มะเขือเปราะ (Thai Eggplant) เป็นมะเขือที่นิยมรับประทานสดหรือใช้ประกอบอาหาร เพราะผลมะเขือเปราะมีความกรอบ ไม่มีเส้นใย มีรสหวาน และรับประทานได้ทั้งผล
• วงศ์ : Solanaceae (วงศ์มะเขือ)
• ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum virginianum L.
• ชื่อสามัญ : Thai Eggplant
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
ภาคกลาง และทั่วไป
– มะเขือเปราะ
ภาคเหนือ
– มะเขือขัยคำ
– มะเขือคางกบ
– มะเขือจาน
– มะเขือแจ้
– มะเขือแจ้ดิน
– มะเขือดำ
ภาคอีสาน
– มะเขือเผาะ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
มะเขือเปราะ เป็นไม้ล้มลุกอายุข้ามปี มีลำต้นแตกกิ่งเป็นทรงพุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 20-100 เซนติเมตร ลำต้นแตกกิ่งแขนงตั้งแต่ระดับต่ำ แตกกิ่งแขนงย่อยสั้น เกิดที่ซอกใบ เปลือกลำต้นบาง มีสีเขียวเขียวอมเทา เปลือกที่ปลายกิ่งมีสีเขียวอ่อน ส่วนแกนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน สีขาว เปราะหักง่าย
ใบ
มะเขือเปราะ เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกออกเป็นใบเดี่ยวสลับกันบนกิ่ง มีก้านใบทรงกลม ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ขนาดใบกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ มีขนปกคลุมทั้งด้านล่าง และด้านบน แผ่นใบอ่อนนุ่ม ฉีกขาดได้ง่าย ขอบใบเว้า โค้งเป็นลูกคลื่น และงุ้มเข้าหากลางใบ แผ่นใบมีเส้นกลางใบสีเขียวอ่อนขนาดใหญ่ มีเส้นแขนงใบเรียงสลับกันออกด้านข้าง
ดอก
มะเขือเปราะ ออกเป็นดอกเดี่ยวๆหรือออกเป็นช่อ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ดอกจะแทงออกบริเวณซอกใบตั้งแต่โคนต้นจนถึงปลายกิ่ง ดอกที่ออกเป็นช่อมีก้านช่อดอกสั้น แต่มีขนาดใหญ่ ส่วนดอกย่อยหรือดอกเดี่ยวมีก้านดอกทรงกลม ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร โคนก้านใหญ่ ปลายก้านเรียวเล็กลง ถัดมาเป็นตัวดอก ดอกตูมมีลักษณะเป็นหลอด ดอกบานแผ่กลีบดอกออก ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวขนาดเล็ก 5 กลีบ หุ้มห่อฐานดอกไว้
ถัดมาเป็นกลีบดอก จำนวน 5 กลีบ โคนกลีบ และกลางกลีบเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีลักษณะแหลมตรงกลางกลีบ แผ่นกลีบดอกไม่เรียบ มีสีขาว มีขนปกคลุม ถัดมาตรงกลางดอกเป็นเกสรตัวผู้ที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอกสีเหลือง จำนวน 5 อัน ยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร และตรงกลางของเกสรตัวผู้เป็นเกสรตัวเมีย มีก้านเกสรสีเหลืองอมส้ม แทงยื่นยาวกว่าเกสรตัวผู้ จำนวน 1 อัน ด้านล่างสุดของฐานดอกเป็นรังไข่
ผล
มะเขือเปราะออกเป็นผลเดี่ยวหรือออกรวมกันเป็นช่อ แต่ละผลมีก้านผลที่พัฒนามาจากก้านดอก โคนก้านบริเวณขั้วผลใหญ่ โคนก้านติดกิ่งเล็ก ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ถัดมาเป็นตัวผลที่ขั้วผลหุ้มด้วยกลีบเลี้ยงขนาดใหญ่ สีเขียว จำนวน 5 กลีบ ซึ่งพัฒนามาจากกลีบเลี้ยงของดอก โคนกลีบใหญ่เชื่อมติดกัน ปลายกลีบเรียวแหลม และมีขนอ่อนปกคลุมทั่วกลีบเลี้ยง ทั้งนี้ มะเขือเปราะบริเวณก้านผล และกลีบเลี้ยงจะไม่มีหนาม แต่จากมะเขือขื่น (อีสาน) จะพบหนามบริเวณดังกล่าว
ผลแต่ละผลมีลักษณะทรงกลมหรือเป็นรูปไข่ ขนาดผลกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร เปลือกผลหนา เรียบ และเป็นมัน มีหลายสีขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ อาทิ สีขาว สีเขียวอ่อน สีเขียวเข้ม และมีลายปะสีขาว เป็นต้น เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองในทุกพันธุ์ ถัดมาด้านในเป็นเมล็ดที่แทรกตัวในเนื้อผล ทั้งนี้ เปลือกผล และเนื้อด้านในจะแยกออกจากกันอย่างชัดเจน และแยกออกได้ง่ายเมื่อผลแก่หรือสุก เนื้อเปลือกผลมีลักษณะอ่อน และกรอบ เมื่อแก่จนเหลืองจะแข็งขึ้น มีรสเฝื่อนเล็กน้อย ส่วนเนื้อผลด้านในมีรสหวาน เฝื่อนน้อยกว่าเปลือก ดังนั้น มะเขือเปราะจึงนิยมรับประทานในระยะผลอ่อนหรือผลที่ยังไม่สุก
พันธุ์มะเขือเปราะตามสี
พันธุ์มะเขือเปราะที่นิยมปลูก ได้แก่
1. พันธุ์สีเขียวเข้มปะขาว ตัวอย่างชื่อพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์พวงหยกจักรพันธ์ มีมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นผู้จดสิทธิบัตรสายพันธุ์ เป็นพันธุ์ผสมระหว่างพันธุ์ขาวกรอบแม่โจ้กับพันธุ์ EP 06 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีลักษณะเด่น คือ ผลออกเป็นพวง ผลมีขนาดเล็ก 2-3 เซนติเมตร พื้นผลสีเขียวเข้ม มีลายปะสีขาวที่ท้ายผล [2]
2. พันธุ์สีเขียวอ่อนปะขาว
3. พันธุ์สีเขียวอ่อนล้วน (หยดน้ำค้าง)
4. พันธุ์สีขาวล้วน
ประโยชน์มะเขือเปราะ
1. ผลมะเขือเปราะสดใช้รับประทานเป็นผักคู่กับอาหารต่างๆ อาทิ น้ำพริก ลาบ ซุบหน่อไม้ ส้มตำ และคั่วกลิ้ง เป็นต้น
2. มะเขือเปราะใช้ประกอบอาหารเดี่ยวๆ อาทิ ซุบมะเขือ (อาหารอีสาน) หรือใช้ประกอบอาหารต่างๆ อาทิ แกงคั่ว แกงเลียง แกงอ่อม และผัดต่างๆ เป็นต้น
3. มะเขือเปราะใช้ใส่เป็นส่วนประกอบของส้มตำ
4. เศษผล และใบมะเขือเปราะใช้ทำน้ำหมักชีวภาพ
5. ลำต้น และใบสดนำมาสุมรมควัน ช่วยไล่เหลือบ ยุง
6. สารโซลาโซดีนที่พบในมะเขือเปราะ ใช้เป็นสารตั้งต้นสำหรับสังเคราะห์สารสเตียรอยด์คอร์ติโซน และฮอร์โมนเพศบางชนิด
คุณค่าทางโภชนาการมะเขือเปราะ (ผล 100 กรัม)
• Proximates | ||
น้ำ | กรัม | 87.9 |
พลังงาน | กิโลแคลอรี่ | 50 |
โปรตีน | กรัม | 1.8 |
ไขมัน | กรัม | 0.8 |
คาร์โบไฮเดรต | กรัม | 8.8 |
เส้นใย | กรัม | 2.5 |
เถ้า | กรัม | 0.7 |
• Minerals | ||
แคลเซียม | มิลลิกรัม | 38 |
เหล็ก | มิลลิกรัม | 1.2 |
ฟอสฟอรัส | มิลลิกรัม | 70 |
• Vitamins | ||
วิตามิน C | มิลลิกรัม | 3 |
ไทอะมีน | มิลลิกรัม | 0.07 |
ไรโบฟลาวิน | มิลลิกรัม | 0.16 |
ไนอะซีน | มิลลิกรัม | 2.4 |
วิตามิน A, RE | ไมโครกรัม | 29 |
ที่มา : [3]
สรรพคุณมะเขือเปราะ
ผล
– ช่วยลดไข้
– ช่วยต้าน และยับยั้งมะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้
– ช่วยลดการอักเสบ
– ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย
– ช่วยลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ
– ช่วยต้านโรคมะเร็ง
– ช่วยบำรุงหัวใจ
– ช่วยลดความดันเลือด
– ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
– น้ำต้มใช้ดื่ม ช่วยป้องกัน และรักษาโรคเบาหวาน ประเทศที่ใช้ประโยชน์จากน้ำต้มในด้านนี้ ได้แก่ ประเทศอินเดีย
– ช่วยกระตุ้นการเผาพลาญน้ำตาลให้เป็นพลังงาน
– ช่วยขับพยาธิ
ใบ
– ใบสดนำมาต้มดื่ม แก้อาการร้อนใน
– น้ำต้มจากใบใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
– ใบสดนำมาขยำ ก่อนพอกประคบรักษาแผล ช่วยห้ามเลือดของแผล
– ใบสดนำมาเคี้ยว ช่วยแก้อาการเหงือกอักเสบ
– น้ำต้มจากใบใช้อาบ แก้ผดผื่นคันตามผิวหนัง
ราก
– รากนำมาล้างน้ำแล้วต้มดื่ม ลดอาการคันคอ ช่วยบรรเทาอาการไอ
– น้ำต้มจากรากแก้อาหารอักเสบในลำคอ
– น้ำต้มใช้เป็นยาแก้หอบหืด
– น้ำต้มใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
– รากสดนำมาเคี้ยว ช่วยบรรเทาอาหารเหงือกบวม เหงือกอักเสบ และบรรเทาอาการปวดฟัน
เพิ่มเติมจาก : [1], [4]
การปลูกมะเขือเปราะ
วิธีเพาะกล้า
เมล็ดจากผลสุกในแปลง ให้แยกเมล็ดออก และเก็บรักษาในห่อผ้านาน 1-2 เดือน หากเป็นเมล็ดพันธุ์จากตลาดสามารถใช้เพาะได้ทันที
เตรียมแปลงเพาะขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวตามปริมาณที่ต้องการเพาะ ให้พรวนดิน พร้อมกำจัดวัชพืชออกก่อน จากนั้น หว่านปุ๋ยคอกรองพื้น 1 ถัง/ตารางเมตร ก่อนคลุกพรวนด้วยจอบ ก่อนนำเมล็ดหว่านลงแปลง พยายามให้เมล็ดห่างกัน 2-4 เซนติเมตร หลังจากนั้น ใช้คราดเกลี่ยหน้าดินตื้นให้กลบเมล็ด ก่อนรดน้ำให้ชุ่ม และดูแลให้น้ำต่อเนื่อง วันละ 1 ครั้ง ในช่วง 7 วันแรก จากนั้น ลดเหลือ 2 วัน/ครั้ง เมื่ออายุกล้าได้ประมาณ 10-15 วัน จึงย้ายปลูกลงแปลงต่อ ทั้งนี้ อาจเพาะในกะบะเพาะก็ได้
การเตรียมแปลงปลูก
แปลงปลูกจะต้องไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืชอย่างน้อย 1 ครั้ง จากนั้น หว่านรองพื้นด้วยปุ๋ยคอก 1-2 ตัน/ไร่ ก่อนไถพรวนแปลงอีกรอบ
การปลูกเป็นแถว หากต้องการทำร่องปลูก ให้หว่านโรยปุ๋ยคอกตามร่องก่อน และไม่ต้องหว่านรองพื้นตอนไถกลบ
วิธีย้ายกล้า และการปลูก
การย้ายกล้าปลูก ควรดูแลกล้าจนมีอายุประมาณ 10-15 วัน หรือแตกใบจริงแล้ว 3-5 ใบ โดยรดน้ำให้ชุ่มก่อนถอนย้ายกล้า และต้องเตรียมแปลงให้เสร็จก่อน
ขุดหลุมปลูก ลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร เรียงเป็นแถวๆ ระยะห่างระหว่างต้น และแถว ประมาณ 80-100 เซนติเมตร หลังจากปลูกรดน้ำให้ชุ่ม
การให้น้ำ
หลังการปลูก 7-14 วันแรก ควรให้น้ำทุกวัน จากนั้น ลดเหลือ 2 วัน/ครั้ง แต่ต้องให้ชุ่มในทุกครั้ง จนอายุมะเขือได้ประมาณ 2 เดือน จึงลดเหลือประมาณ 3 ครั้ง/อาทิตย์
การใส่ปุ๋ย
หลังปลูกแล้ว 20-25 วัน ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 รอบโคนต้น ประมาณต้นละ 1 หยิบมือ และให้อีกรอบเมื่อต้นอายุได้ 45-50 วัน ในสูตร 12-12-24 ในอัตราเท่าเดิม ทั้งนี้ ควรให้ปุ๋ยคอกร่วมด้วยอย่างน้อย 1 ครั้ง
การกำจัดวัชพืช
หลังปลูกแล้ว 20-30 วัน ให้กำจัดวัชพืชด้วยจอบถากหรือใช้มือถอน และอีกครั้งเมื่ออายุครบ 2 เดือน หรือกำจัดเมื่อพบเห็นวัชพืช
การเก็บผลผลิต
หลังปลูกประมาณ 45-60 วัน มะเขือเปราะจะเริ่มติดผล และทยอยเก็บผลได้หลังจากปลูก 60-80 วัน และเก็บต่อเนื่องนานกว่า 4-5 เดือน ทั้งนี้ การเก็บผล ควรใช้กรรไกรตัดขั้วผล ไม่ควรใช้มือเด็ด เพราะอาจทำให้ยอดขาดหรือโคนต้นถอนได้ แต่หากใช้มือต้องมีความชำนาญ และระมัดระวังเป็นพิเศษ
ขอบคุณภาพจาก www.bansuanporpeang.com/, Pantip.com/, vegetweb.com/, บริษัท 108 เทคโนฟาร์ม จำกัด
เอกสารอ้างอิง
[1] หมอชาวบ้าน, มะเขือเปราะลดน้ำตาลในเลือด, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2560, เข้าถึงได้ที่ : https://www.doctor.or.th/article/detail/5704/.
[2] สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2560, เข้าถึงได้ที่ :
[3] กองโภชนาการ, 2544, ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.
[4] mcpswis.mcp.ac.th/, กินผักอย่างไรให้ได้ประโยชน์, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://mcpswis.mcp.ac.th/html_edu/cgi-bin/mcp/main_php/print_informed.php?id_count_inform=12384/