเคลื่อนย้ายฮอร์โมนในพืช

โมลิบดินัม (Mo)

– ช่วยพืชสังเคราะห์โปรตีน

– ช่วยให้พืชใช้ประโยชน์จากไนโตรเจนได้ดียิ่งขึ้น

ทองแดง (Cu)

– ช่วยในการสังเคราะห์คลอโรฟิลล์

– กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ (Enzyme)

– เกี่ยวข้องกับกระบวนการหายใจ การใช้โปรตีน และแป้งในพืช

สังกะสี (Zn)

– ช่วยสร้างคลอโรฟิลล์และแป้ง

– ช่วยสร้างฮอร์โมนออกซิเจน ทำให้ข้อปล้องของพืชมีขนาดสมบูรณ์

คลอลีน (Cl)

– ช่วยสร้างฮอร์โมนบางชนิดในพืช

– ช่วยเพิ่มความสุกแก่ให้กับพืชเร็วขึ้น

นอกจาก 16 ธาตุที่กล่าวมาแล้วนั้นยังพบว่ามีธาตุบางธาตุที่มีผลทำให้ผลผลิตของพืชบางชนิดดีขึ้น (ซึ่งท่านรองศาสตราจารย์ ยงยุทธ โอสถสภา ได้ให้คำจำกัดความว่า ธาตุเสริมประโยชน์) ในที่นี้ขอกล่าวเพียง 2 ธาตุคือ

ซิลิกอน (Si)

– ช่วยทำให้พืชต้านทานโรค ต้นไม่หักล้มง่าย

– เพิ่มผลผลิตในข้าว

โซเดียม (Na)

– ทำหน้าที่แทนโพแทสเซียม (K) ได้บางส่วน

รูปของสารประกอบของธาตุอาหารพืชที่พบในดิน มี 2 กลุ่มคือ

  1. กลุ่มที่พืชใช้ประโยชน์ไม่ได้ทันที ได้แก่สารประกอบต่างๆที่โมเลกุลใหญ่มีหลายๆธาตุ เป็นพวกแร่ธาตุที่เป็นวัตถุต้นกำเนิดดิน ซึ่งอยู่ในรูปของสินแร่หรือหินนั่นเอง
  2. กลุ่มที่พืชนำใช้ประโยชน์ได้ทันที ได้แก่สารประกอบที่โมเลกุลโครงสร้างง่ายๆ อนูของธาตุจะแยกออกเป็นอนุมูลหรือ ion ได้ง่าย

ธาตุอาหารในกลุ่มที่พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที มีแนวโน้มจะถูกชะล้างให้สูญเสียไปพร้อมกับน้ำที่ไหลลงสู่เบื้องล่างหรือไม่ก็ถูกจุลินทรีย์ในดินนำไปใช้ประโยชน์ จึงทำให้โอกาสที่พืชจะขาดแคลนธาตุอาหารได้ โดยเฉพาะกลุ่มธาตุหลักที่พืชต้องการมากอันได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม รวมทั้งธาตุรองและธาตุเสริม ก็มีโอกาสขาดแคลนได้ถ้ามีการเพาะปลูกพืชซ้ำๆเป็นเวลานาน นอกจากนี้ความเป็นกรดด่าง (pH) ในดินก็มีผลต่อการที่พืชจะดูดซึมอาหารในดินไปใช้ประโยชน์ดังภาพข้างล่างนี้

 

 

 

ภาพแสดงถึงอิทธิพลของความเป็นกรดด่างในดิน (Soil pHต่อความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืชและกิจกรรมของจุลินทรีย์ดิน

 

ปัจจัยที่พึงระวังอันเนื่องมาจากผลกระทบจากความเป็นกรดด่างของดิน (Soil pH)

ปัจจัย ผลกระทบ
ความเป็นพิษของอลูมินัม (Al) ความเป็นพิษของอลูมินัม จะลดลงเมือความเป็นกรดด่างของดินเพิ่มขึ้น
ความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัส ความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสสูงที่ความเป็นกรดด่างของดิน (pH) 5.5-7.0
ความเป็นประโยชน์ของธาตุเสริม ที่ความเป็นกรดด่าง(pH) 5.5-6.0 ธาตุเสริมเป็นประโยชน์ได้สูง ยกเว้นโมลิบดินัม(Mo) (แมงกานีสและเหล็กเป็นพิษน้อยใน pH 5.5-6.0)
ความสามารถในการแลกเปลี่ยนของธาตุประจุบวก เช่น แคลเซียม(Ca) แมกนีเซียม(Mg) โพแทสเซียม(K) สภาพของดินที่มีความเป็นกรดด่าง (pH) สูงทำให้ความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุของธาตุประจุบวกได้สูง นั่นคือทำให้ดินมีความสามารถในการเก็บรักษาธาตุแคลเซียม(Ca) แมกนีเซียม(Mg) โพแทสเซียม(K) ไว้ได้ก่อนที่จะสูญเสียไปกับกระบวนการชะล้าง
กระบวนการปลดปล่อยไนโตรเจน(N) รูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชจากสารอินทรีย์ กระบวนการปลดปล่อยไนโตรเจนมาอยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชจากสารอินทรีย์ได้ดีที่สุดที่ความเป็นกรดด่าง (pH) ของดินที่ 5.5-6.5
การตรึงไนโตรเจนจากอากาศ การตรึงไนโตรเจนจากปมรากถั่วได้น้อยที่ความเป็นกรดด่าง(pH) ของดินน้อยกว่า 5
การเกิดโรคพืช โรคพืชบางชนิดสามารถควบคุมได้โดยการจัดการความเป็นกรดด่าง(pH) ของดิน (เช่น อัตราการเกิดสะเก็ดที่ผิว (seab) มันฝรั่งลดลงเมื่อความเป็นกรดเพิ่มขึ้น)
การละลายตัวเองของหินฟอสเฟต ความเป็นกรดด่าง(pH)ของดิน ต้องน้อยกว่า 5.5 หินฟอสเฟตจึงจะละลายและปลดปล่อยฟอสฟอรัสมาให้พืชดูดซับไปใช้ได้

จาก Table 2-2 หน้า 41 Soil Fertility Kit

การขาดแคลนธาตุอาหารในพืชจะแสดงออกที่ใบพืชที่เราสามารถสังเกตได้ดังตารางข้างล่างนี้

ธาตุอาหารพืช ตำแหน่งที่ปรากฎในใบพืช ใบซีดจางหรือไม่ ขอบใบแห้งหรือไม่ สีและรูปร่างใบ
ไนโตรเจน เกิดทั้งใบอ่อนและใบแก่ ใช่ ไม่เป็น สีเหลืองทั้งแผ่นใบ รวมทั้งเส้นใบด้วย
ฟอสฟอรัส เกิดกับใบแก่ ไม่ ไม่เป็น รอยขีดสีม่วงปะที่แผ่นใบ
โพแทสเซียม เกิดกับใบแก่ ใช่ ใช่ รอยแต้มสีเหลืองที่แผ่นใบ
แมกนีเซียม เกิดกับใบแก่ ใช่ ไม่เป็น รอยแต้มสีเหลืองที่แผ่นใบ
แคลเซียม เกิดกับใบอ่อน ใช่ ไม่เป็น แผ่นใบบิดเบี้ยวผิดรูปร่าง
กำมะถัน เกิดกับใบอ่อน ใช่ ไม่เป็น ใบอ่อนเป็นสีเหลือง
แมงกานีสและเหล็ก เกิดกับใบอ่อน ใช่ ไม่เป็น สีซีดจางระหว่างเส้นใบ
โบรอน, สังกะสี, ทองแดง, แคลเซียมและโมลิบดินัม เกิดกับใบอ่อน รูปร่างใบอ่อนบิดเบี้ยวผิดรูปร่าง

จาก Table 3-8 หน้า 93 Soil Fertility Kit

 

การแก้ไขการขาดธาตุอาหารพืช

การแก้ไขการขาดธาตุไนโตรเจนของพืช ควรใส่ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารไนโตรเจน โดยมีหลักการดังนี้

– กรณีดินเป็นกรด ควรใช้ยูเรีย (46-0-0) หรือแอมโมเนียมไนเตรท (34-0-0) หรือแคลเซียมแอมโมเนียมไนเตรท (27-0-0 + 5 MgO + 7 CaO)

– กรณีที่พืชขาดธาตุกำมะถันด้วย ควรใช้แอมโนเนียมซัลเฟต (21-0-0 + 24S)

 

การแก้ไขการขาดธาตุฟอสฟอรัสของพืช ควรใส่ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารฟอสฟอรัส โดยมีหลักการดังนี้

– กรณีที่พืชขาดธาตุฟอสฟอรัสตัวเดียว ควรใช้ทริปเปิ้ลซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-45-0) หรือโมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต (11-52-0) หรือไดแอมโมเนียมฟอสเฟต (18-46-0)

– กรณีที่ดินเป็นกรดควรใช้หินฟอสเฟต (0-3-0 + 25 CaO) ซึ่งมีฟอสฟอรัส (P) ที่สามารถละลายได้ในดินกรด (pH ต่ำกว่า 5) ทั้งหมดอีกร้อยละ 20-40 P2O5

 

การแก้ไขการขาดธาตุโพแทสเซียมของพืช ควรใส่ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารไนโตรเจน โดยมีหลักการดังนี้

– กรณีที่ดินขาดธาตุโพแทสเซียมและพืชประธานไม่มีปัญหาต่อคลอไรด์ ควรใช้โพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60 + 47 Cl)

– กรณีที่ขาดธาตุโพแทสเซียมและไนโตรเจน โดยที่พืชประธานมีปัญกาต่อครอไรด์ด้วย ควรใช้โพแทสเซียมไนเตรท (13-0-46)

– กรณีที่พืชขาดธาตุโพแทสเซียมและกำมะถัน โดยที่พืชประธานมีปัญหาต่อครอไรด์ด้วย ควรใช้โพแทสเซียมซัลเฟต (0-0-50 + 18S)

 

การแก้ไขการขาดธาตุแคลเซียมของพืช ควรใส่ปุ๋ยหรือสารปรับปรุงดินที่มีธาตุแคลเซียมโดยมีหลักการดังนี้

– กรณีที่ดินเป็นกรดจัดและต้องการใส่ฟอสเฟตด้วย ควรใช้หินฟอสเฟต (0-3-0 + 25 CaO) ซึ่งมีฟอสเฟตทั้งหมดร้อยละ 20-40 P2O5 ที่สามารถละลายออกมาให้พืชใช้ได้ ถ้าความเป็นกรดด่าง (pH) ของดินต่ำกว่า 5

– กรณีที่ดินไม่เป็นกรดจัดและต้องการใส่ฟอสเฟตด้วย ควรใช้ซิงเกิ้ลซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-22-0 + 28 CaO + 11 S) หรือทริปเปิ้ลซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0 + 12 CaO + 1.5 S)

– กรณีที่ดินเป็นกรดและต้องการใส่แคลเซียมธาตุเดียว ควรใช้ปูนมาร์ล ซึ่งมีแคลเซียมประมาณร้อยละ 30 CaO

– กรณีที่ดินเป็นกรดและพืชขาดแมกนีเซียมด้วย ควรใช้ปูนโดโลไมท์ ซึ่งจะมีแคลเซียมร้อยละ 30 CaO และแมกนีเซียมร้อยละ 20 MgO

 

 

การแก้ไขการขาดธาตุแมกนีเซียมของพืช ควรใส่ปุ๋ยหรือสารปรับปรุงดินที่มีธาตุแมกนีเซียม โดยมีหลักการดังนี้

– กรณีที่ดินเป็นกรดและพืชมักจะขาดแคลเซียมด้วยการใช้ปูนโดโลไมท์

-กรณีที่ดินไม่เป็นกรดและต้องการใส่กำมะถันด้วย ควรใช้กลีเซอร์ไรด์ซึ่งมีแมกนีเซียมร้อยละ 27 MgO และกำมะถันร้อยละ 22 S

– กรณีที่ดินไม่เป็นกรดรวมทั้งต้องการใส่โพแทสเซียมและกำมะถันให้กับพืชด้วย ควรใช้แลงไบไนท์ ซึ่งมีแมกนีเซียมร้อยละ 18 MgO กำมะถันร้อยละ 22 S และโพแทสเซียมร้อยละ 22 K2O

 

การแก้ไขการขาดธาตุกำมะถันของพืช ควรใส่ปุ๋ยหรือสารปรับปรุงดินที่มีธาตุอาหารกำมะถัน โดยมีหลักการดังนี้

– กรณีที่เราต้องการใส่ธาตุไนโตรเจนด้วย ควรใช้แอมโมเนียมซัลเฟตซึ่งมีธาตุอาหารไนโตรเจนร้อยละ 21 N และกำมะถันร้อยละ 24 S

– กรณีที่เราต้องการใส่ธาตุโพแทสเซียมด้วย ควรใช้โพแทสเซียมซัลเฟตซึ่งมีธาตุอาหารโพแทสเซียมร้อยละ 50 K2O และกำมะถันร้อยละ 18 S

– กรณีที่เราต้องการใส่ธาตุแมกนีเซียมด้วย ควรใช้กลีเซอร์ไรด์ซึ่งมีธาตุอาหารแมกนีเซียมร้อยละ 27 MgO และกำมะถันร้อยละ 22 S

– กรณีที่เราต้องการใส่ธาตุแคลเซียมด้วย ควรใช้ยิปซั่มซึ่งมีธาตุแคลเซียมร้อยละ 22-30 CaO และกำมะถันร้อยละ 13-16 S

การแก้ไขการขาดธาตุเสริมของพืช

ธาตุอาหารเสริมปกติพืชต้องการน้อยและในการเพาะปลูกปกติที่มีการจัดการดินดีมีอินทรีย์วัตถุเหมาะสม มักจะไม่มีการแสดงอาการขาด ยกเว้นในบางพืชที่มีความต้องการธาตุเสริมชนิดนั้นมากเป็นพิเศษเช่น ปาล์มน้ำมันมีความต้องการธาตุโบรอนสูง ยาสูบมีความต้องการธาตุโบรอนสูง ซึ่งมักจะแก้ไขโดยการใช้ปุ๋ยโบเรตที่มีธาตุโบรอนร้อยละ 15 B หรือใช้ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุโบรอนเสริมเพิ่มเป็นพิเศษ

ส่วนการแก้ไขปัญหาการขาดธาตุเสริมอื่นๆ นิยมใช้ธาตุเสริมในรูปคีเลตฉีดพ่นทางใบและปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์สูงโดยเพิ่มอินทรีย์วัตถุผ่านการใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก

ความเป็นพิษของธาตุอาหารต่อพืช

สาเหตุที่ธาตุอาหารเป็นพิษต่อพืชมี 3 ประการคือ

1) ดินเป็นกรดจัด ซึ่งจะทำให้ธาตุโลหะหลักจำพวกเหล็ก แมงกานีสและอลูมิเนียมละลายออกมามากจนถึงระดับเป็นพิษต่อพืช

2) ดินเค็ม ซึ่งจะมีโซเดียม(Na) และคลอไรด์(Cl) ในรูปไออนสูงมาก

3) การจัดการใส่ปุ๋ยเคมีอัตราสูงเกินไปหรือใส่ปุ๋ยไม่กระจาย ไม่สม่ำเสมอ ทำให้บริเวณที่พืชได้รับปุ๋ยมากเกินไปจนเป็นพิษกับพืชได้

ลักษณะอาการความเป็นพิษของธาตุอาหารต่อพืช

ธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม ปกติมักจะไม่พบแสดงอาการเป็นพิษในพืชเพราะพืชต้องการใช้ในปริมาณมาก ยกเว้นมีการใส่ธาตุอาหารนั้นๆมากเกินความจำเป็น

พืชได้รับไนโตรเจน(N) มากเกินความจำเป็น จะแสดงอาการดังนี้ ใบพืชจะมีสีเขียวเข้ม ใบและกิ่งก้านอวบใหญ่มากเกินทำให้เปราะหักได้ง่าย พืชมักจะไม่ออกดอกออกผลและอ่อนแอต่อโรคและแมลง

พืชได้รับฟอสฟอรัส(P) มากเกินไป ใบอ่อนจะมีสีเหลืองระหว่างเส้นใบ ขอบใบแห้ง พืชมักจะแสดงอาการเครียดอ่อนแอต่อโรค

พืชได้รับโพแทสเซียม(K) มากเกินไป มักจะแสดงอาการขาดธาตุอื่นๆเช่น แคลเซียม แมกนีเซียมเป็นต้น

ธาตุอาหารรองได้แก่ แคลเซียม(Ca) แมกนีเซียม(Mg)และกำมะถัน(S) พืชเมื่อได้รับแคลเซียมมากเกินมักจะแสดงอาการขาดโพแทสเซียมและแมกนีเซียม ในทางกลับกันถ้าพืชได้รับแมกนีเซียมมากเกินจะทำให้แสดงอาการขาดโพแทสเซียมและแคลเซียม ส่วนกำมะถันถ้าพืชได้รับเกินจะทำให้เกิดการยับยั้งการสังเคราะห์แสงและโครงสร้างของคลอโรฟิลล์ในพืชสูญเสียไป

ธาตุอาหารเสริม 7 ธาตุ คือ เหล็ก(Fe) แมงกานีส(Mn) โบรอน(B) โมลิบดินัม(Mo) ทองแดง(Cu) สังกะสี(Zn) คลอรีน(Cl) เรามักจะพบการเป็นพิษของธาตุอาหารเสริมได้ง่ายกว่าธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง เพราะพืชต้องการน้อยถ้าดินมีความเป็นกรดด่าง(pH) ที่ผิดปกติหรือมีการใส่ให้กับพืชมากเกินจำเป็น อาการเป็นพิษของพืชจะแสดงดังตารางข้างล่างนี้

ตารางแสดงอาการเป็นพิษของพืชเมื่อได้รับธาตุเสริมมากเกิน

ชนิดธาตุอาหารเสริม ปัจจัยที่ทำให้ธาตุเสริมเป็นพิษ อาการแสดงที่เป็นพิษในพืช
โบรอน(B) ใส่ในอัตรามากเกินไป ใบซีดจางและแห้งตายที่ปลายใบและขอบใบ
ทองแดง(Cu) มีปนเปื้อนอยู่ในดินและใส่มากเกินไป ใบซีดจางแลแห้งตายที่ใบแก่และยับยั้งการแผ่ขยายของรากพืช
คลอรีน(Cl) ดินชายฝั่งทะเลที่ระบายน้ำไม่ดีและเขตพื้นที่ดินเค็ม ใบไหม้กรอบและยับยั้งการเจริญเติบโต
เหล็ก(Fe) ดินที่ลุ่มมีน้ำขัง ใบข้างมีสีเหลืองแดงและพืชอื่นๆใบจะมีสีม่วง
แมงกานีส(Mn) ดินที่ลุ่มมีน้ำขัง มีจุดสีน้ำตาลที่เส้นใบ ใบแห้งตายจากปลายใบและขอบใบ ใบม้วนงอหยิกเป็นคลื่น
โมลิบดินัม(Mo) ใส่ปูนเพื่อเพิ่ม pH มากเกินไป ทำให้โมลิบดินัมละลายได้ดี ใบพืชมีสีเหลืองทองถึงเหลืองส้มบางที่เป็นสีม่วง ข้อปล้องของพืชสั้นผิดปกติ
สังกะสี(Zn) พืชที่ปลูกในเรือนกระจกหรือใต้หลังคา ไม่ค่อยพบอาการ อาการเป็นพิษจะคล้ายๆกับอาการขาดธาตุเหล็กและแมงกานีส

จาก Table 3-21 หน้า 122 Soil Fertility Kit

 

 

เอกสารอ้างอิง

ยงยุทธ โอสถสภา, อรรถศิษฐ์ วงศ์มณีโรจน์, ชวลิต ฮงประยูร ปุ๋ยเพื่อการเกษตรยั่งยืน สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2551 กรุงเทพฯ (519 หน้า)

ยงยุทธ โอสถสภา ธาตุอาหารพืช สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2543 กรุงเทพฯ (424 หน้า)

Thomas Dierolf, Thomas Fairhurst and Ernst Mutert Soil Fertilizer Kit Printed by Oxford Graphic Printers, 2001 (149 pp)