ปลูกสะระแหน่

‘‘สะระแหน่’’ เป็นทั้งพืชสวนครัวและพืชสมุนไพรในตัว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mentha Cordifolia Opig ชื่อภาษาอังกฤษ ‘‘Kitchen mint’’ สะระแหน่เป็นไม้เลื้อยคลุมดินมีลำต้นสีแดง ชาวยุโรปมักเรียกกันว่า ‘‘มิ้น’’ หรือ ‘‘Mint’’ มีถิ่นกำเนิดจากตอนใต้ของยุโรป แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นำเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 โดยชาวอิตาลีที่ชื่อว่า ‘‘มิสเตอร์ สะระนี่’’ คนไทยเลยตั้งชื่อพืชชนิดนี้ตามชื่อคนนำเข้ามาและเรียกตามภาษาปากของคนไทยว่า ‘‘สะระแหน่’’

นอกจากเป็นพืชคลุมดินแล้ว สะระแหน่ยังจัดเป็นพืชล้มลุกแต่มีอายุนานพอสมควร มีลำต้นเลื้อยไปกับดิน แตกกิ่งใบแผ่กว้าง มีขนสั้นอ่อนนุ่มปกคลุมทั้งลำต้น และใบมีกลิ่นหอม ใบเดี่ยวออกตรงข้าม ก้านใบสั้นเป็นรูปวงรีรูปไข่ ขอบใบหยักเป็นซี่คล้ายใบเลื่อย คุณสมบัติพิเศษที่น่าสนใจของสะระแหน่คือ ทั้งต้นและใบมีน้ำมันหอมระเหยซึ่งประกอบด้วย เมนทอล (Menthol) ไลโมนีน (Limonene) เอทิล อะไม คาร์บินอล (Ethyl amyl carbinol) และ นีโอเมนทอล (Neo-menthol) มีคุณสมบัติทางยาใบมีรสขมร้อน ช่วยขับเหงื่อ แก้ปวดท้อง ขับลมในกระเพาะอาหารแก้อาการจุกเสียด แน่นเฟ้อ และยังแก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ตัวอย่างง่าย ๆ ช่วยย่อยอาหารและขับเหงื่อด้วยการนำใบสะระแหน่ไปชงในน้ำร้อนจิบแบบจิบน้ำชา รับประทานเป็นอาหารโดยเป็นผัก รับประทานเป็นเครื่องเคียงกับอาหารจำพวกยำ เช่น ยำปลาทู พล่ากุ้ง พล่าเนื้อ ลาบน้ำตก ซึ่งเป็นอาหารที่มีอัตลักษณ์เฉพาะของคนไทยใบสะระแหน่เป็นเครื่อง ชูรส ชูกลิ่น รวมทั้งเป็นผักเคียงด้วย คนไทยจึงต้องมีสะระแหน่อยู่ในสำรับไทยอยู่เสมอทั่วทุกหนแห่ง

เกริ่นนำกันมานานก็เพื่อให้รู้ถึงคุณสมบัติเฉพาะของสะระแหน่ที่อยู่คู่กับครัวไทยมานมนานและจะขาดจากกันไม่ได้นั่นหมายความว่าเราต้องกินต้องใช้สะระแหน่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ยังมีเกษตรกรรายย่อย ปลูกสะระแหน่ขายกัน พอสมควรเพียงแต่ไม่ได้ปลูกในพื้นที่กว้างใหญ่เหมือนนาข้าวหรือพืชไร่บางชนิด ด้วยเหตุนี้บางช่วงฤดูกาลเราจะหาใบสะระแหน่แทบไม่ได้และช่วงนั้นราคาแพงมาก โดยเฉพาะช่วงร้อนแล้ง สะระแหน่จะโตช้าแม้จะให้น้ำตลอดเวลาก็ตาม แต่สะระแหน่ก็ใช้น้ำปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับพืชไร่อีกหลายตัว

คุณประทุม สนศิริ อายุ 51 ปี เกษตรกรนาข้าว อยู่บ้านเลขที่ 67 หมู่ 12 ตำบลวัดพริก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 65230 (โทร.08-7196-4336) เล่าให้ฟังว่า เป็นชาวนาตั้งแต่เด็กทำนาข้าวต่อจากพ่อ-แม่ จนมีครอบครัว มีพืชผักสวนครัวเล็ก ๆ น้อยจำพวกพริก ผัก มะเขือ ฟักแฟงทั้งหลายปลูกแซมไว้เก็บกินก็ทำแบบนี้มาตลอด และเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เห็นเพื่อนบ้านที่ชื่อ ‘‘ป้าณี’’ ปลูกใบบัวบก และสะระแหน่ เห็นเขาขายได้ทุกวัน เพราะมีคนมารับซื้อถึงที่และช่วงเวลานั้นอยากจะหารายได้เสริมจากนาข้าวเพราะราคาข้าวไม่ค่อยมั่นคง รัฐบาลบอกว่าจะช่วยเหลือแต่ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความมั่นคงและคุณภาพชีวิตเท่าไหร่ เมื่อเห็น ‘‘ป้าณี’’ ปลูกสะระแหน่แล้วมีคนมารับซื้อถึงที่และซื้อ-ขายกันทุกวันจึงอยากจะปลูกสะระแหน่เป็นรายได้เสริมบ้าง คิดได้ดังนี้จึงไปขอกิ่งพันธุ์สะระแหน่ของป้าณี มาปลูกในพื้นที่ข้างบ้าน ซึ่งมีพื้นที่อยู่ 50 ตารางวา หลังจากศึกษาและดูวิธีการปลูกจนมั่นใจแล้วจึงจัดการไถที่ดินข้างบ้านให้ร่วนละเอียด รดน้ำให้ชุ่มชื้นขุดหลุมลึก 5-6 เซนติเมตร กว้างยาว 10 เซนติเมตร ทิ้งหลุมห่าง 15 เซนติเมตร นำกิ่ง (ต้น) สะระแหน่ปักชำลงไป หลุมละ 4 ต้น ขนาดความยาวของต้นราว 10-12 เซนติเมตรจากนั้นใช้ดินกลบรดน้ำให้ชุ่มชื้นตลอด ทั้งเช้า-เย็น แต่ต้องมีสแลนคลุมไม่ให้สะระแหน่ถูกแดดแรงเกินไป ในช่วงแรกไม่ต้องใช้ปุ๋ยอะไรเลยจะใช้น้ำหมักชีวภาพในอัตราส่วน 1:20 ก็ได้ จะช่วยให้สะระแหน่เติบโตเร็วสมบูรณ์มากขึ้นโดยใช้สัปดาห์ละครั้ง ต้นจะเริ่มแตกและเลื้อยไปตามพื้นแปลงดินที่ปลูกจนคลุมพื้นที่ทั้งหมดใช้เวลาราว 45-50 วัน ต้นจะโตสมบูรณ์มีกิ่งก้านสาขา ช่วงนี้ตัดเก็บมัดเป็นกำขายได้เลย ราคาแล้วแต่สถานที่

ที่จังหวัดพิษณุโลกรับซื้อสะระแหน่กำละ 5 บาท มีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ขนาดมัดเป็นกำหนัก 50 กรัม (เฉพาะสะระแหน่) เพราะฉะนั้น 1 กิโลกรัม นำสะระแหน่มามัดเป็นกำได้ 20 กำ คิดเป็นเงิน 100 บาท วันหนึ่งตัดสะระแหน่ได้ 120 กำ หรือ 6 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 10 ตารางวา คิดเป็นรายได้วันละ 600 บาท ในรอบ 15 วันบำรุงต้นดี ๆ กลับมาตัดได้อีก ถ้ามีพื้นที่ 200 ตารางวา แบ่งเป็นแปลง ๆ ละ 10 ตารางวาได้ 15 แปลงในพื้นที่กว่า 10 ตารางวาถึงจะได้ 6 กิโลกรัม ตัวเลขที่ยกมานี้เผื่อปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่ไว้ให้แล้ว ถ้าเกษตรมีพื้นที่ 1 ไร่ ก็จะได้ผลผลิตอย่างน้อยวันละ 10-12 กิโลกรัม ในรอบ 1 เดือน วนเวียนเป็นเช่นนี้เรื่อยไป นั่นหมายความว่าท่านจะมีรายได้เดือนละ 30,000-36,000 บาท เป็นรายได้ที่ดีกว่าทำนาข้าวมากเพราะระยะเวลาผลิตสั้นกว่าพื้นที่น้อยกว่า ค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เพียงแต่ขยันดูแลจัดเก็บทุกวัน

ในด้านของการดูแลรักษาสะระแหน่เป็นพืชที่ชอบความชุ่มชื้นแต่ไม่ชอบชื้นแฉะและไม่ชอบแดดแรง เกษตรกรต้องรดน้ำแบบพรม ๆ โดยใช้สปริงเกอร์เช้าเย็นหรือจะเดินท่อแบบน้ำหยดก็ได้เป็นการประหยัดน้ำ ส่วนศัตรูพืชมีหนอนเขียวกับเชื้อรากินใบต้องหมั่นคอยดูแลจะใช้ชีวภาพสำหรับฆ่าหนอนก็ได้แต่เกษตรกรต้องศึกษาเพิ่มเติม การใช้ชีวภาพต้องใช้บ่อยเพื่อป้องกัน แต่ถ้าแมลงลงได้กัดกินแล้วก็ต้องใช้สารเคมีไม่งั้นเอาไม่อยู่ ส่วนการใช้สารเคมีก็ต้องใช้ตามขนาดและปริมาณที่กำหนดอย่างเคร่งครัด สำหรับหนอนเขียว แค่ฉีดพ่นพอได้กลิ่นหนอนก็ไม่มาแล้ว ใช้ 1 ครั้งต่อเดือนก็เพียงพอ ผสมน้ำให้เจือจางกว่าที่กำหนดก็ได้ ส่วนเชื้อราฉีดพ่นตามข้อกำหนดเพียงแค่นี้ท่านก็จะได้สะระแหน่ที่สมบูรณ์พร้อมเก็บจำหน่าย ซึ่งสวนมีพื้นที่ปลูกประมาณ 1 ไร่ มีรายได้จากการปลูกสะระแหน่ ขายเป็นรายได้เสริมมีรายได้วันละ 600-800 บาทขึ้นอยู่กับว่าตลาดมีความต้องการมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้เกษตรกรต้องเตรียมผลผลิตให้พร้อมจำหน่ายได้ตลอดเวลา