ธาตุสังกะสี Zn

เป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการในปริมาณที่น้อย แต่ขาดไม่ได้ หรือเรียกว่า “จุลธาตุ”
สังกะสีจะทำหน้าที่ร่วมในกระบวนการอ๊อกซิเดชั่น ของเซลล์พืช ช่วยในการเคลื่อนย้ายคาร์โบไฮเดรท การควบคุมการใช้น้ำตาลของพืช เป็นตัวร่วมในการผลิตคลอโรฟิลล์ และเป็นส่วนประกอบของอ๊อกซิน และฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของพืช
ธาตุสังกะสีจึงมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับขบวนการทางชีวเคมีต่างๆ ของพืช ได้แก่
1.ขบวนการ การสังเคราะห์แสง และการสร้างน้ำตาล
2.การสังเคราะห์โปรตีน
3.การเจริญพันธุ์ และการเพาะเมล็ด
4.การเจริญเติบโตของพืช
5.การตัานทานต่อโรคพืช

อาการของพืชเมื่อขาดธาตุสังกะสี
ธาตุสังกะสีเป็นธาตุที่ไม่เคลื่อนย้ายถ่ายเทได้ เมื่อพืชขาด จะมีอาการแสดงให้เห็นจากส่วนปลายหรือยอดก่อนแล้วจึงเคลื่อนลงมาหาโคนพืช
– อาการขาดสังกะสี จะมีอาการเหมือนขาดแมกนีเซี่ยม คือ สีใบจะซีดจางลง โดยเริ่มจากขอบใบเข้ามาด้านใน (เส้นใบยังสีเขียวอยู่) ขนาดของใบจะเล็กลง (อาจมีรูปร่างผิดปกติ) แคระแกรน ใบจะงอกเป็นกระจุก ส่วนยอดหรือปลายจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือไม่ก็สีขาวซีด เช่นข้าวโพด จะแสดงอาการที่ส่วนยอดหรือปลาย คือจะทำให้มีสีขาวซีด ใบอ่อนจะม้วนกลมเป็นช่อไม่คลี่ออกเหมือนใบปกติ
– พืชที่พบอาการขากสังกะสีบ่อยๆ เช่น พืชตระกูลส้ม มะนาวต่างๆ จะแสดงอาการ ใบเรียวเล็ก เนื้อใบเหลืองด่าง และเส้นใบจะมีสีเขียว สลับกันเป็นลาย (ชาวบ้านจะเรียกว่าโรคใบแก้ว) ส่วนยอดหรือปลายแขนงที่แตกใหม่จะแห้ง ผลมีสีซีดจาง เปลือกหนาหรืออาจบางกว่าธรรมดา เนื้อในแกนฟ่ามแห้ง มีน้ำน้อย
– ดินที่ขาดธาตุสังกะสี มักจะเป็นดินที่ถูกน้ำท่วม หรือดินที่มีน้ำขังอยู่เป็นเวลานานๆ

การแก้การขาดธาตุสังกะสี
คือการให้ปุ๋ยที่มีส่วนผสมของธาตุสังกะสีอยู่ ซึ่งธาตุสังกะสีที่ใส่ในปุ๋ยมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่
1.สารประกอบอนินทรีย์ รูปของ สังกะสีซัลเฟต (ละลายในน้ำได้ดี) ประสิทธิภาพจึงดีกว่าสารอนินทรีย์ประกอบของสังกะสีในรูปอื่นๆ
2.สารประกอบอินทรีย์ ได้แก่ คีเลตสังเคราะห์ของธาตุสังกะสีต่างๆ เช่น Zn-EDTA , Zn- HEDTA ฯลฯ
*** การฉีดธาตุสังกะสี ให้กับพืชโดยตรง จะให้ผลที่ดีกว่า การให้ธาตุสังกะสีทางดิน***
**ปัจจุบัน สารเคมีเพื่อการค้า จะมีส่วนผสมของธาตุสังกะสีด้วย ซึ่งอาจจะใช้เป็นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา และการแก้การขาดธาตุสังกะสีได้พร้อมกันด้วย**