ธาตุฟอสฟอรัส P

มีหน้าที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของรากพืช (จะมีระบบรากที่แข็งแรงแพร่กระจายในดินอย่างกว้างขวาง สามารถดึงดูดน้ำและธาตุอาหารได้ดี) ควบคุมการออกดอกออกผล (ได้อย่างรวดเร็วขึ้น) และการสร้างเมล็ด ธาตุฟอสฟอรัสในดิน จะเกิดจากการสลายตัวผุพังของแร่บางชนิดใน และการสลายตัวของสารอินทรีย์วัตถุในดินก็สามารถปลดปล่อยฟอสฟอรัสออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ ซึ่งการใช้ปุ๋ยคอกนอกจากจะได้ธาตุไนโตรเจนแล้ว ยังได้ฟอสฟอรัสอีกด้วย
การนำธาตุฟอสฟอรัสไปใช้ของพืช

ธาตุฟอสฟอรัส พืชจะสามารถนำไปใช้ได้ต้องอยู่ในรูปของอนุมูลของสารประกอบที่เรียกว่า “ฟอสเฟต ไอออน” ซึ่งต้องละลายอยู่ในน้ำในดิน (ดูเรื่องของดิน “น้ำในดิน”ถ้ายังไม่เข้าใจครับ)สารประกอบของฟอสฟอรัสในดินจะมีอยู่จำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่แล้วจะละลายน้ำยาก ดังนั้นจึงมักจะมีปัญหาเสมอว่า ถึงแม้ดินมีฟอสฟอรัสมากก็จริง แต่พืชก็ยังขาดฟอสฟอรัส เพราะส่วนใหญ่อยู่ในรูปที่ละลายน้ำยากนั่นเอง อีกประการคือ อนุมูลฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้ จะถูกตรึงได้ง่าย พืชสามารถจะนำฟอสเฟตไปใช้ได้ 10-25% จากปริมาณที่เราใส่ให้กับพืช เช่น ดินที่เป็นกรด (pH ต่ำ) ฟอสเฟตจะถูกตรึงโดยโลหะ จากธาตุ Fe , Al , และ Mn สำหรับดินที่มีค่า pH สูง จะถูกตรึงโดย ธาตุ Ca , Mg
อาการของพืชเมื่อขาด ฟอสฟอรัส
1.ต้นแคระแกรน รากของพืชจะชะงักการเจริญเติบโต
2.ใบพืชขยายขนาดช้า จำนวนใบน้อย และเล็กลง ใบร่วงเร็วกว่าปกติ
3.ใบพืชจะมีสีเขียวคล้ำ ใบล่างๆ จะมีสีม่วงตามบริเวณขอบใบ