อะนิลาซีน
(anilazine)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อราที่มีสาร triazine เป็นองค์ประกอบ ออกฤทธิ์ให้ผลในทางป้องกันโรคพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 5,000 มก./กก. อาจทำให้ผิวหนังเกิดอาการระคายเคือง
โรคพืชที่กำจัดได้ โรค blight ของมันฝรั่ง โรคแอนเทรคโนส โรคราน้ำค้าง โรค early blight โรค late blightและโรคที่เกิดจากเชื้อ Helminthosporium spp., Botrytis spp., Rhizoctonia spp., และ Septoria spp.
พืชที่ใช้ ยาสูบ สตรอเบอร์รี่ คื่นฉ่าย พืชตระกูลแตง หอม กระเทียม มันฝรั่ง ฟักทอง มะเขือเทศและแตงโม
สูตรผสม 50% และ 75% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ฉีดพ่นให้ทั่วต้นพืชและอย่างสม่ำเสมอ ใช้ซ้ำทุก 4-10 วัน ตามความจำเป็น
ข้อควรรู้ – เป็นพิษต่อปลา
– ไม่เข้ากับสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นด่าง
– ผสมกับสารกำจัดแมลงและสารกำจัดเชื้อราอย่างอื่น ๆ ได้
บีนาแล๊กซิล
(benalaxyl)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อรา acylanilide ประเภทดูดซึม ให้ผลทั้งในด้านป้องกันรักษาและกำจัดโรคพืช ดูดซึมเข้าไปในต้นได้โดยผ่านทางใบและราก เป็นสารยับยั้งการงอกของสปอร์
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 4,200 มก./กก. ทางผิวหนัง (หนู) มากกว่า 5,000 มก./กก.
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคราน้ำค้าง โรคไฟท๊อพโตรา (Phytophthora) โรคราน้ำเงิน (Blue mold) โรค Late blight และโรคพืชอื่น ๆ
พืชที่ใช้ มะเขือเทศ มันฝรั่ง ยาสูบ องุ่น พริกไทยและผักกาดหอม
สูตรผสม 25% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมกับน้ำกวนให้เข้ากันดีแล้วฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืช เมื่อพบเห็นว่ามีโรคพืชเกิดขึ้น
อาการเกิดพิษ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองดวงตา ผิวหนังและเยื่อบุช่องทางหายใจ ถ้าเข้าสู่ร่างกายจะเวียนศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย แขนขากระตุกและชัก
การแก้พิษ ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง ถ้าเข้าปาก ทำให้คนไข้อาเจียนด้วยการล้วงคอหรือให้ดื่มน้ำเกลืออุ่น 1 แก้วแล้วนำส่งแพทย์ สำหรับแพทย์ รักษาคนไข้ตามอาการ ห้ามมิให้คนไข้กินหรือดื่มอาหารที่มีไขมันและแอลกอฮอล์
ข้อควรรู้ – ผสมใช้ร่วมกับสารกำจัดเชื้อราอย่างอื่นได้
– อย่าผสมกับสารที่มีฤทธิ์เป็นด่าง
– เป็นอันตรายต่อปลา
– ระยะเวลาที่ใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว 7 วัน
บีโนมิล
(benomyl)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อรา benzimidazole:MBC ประเภทดูดซึมโดยผ่านทางใบ และราก
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) มากกว่า 10,000 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 10,000 มก./กก.
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคใบจุด โรคแอนแทรคโนส โรคราแป้ง โรคสะแคป โรคราดำ โรคใบไหม้ โรคกาบใบแห้ง โรคจุดสีน้ำตาล โรคกาบใบเน่า โรคเน่าคอดิน โรคซิกาโตก้า (Sigatoka) โรคเซอร์โคสปอร์รา
พืชที่ใช้ ถั่ว พริกไทย มะเขือเทศ ผักกาด ส้ม มะม่วง เงาะ ข้าว คื่นฉ่าย ผักชี กล้วย ฝ้าย หม่อน สตรอเบอร์รี่ อ้อย องุ่น กะหล่ำปลี แตง ฟักทอง สัปปะรด ไม้ผล ไม้ดอกและไม้ประดับทั่วไป
สูตรผสม 50% ดับบลิวพี และ 50% โอดี
อัตราใช้และวิธีใช้ ชนิด 50% ดับบลิวพี กำจัดโรคพืช ใช้อัตรา 6-12 กรัม ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ชนิดอื่นใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมกับน้ำกวนให้เข้ากันดี แล้วฉีดพ่นให้ทั่วใบพืชทั้งต้น เมื่อพบเห็นว่ามีโรคพืช ช่วงระยะใช้ควรห่างกัน 10-12 วันต่อครั้ง
อาการเกิดพิษ อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนังและดวงตา จมูกและลำคอเมื่อสัมผัสถูก
การแก้พิษ ถ้ามีอาการของพิษเกิดขึ้นที่ผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดนาน ๆ ในกรณีที่ผู้ป่วยกินเข้าไปและยังมีสติอยู่ ต้องทำให้อาเจียนหรือล้างท้องคนไข้ก่อน แล้วรักษาตามอาการ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ
ข้อควรรู้ – ระยะเวลาที่ใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว 7-28 วัน
– ในระหว่างเก็บ อย่าให้ผลิตภัณฑ์ถูกกับความชื้น
– อย่าผสมกับสารกำจัดศัตรูพืชอื่นที่มีฤทธิ์เป็นด่าง
– เป็นพิษต่อปลา
– ให้ผลดีทั้งในด้านการป้องกันและกำจัดโรคพืชให้หมดไป
– ออกฤทธิ์กำจัดไข่ปลวกได้
– ผสมได้กับสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ
บิเทอร์ทาโนล
(bitertanol)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อราที่เป็นสารประกอบของ triazine ออกฤทธิ์ในทางดูดซึม
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 5,000 มก./กก.
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคราแป้ง โรคราสนิม (rusts) โรคสะแคป โรคเซอร์โคสปอรร์รา โรคใบจุด โรคเน่าสีน้ำตาลและโรคอื่น ๆ
พืชที่ใช้ ฝ้าย ถั่วลิสง สตรอเบอร์รี่ กล้วย ถั่วเหลือง และผักต่าง ๆ
สูตรผสม 25% และ 50% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ฉีดพ่นที่ใบพืชก่อนที่โรคจะปรากฏ ใช้ซ้ำได้ตามความจำเป็น
ข้อควรรู้ – เป็นพิษต่อปลา
– ใช้ผสมฉีดพ่นร่วมกับสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ ได้
– ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศ
บลาสติซิดิน – เอส
(blasticidin – S)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อราปฏิชีวนะ (antibiotic fungicide) ออกฤทธิ์ในทางสัมผัสและให้ผลในเชิงป้องกันและรักษาโรคพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 56.8 มก./กก. ทางผิวหนัง (หนู) 3,100 มก./กก. ทำให้ดวงตาระคายเคือง
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคบลาสของข้าว (Pyricularia oryzae)
พืชที่ใช้ ข้าว
สูตรผสม 2% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมกับน้ำกวนให้เข้ากันดีแล้วฉีดพ่นที่ใบให้ทั่ว เมื่อตรวจพบว่ามีโรคบลาสเกิดขึ้นในนาข้าว ใช้ซ้ำได้ตามความจำเป็น
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ ในกรณีที่เข้าปาก ต้องทำให้คนไข้อาเจียนแล้วรักษาตามอาการ ในกรณีที่รับพิษโดยการสัมผัส ถ้าเป็นที่ผิวหนังต้องล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ ถ้าเข้าตาต้องล้างตาด้วยน้ำสะอาดนานอย่างน้อย 15 นาที
ข้อควรรู้ – หลีกเลี่ยงอย่าให้ละอองสารนี้ถูกกับผิวหนัง
– การใช้อัตราสูงกว่าที่แนะนำบนฉลากอาจทำให้ใบเป็นจุด
– เป็นพิษต่อปลาเล็กน้อย
– ห้ามผสมกับสารกำจัดศัตรูพืชที่มีฤทธิ์เป็นด่าง
– เมื่อผสมกับน้ำควรใช้ทันที
บอร์โดมิกซ์เจอร์
(Bordeaux mixture)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อราอนินทรีย์ (inorganic) ที่ได้จากการผสมระหว่างทองแดง (coppen) กับ ปูนขาว (lime) ให้ผลในทางป้องกันโรคพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก มากกว่า 4,000 มก./กก.
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคราน้ำค้าง โรคสะแคป โรคใบไหม้ โรคราสนิม โรคใบจุด โรคเน่าดำ โรคมีลาโนส (melanose) โรคแอนแทรคโนสและโรคอื่น ๆ
พืชที่ใช้ ไม้ผล ผักต่าง ๆ ธัญพืช ยาสูบ ยางพารา กล้วย ถั่ว ส้ม แตง มะเขือ องุ่น หอม พริกไทย มันฝรั่ง สตรอเบอร์รี่ มะเขือเทศ ไม้ดอกและไม้ประดับทั่วไป
สูตรผสม 50% , 60% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก เมื่อผสมกับน้ำแล้วให้ใช้ทันที ใช้ก่อนที่โรคพืชจะเกิดระบาดรุนแรงและใช้ซ้ำตามความจำเป็น ในการฉีดพ่นที่ใบ ควรฉีดพ่นให้ทั่วถึง โดยเฉพาะกับใบที่เกิดใหม่
ข้อควรรู้ – อย่าเก็บไว้ในภาชนะที่เป็นโลหะ
– อย่าปล่อยให้สารผสมอยู่ในถังฉีดพ่นเป็นเวลานาน ๆ
– ไม่เข้ากับสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ เกือบทุกชนิด
– ขณะผสมและฉีดพ่นต้องคอยกวนหรือเขย่าให้ทั่วอยู่เสมอ
– เป็นสารขับไล่แมลงได้หลายชนิด
บรูโนลินัม พลานทาเรียม
(Brunolinum planetarium)
การออกฤทธิ์ กำจัดเชื้อรา
ความเป็นพิษ ทำให้ผิวหนัง ดวงตาและทางหายใจ เกิดอาการระคายเคือง เมื่อถูกผิวหนังโดยตรงจะทำให้ผิวหนังไหม้ ถ้ากลืนกินเข้าไปจะทำให้มีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้อง ตับและไตจะถูกทำลาย
ประโยชน์ ใช้ทาหรือพ่นเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพืชที่เกิดกับยางพารา และส่วนที่ถูกกรีดเพื่อเอาน้ำยาง
การแก้พิษ ในกรณีเกิดพิษที่เนื่องจากหายใจเข้าไป ให้ย้ายคนไข้ไปอยู่ในพื้นที่ ๆ มีอากาศบริสุทธิ์ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดนาน 15 นาที ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ แล้วไปหาแพทย์ ถ้ากลืนกินเข้าไป อย่าทำให้คนไข้อาเจียน ให้ดื่มน้ำหรือนมสดมาก ๆ แล้วไปหาแพทย์ สำหรับแพทย์ ควรล้างท้องคนไข้ซ้ำหลาย ๆ ครั้งด้วยน้ำยาแม็กนีเซียมหรือโซเดียม ซัลเฟท
บูธิโอเบท
(buthiobate)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อรา Pyridine ที่ออกฤทธิ์ให้ผลทั้งในทางป้องกันและรักษาโรคพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 3,200 มก./กก. (หนู) ทางผิวหนัง (หนู) มากกว่า 5,000 มก./กก.
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคราแป้ง โรคบลาส(Blast) โรคใบจุด โรคกาบใบไหม้ โรคราน้ำค้าง โรคโคนเน่า โรคแอนแทรคโนส
พืชที่ใช้ ไม้ผล ผักต่าง ๆ แตงกวา มะเขือ มันฝรั่ง พริกไทย ยาสูบ สตรอเบอร์รี่ ถั่ว ไม้ดอกและไม้ประดับทั่วไป
สูตรผสม 10% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมกับน้ำ กวนให้เข้ากันดีแล้วฉีดพ่นทั้งใต้ใบและบนใบให้ทั่วต้นพืช เมื่อปรากฏว่ามีโรคพืชในพื้นที่เพาะปลูก ใช้ซ้ำได้ทุก 7-10 วัน
ข้อควรรู้ – ใช้กำจัดโรคราแป้งที่มีความต้านทานต่อสารกำจัดเชื้อราชนิดอื่น
– อาจผสมกับสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ ได้
– เป็นพิษต่อปลาค่อนข้างน้อย
แคลเซียม โปลี่ซัลไฟด์
(calcium polysulphide)
การออกฤทธิ์ เป็นสารประกอบอนินทรีย์ที่ใช้กำจัดได้ทั้งโรคพืช ไรและแมลงที่อยู่ตามใบพืช
ความเป็นพิษ มีพิษปานกลาง ทำให้ผิวหนังระคายเคืองและดวงตาเสียหาย
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคราแป้ง โรคแอนแทรคโนส โรคสะแคป โรคเน่าสีน้ำตาล รวมทั้งแมลง ไรและเพลี้ยหอย
พืชที่ใช้ ถั่วเหลือง องุ่นและไม้ผลทั่วไป
สูตรผสม 17-31% (น้ำ) , 65-70% (ผงแป้ง) , 29% แอล
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้ตามคำแนะนำบนฉลาก
ข้อควรรู้ – ถ้าใช้ในสภาพที่มีอากาศร้อน จะทำให้ใบไหม้
– ไม่เข้ากับสารกำจัดศัตรูพืชหลายชนิด
– เป็นสารกัดกร่อนโลหะ
แคปตาโฟล
(captafol)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อรา dicarboximide ออกฤทธิ์ในทางสัมผัส ให้ผลในทางป้องกันโรคพืช โดยขัดขวางการงอกหรือเจริญเติบโตตองสปอร์เชื้อรา
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 5,000-6,200 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 15,400 มก./กก. อาจทำให้ผิวหนังเกิดผื่นคันขึ้นมาได้
โรคพืชที่กำจัดได้ ป้องกันและกำจัดเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคใบไหม้ (Blight) โรคแคงเคอร์ (canker) โรคราน้ำค้าง โรคเน่าสี้น้ำตาล โรคสะแคป โรคเน่าคอดิน โรคแอนแทรคโนส ราสีเทาและโรคอื่น ๆ รวมทั้งเชื้อราที่อยู่ในดิน
พืชที่ใช้ ทุเรียน ส้ม กาแฟ สัปปะรด ไม้ผลบางชนิด หอม มะเขือเทศ แตงโม แตงกวา ข้าวโพด มันฝรั่ง เมล็ดข้าว เมล็ดฝ้ายและเมล็ดถั่วลิสง
สูตรผสม 80% ดับบลิวพี และ 39% เอฟ (น้ำ)
ข้อควรรู้ – ปัจจุบันทางราชการไม่อนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายและใช้ในประเทศ
แคปแทน
(captan)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อรา dicarboximide ที่ให้ผลในทางป้องกัน รักษาและกำจัดโรคพืขให้หมดสิ้น
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 9,000 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 4,500 มก./กก.
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคสแคป โรคเน่าดำ โรคเน่าสีน้ำตาล โรคใบจุด โรค leaf spot , dead arm โรคราน้ำค้าง โรคใบไหม้ (leaf blight) โรคแอนแทรคโนส โรคเน่าคอดินและโรคอื่น ๆ
พืชที่ใช้ องุ่น แอสพารากัส ถั่วลันเตา คะน้า บรอคโคลี่ กะหล่ำปลี แคนตาลูป กะหล่ำดอก คื่นฉ่าย ส้ม มะม่วง หอม ถั่วลิสง พริกไทย สัปปะรด มันฝรั่ง ฟักทอง ข้าว ทานตะวัน ป่าน ปอ ข้าวฟ่าง ถั่วเหลือง ฝ้าย สตรอเบอร์รี่ มะเขือเทศ แตงโม ไม้ดอกและไม้ประดับทั่วไป
สูตรผสม 50% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ สำหรับพืชทั่วไปใช้อัตรา 30-50 กรัม ผสมกับน้ำ 20 ลิตร แล้วฉีดพ่นให้ทั่วใบพืชก่อนที่อาการของโรคจะปรากฏให้เห็น ในกรณีคลุกเมล็ดใช้อัตรา 3 กรัมต่อเมล็ด 1 กก.
อาการเกิดพิษ ทำให้ผิวหนัง ดวงตาและทางเดินระบบหายใจระคายเคือง
การแก้พิษ ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำจำนวนมาก ๆ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดนาน 15 นาที ในกรณีกลืนกินเข้าไป ต้องกระตุ้นให้ผู้ป่วยอาเจียนด้วยการล้วงคอหรือนำส่งแพทย์ สำหรับแพทย์ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ – เป็นพิษต่อปลา
– ห้ามผสมกับสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นด่างและน้ำมัน
คาร์เบ็นดาซิม
(carbendazim)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อรา benzimidazole:MBC ประเภทดูดซึมทั้งทางใบและทางราก ให้ผลในทางป้องกันและรักษาโรคพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 15,000 มก./กก. ทางผิวหนัง (หนู) มากกว่า 10,000 มก./กก.
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคใบไหม้ โรคกาบใบแห้ง โรคใบขีดสีน้ำตาล โรคราแป้ง โรคใบจุด โรคแอนแทรคโนส โรคสแคป โรคมีลาโนส โรคราสีเทา โรคใบจุดดำ โรคผลเน่า
พืชที่ใช้ ข้าว องุ่น ส้ม ถั่ว มะม่วง ยาสูบ กล้วย สัปปะรด กาแฟ ชา ผักต่าง ๆ พืชไร่ ไม้ดอกและไม้ประดับทั่วไป
สูตรผสม 50% ดับบลิวพี , 50% เอฟ (น้ำข้น)
อัตราใช้และวิธีใช้ กำจัดโรคพืชทั่วไปใช้อัตรา 6-12 กรัม ผสมกับน้ำ 20 ลิตร กวนให้เข้ากันดีแล้วฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืช เมื่อตรวจพบว่ามีโรคพืชปรากฏ ใช้ซ้ำทุก 7-14 วัน ในกรณีใช้แช่ท่อนพันธุ์อ้อย ใช้อัตรา 30-60 กรัม ผสมกับน้ำ 20 ลิตร
อาการเกิดพิษ ทำให้ผิวหนังและดวงตาระคายเคือง
การแก้พิษ ถ้าถูกผิวหนังหรือเข้าตาให้ล้างด้วยน้ำมาก ๆ ถ้ากลืนกินเข้าไป ต้องทำให้ผู้ป่วยอาเจียนโดยเร็วแล้วรักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ – ใช้ผสมกับสารกำจัดศัตรูพืชที่ใช้กันทั่ว ๆ ไปได้
– ไม่เป็นอันตรายต่อผึ้ง เป็นพิษต่อปลา
– ขัดขวางหรือยับยั้งการเพิ่มปริมาณของตัวไร
– ห้ามผสมกับสารที่มีฤทธิ์เป็นด่าง
– อย่าใช้ในสภาพที่มีอากาศร้อน
– ระยะเวลาที่ใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว 4 สัปดาห์
คาร์บ๊อกซิน
(carboxin)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อรา anilide ประเภทดูดซึมที่ใช้ป้องกันโรคที่เกิดกับเมล็ดด้วยการคลุกเมล็ด
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 3,820 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 8,000 มก./กก.
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคสมัท (Smuts) โรคเน่าคอดิน และโรคที่เกิดจากเชื้อ Rhizoctonia spp.
พืชที่ใช้ ข้าว ฝ้าย ถั่วเหลือง ข้าวโพด เมล็ดพืช ข้าวฟ่าง มะเขือเทศ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลีและอื่น ๆ
สูตรผสม 75% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ อัตราใช้แตกต่างกันออกไปตามชนิดของพืช โรคและวิธีใช้ จึงควรศึกษารายละเอียดจากฉลากก่อนใช้ทุกครั้ง
อาการเกิดพิษ ทำให้ผิวหนังระคายเคือง ถ้าเข้าตาอาจมีอาการอักเสบรุนแรง ถ้ากลืนกินเข้าไปจะทำให้ไม่สบาย คลื่นไส้ ปวดท้องและท้องเสีย
การแก้พิษ ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาด ถ้ากลืนกินเข้าไปและยังมีสติอยู่ ทำให้คนไข้อาเจียนด้วยการล้วงคอหรือให้ดื่มน้ำเกลืออุ่น สำหรับแพทย์ ให้รักษาตามอาการที่ปรากฏ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ
ข้อควรรู้ – ห้ามนำเมล็ดพืชที่คลุกด้วยสารนี้ไปเป็นอาหาร
– เป็นพิษต่อปลา
– กัดกร่อนโลหะ
– ผสมได้กับสารกำจัดศัตรูพืชที่ใช้กันทั่วไป
– ไม่คงตัวเมื่ออยู่ในดิน
คลอโรธาโลนิล
(chlorothalonil)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อรา phthalimide ออกฤทธิ์ให้ผลทางด้านป้องกันโรคพืชและได้ผลทางรักษาบ้างเล็กน้อย
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) มากกว่า 10,000 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) มากกว่า 10,000 มก./กก. ทำให้ดวงตา ผิวหนังและระบบทางเดินหายใจเกิดอาการระคายเคือง
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคใบจุด โรคราน้ำค้าง โรคแอนแทรคโนส โรคใบไหม้ โรครากำมะหยี่สีเขียว โรคตากบ โรคใบจุดสีน้ำตาล โรคกุ้งแห้ง โรคราสนิท และโรคใบจุดสีม่วง
พืชที่ใช้ พืชตระกูลกะหล่ำ ผักกาดขาว แตงกวา แตงโม มันฝรั่ง มะเขือเทศ ยาสูบ พริก ถั่วลิสง กระเทียม คื่นฉ่าย หอม มะละกอ ฟักทอง และถั่วเหลือง
สูตรผสม 75% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตรา 25-50 กรัม ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืชเมื่อพบเห็นว่ามีโรคพืชเริ่มระบาด ในขณะฉีดพ่นควรเขย่าถังผสมไปด้วย ใช้ซ้ำได้ตามความจำเป็น
อาการเกิดพิษ ถ้าถูกผิวหนัง ในรายที่แพ้จะมีอาการคันที่ผิวหนังและเป็นผื่นแดง ดวงตาแดง ท่อหายใจมีอาการระคายเคือง
การแก้พิษ ถ้าเกิดอาการพิษที่ผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดนาน 15 นาที ถ้าเข้าปากห้ามทำให้อาเจียน รีบนำคนไข้ส่งแพทย์ทันที สำหรับแพทย์ให้ล้างท้องคนไข้ แต่ถ้าคนไข้อาเจียนเอง ต้องรีบดูดสิ่งตกค้างจากช่องทางหายใจออกให้หมด แล้วรักษาตามอาการ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ
ข้อควรรู้ – ระยะเวลาที่ใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว 1-7 วัน
– เป็นอันตรายต่อปลา
– ผสมกับสารกำจัดศัตรูพืชชนิดอื่นได้
– ให้ผลในการกำจัดโรคพืชนาน
– ไม่กัดกร่อนโลหะ
– ห้ามเพิ่มสารลดความตึงผิว (Surfactants) หรือห้ามผสมกับปุ๋ยน้ำ
– ห้ามใช้กำจัดโรคหอมเกิน 6 ครั้ง
คอปเปอร์ แอมโมเนียม คาร์โบเนท
(copper ammonium carbonate)
การออกฤทธิ์ เป็นสารประกอบอนินทรีย์ที่ใช้ป้องกันโรคพืชทางใบ
ความเป็นพิษ มีความเป็นพิษน้อย อาจทำให้ดวงตาและลำคอระคายเคือง
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคใบจุด Angular โรคใบจุด Alternaria โรคใบจุด เซอร์โคสปอร์รา โรค Early และ Late blight โรคแอนแทรคโนส โรคมีลาโนส โรคราแป้ง โรคราน้ำค้างและโรคอื่น ๆ
พืชที่ใช้ พืชตระกูลถั่ว คื่นฉ่าย ส้ม แตง องุ่น พริกไทย มันฝรั่ง สตรอเบอร์รี่ มะเขือเทศ และอื่น ๆ
สูตรผสม อยู่ในรูป อีซีและเอสพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้ตามคำแนะนำบนฉลากในขณะที่พืชยังเล็กอยู่ และใช้อย่างต่อเนื่องห่างกันครั้งละ 5-7 วัน การใช้สารมาเน็บผสม จะช่วยให้สามารถกำจัดโรคพืชได้กว้างขวางมากขึ้น
ข้อควรรู้ – เป็นสารกัดกร่อนอลูมิเนียม
– เป็นพิษต่อปลา
– ห้ามผสมกับโอไมท์ (Omite) และ ดีเอ็นบีพี (DNBP)
– เมื่อใช้กับส้ม ห้ามใช้ร่วมกับสารที่มีลักษณะเป็นน้ำมัน
– เมื่อใช้แอมโมเนียมจะระเหยไป คงเหลือไว้แต่คอปเปอร์ไบคาร์โบเนท (Copper bicarbonate)
– ผสมกับสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ ได้
คอปเปอร์ ไฮดร๊อกไซด์
(copper hydroxide)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อราอนินทรีย์ (inorganic) ออกฤทธิ์ให้ผลทางด้านป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรีย
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 1,000 มก./กก. อาจทำให้ผิวหนังเกิดอาการระคายเคือง
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคใบจุดที่เกิดจากเชื้อ Cercospora spp. โรคแบคทีเรียล ไบล์ท (Bacterial blight) โรคแอนแทรคโนส โรคราน้ำค้าง โรคใบม้วน (Leaf curl) โรค Late blight โรค Angular leaf spot โรค Melanose โรคสะแคป (Scab) และโรคอื่น ๆ
พืชที่ใช้ กล้วย ถั่วต่าง ๆ บรอคโคลี่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก โกโก้ แตงแคนตาลูป แครอท คื่นฉ่าย เชอร์รี่ ส้ม กาแฟ แตงกวา องุ่น มะม่วง พริกไทย มะเขือ ฟักทอง สตรอเบอร์รี่ แอปเปิล มะเขือเทศ ผักกาดหอม มันฝรั่ง แตงโม และข้าวสาลี
สูตรผสม 35% และ 77% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมกับน้ำกวนให้เข้ากันดี แล้วฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืช เมื่อพบว่ามีโรคพืชเริ่มระบาด ใช้ซ้ำได้ทุก 10-14 วัน
อาการเกิดพิษ ทำให้ผิวหนัง ดวงตาและระบบหายใจเกิดอาการระคายเคือง
ข้อควรรู้ – ระยะเวลาที่ใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว 7 วัน
– เป็นพิษต่อปลา
– ผสมกับสารกำจัดศัตรูพืชอื่นได้เกือบทั้งหมด
คอปเปอร์ อ๊อกไซด์
(copper oxide)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อรา (inorganic) ออกฤทธิ์ในทางป้องกันโรคพืชและใช้คลุกเมล็ด
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 470 มก./กก.
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคสแคป (Scab) โรคสมัท (Smuts) โรคใบไหม้ (Blight) โรคเน่าคอดิน โรคเน่าสีน้ำตาลและสีดำ โรคใบจุด โรคราน้ำค้าง และโรคอื่น ๆ
พืชที่ใช้ กล้วย ถั่ว ข้าวโพด บรอคโคลี กะหล่ำปลี แคนตาลูป แครอท กะหล่ำดอก คื่นฉ่าย ส้ม โกโก้ กาแฟ แตงกวา มะเขือ กระเทียม องุ่น คะน้า หอม พริกไทย มันฝรั่ง ฟักทอง สตรอเบอร์รี่ มะเขือเทศ ไม้ดอกและไม้ประดับทั่วไป
สูตรผสม 75% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมน้ำกวนให้เข้ากันดีแล้วฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืชทุก 7-10 วัน
ข้อควรรู้ – ไม่ผสมกับ lime sulfur แต่ผสมได้กับสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ
– ไม่เป็นอันตรายต่อผึ้ง
คอปเปอร์ อ๊อกซี่คลอไรด์
(copper oxychloride)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อราอนินทรีย์ (inorganic) ออกฤทธิ์ให้ผลทางด้านป้องกันโรคพืชและแบคทีเรีย
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 1,440 มก./กก. มีพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมน้อยมาก
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคราน้ำค้าง โรคแอนแทรคโนส โรคมีลาโนส โรคสแคป โรคใบจุด โรคใบไหม้ โรคราสนิม โรคผลเน่า โรคแคงเคอร์
พืชที่ใช้ องุ่น ส้ม มะม่วง ถั่ว กล้วย มันฝรั่ง มะเขือเทศ ผักต่าง ๆ มะเขือ ชา กาแฟ ยาสูบ พริก มะนาว พืชตระกูลแตง หอม สตรอเบอร์รี่ พริกไทย ไม้ดอกและไม้ประดับทั่วไป
สูตรผสม 62% และ 85% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ชนิด 85% ใช้อัตรา 30-80 กรัม ผสมกับน้ำ 20 ลิตร กวนให้เข้ากันดีแล้วฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืช ใช้ซ้ำได้ตามความจำเป็นและเขย่าถังขณะฉีดพ่น
อาการเกิดพิษ ถ้าถูกผิวหนังจะทำให้แสบร้อนและอักเสบ ถ้าหายใจเอาละอองฝุ่นเข้าไปอาการจะเกิดขึ้นน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับปริมาณและละอองฝุ่นที่สูดดมเข้าไป ซึ่งอาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก มีรสโลหะอยู่ในปาก ถ้าเข้าปากจะมีอาการแสบร้อนในปากและคอ กระเพาะและลำไส้อักเสบ อาเจียน ท้องเสีย ถ้ากลืนกินเข้าไปจะมีอาการปวดท้องรุนแรง อาเจียน ท้องเสีย เลือดออกในกระเพาะและจะปนออกมากับอุจจาระ ปัสสาวะจะมีลักษณะคล้ายเป็นโรคดีซ่าน ตับโตและล้มเหลว
การแก้พิษ ถ้าเกิดพิษที่ผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดนาน ๆ ถ้ากลืนกินเข้าไป ต้องรีบทำให้อาเจียน ด้วยการล้วงคอหรือให้ดื่มน้ำเกลืออุ่น สำหรับแพทย์ ถ้าคนไข้กลืนกินเข้าไป ให้คนไข้ดื่มน้ำนมแม๊กนีเซียแล้วตามด้วยน้ำเกลือจนคนไข้อาเจียนออกมาหมด ล้างท้องคนไข้แล้วให้กินถ่านยาแอ๊คติเวทเต็ด ซาร์โคล กับ Potassium ferrocyamide 0.1% แล้วให้คนไข้รับประทานยา Penicillamine ขนาด 0.3 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ในรายที่มีอาการหนัก ให้ฉีดด้วยยา บีเอแอล รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ – มีคุณสมบัติกัดกร่อนโลหะ
– ในการให้ได้ผลดีนั้น จะต้องฉีดพ่นโดยละเอียดและทั่วถึง
– ถ้าน้ำใช้ผสมเป็นน้ำกระด้าง จะทำให้ได้สารละลายที่ข้นแข็ง
– ห้ามผสมหรือใช้ร่วมกับ ทีเอ็นทีดี (TNTD) สารประกอบปรอท น้ำปูนขาว (Lime sulfur) และสารกำจัดเชื้อรา dithiocarbamate
– ผสมกับสารกำจัดเชื้อราชนิดอื่น ๆ ได้
– ไม่เป็นอันตรายต่อผึ้ง
คอปเปอร์ ซัลเฟท
(copper sulfate)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อราอนินทรีย์ (inorganic) ออกฤทธิ์ให้ผลในทางด้านป้องกันโรคพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 300 มก./กก. ทำให้ดวงตา ผิวหนังและระบบทางเดินหายใจระคายเคือง
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคใบไหม้ (Leaf blight) โรคใบจุด (Cercospora leaf spot) โรคแบ๊คทีเรียลไบล์ท (Bacterial blight) โรคราน้ำค้าง โรคใบม้วน รวมทั้งใช้กำจัดสาหร่ายและตะไคร่น้ำ
พืชที่ใช้ มันฝรั่ง มะเขือเทศ องุ่น คื่นฉ่าย แครอท พริกไทย สตรอเบอร์รี่และพืชอื่น ๆ
สูตรผสม 10% , 20% และ 25% ฝุ่น
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมกับน้ำกวนให้เข้ากันดีแล้วฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืช ทุก 7-10 วัน
อาการเกิดพิษ อาจกัดเนื้อเยื่อดวงตา ผิวหนังและท่อทางเดินอาหาร หากกลืนกินเข้าไปจะมีอาการคลื่นเหียน อาเจียนและช๊อค
การแก้พิษ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 15 นาที ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ ถ้ากลืนกินเข้าไปต้องทำให้อาเจียน ด้วยการให้ดื่มน้ำนมแม๊กนีเซีย 2 แก้ว ทำให้อาเจียนซ้ำจนกว่าจะหมด แล้วไปหาแพทย์ สำหรับแพทย์ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ – ระยะเวลาที่ใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว 7 วัน
– เป็นพิษต่อปลา
– ใช้สารนี้ในขณะที่มีน้ำค้างเกาะที่ใบจะได้ผลดีขึ้น
– สารนี้จะดูดความชื้นทันทีเมื่อถูกกับอากาศ
– ผสมกับสารกำจัดเชื้อราและสารกำจัดแมลงอื่น ๆ ได้
– ในประเทศไทย มีจำหน่ายในรูปผสมกับสารกำจัดเชื้อราอย่างอื่น คือ คอปเปอร์ ซัลเฟท + มาเน็บ + ซีเน็บ (63 + 4 + 4 +%)
คิวปรัส อ๊อกไซด์
(cuprous oxide)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อราอนินทรีย์ (inorganic) ออกฤทธิ์ให้ผลทางด้านป้องกันโรคพืชและใช้คลุกเมล็ด
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 470 มก./กก.
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคสแคป (Scab) โรคสมัท (Smuts) โรคใบไหม้ โรคเน่าคอดิน โรคเน่าสีน้ำตาลและสีดำ โรคใบจุด (Leaf spot) โรคราสนิม โรคราน้ำค้างและอื่น ๆ
พืชที่ใช้ ส้ม กล้วย ถั่วต่าง ๆ ข้าวโพด กะหล่ำปลี แตงแคนตาลูป แครอท กะหล่ำดอก คื่นฉ่าย กาแฟ โกโก้ แตงกวา มะเขือ กระเทียม องุ่น คะน้า หอม พริกไทย มันฝรั่ง ฟักทอง สตรอเบอร์รี่ มะเขือเทศ พืชสวน ไม้ดอกและไม้ประดับทั่วไป
สูตรผสม 50% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมกับน้ำ กวนให้เข้ากันดีแล้วฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืชทุก 7-10 วัน จนถึงระยะก่อนเก็บเกี่ยว หรือใช้โดยวิธีคลุกเมล็ดเพื่อป้องกันโรคพืชก็ได้
ข้อควรรู้ – ผสมกับ Lime sulfur ไม่ได้
– ผสมได้กับสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ เกือบทั้งหมด
– ไม่มีอันตรายต่อผึ้ง
ไซโคลเฮ็กซิไมด์
(cycloheximide)
การออกฤทธิ์ เป็นสารปฏิชีวนะ (antibiotic) กำจัดเชื้อราที่เกิดกับใบพืช ออกฤทธิ์ให้ผลในทางรักษาโรคพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 2 มก./กก. อาจทำให้ผิวหนังมีอาการระคายเคือง
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคราแป้ง โรคราสนิม โรคใบจุด โรคกาบใบแห้ง โรคกาบใบเน่า โรคถอดฝักดาบของข้าว โรคเน่า โรคยอดเน่าและโรคอื่น ๆ
พืชที่ใช้ ข้าว ทุเรียน พริก องุ่น เผือก มะเขือเทศ ขิง แตงโม ฝ้าย ส้ม มะนาว หอม กระเทียมและพืชอื่น
สูตรผสม 2.1% ผง และ 0.27% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตรา 30-60 กรัม ผสมกับน้ำ กวนให้เข้ากันดีแล้วฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืช ใช้ซ้ำได้ตามความจำเป็น
อาการเกิดพิษ ผู้ได้รับพิษจะมีอาการผิวหนังอักเสบ บวมแดง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการท้องเสีย
การแก้พิษ ถ้าถูกผิวหนังหรือดวงตาให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ ถ้าเข้าปากหรือกลืนกินเข้าไปต้องรีบทำให้อาเจียนโดยเร็วด้วยการล้วงคอ หรือให้ดื่มน้ำสบู่หรือน้ำเกลืออุ่น จนกว่าอาเจียนที่ออกมาจะใส แล้วนำคนไข้ส่งแพทย์ ในระหว่างนี้ อย่าให้อาหารที่มีไขมัน นม และอาหารที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่แก่คนไข้ ควรให้คนไข้กินถ่านยาแอ๊คติเวทเต็ด ซาร์โคล เพื่อดูดซับพิษ สำหรับแพทย์ ควรล้างท้องคนไข้แล้วให้ยา Hydrocortisone ขนาด 1 มก./กก. ทาง IV ยาอย่างอื่นที่ใช้ได้คือ Epinephrine และ Orthoxine รักษาตามอาการต่อไป
ข้อควรรู้ – เป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ (Byproduct) จากการผลิต streptomycin
– ระงับการเจริญเติบโตของเชื้อราได้แม้จะมีความเข้มข้นต่ำ
– ระยะเวลาที่คาดหมายว่าจะให้ผลในการควบคุมโรคพืช ประมาณ 7-10 วัน
ไซม๊อกซานิล
(cymoxanil)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อรา acetimide , urea ออกฤทธิ์ให้ผลในด้านป้องกันและรักษาโรคพืช เป็นตัวขัดขวางการสร้างสปอร์ของเชื้อรา
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 1,100 มก./กก. ทางผิวหนัง (กระต่าย) มากกว่า 3,000 มก./กก. อาจทำให้ดวงตาเกิดอาการระคายเคืองได้
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคราน้ำค้าง โรค Late blight โรค Dead arm และโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากเชื้อ Peronospora , Phythopthora และ Plasmopara spp.
พืชที่ใช้ องุ่น มันฝรั่ง มะเขือเทศและผักต่าง ๆ
สูตรผสม 50% และ 80% ดับบลิวพี
ข้อควรรู้ – ห้ามใช้ผสมกับ มาเน็บ (maneb)
– กำจัดเชื้อราในดินไม่ได้ผล
– การออกฤทธิ์ให้ผลใน 3 ทาง คือ ในทางป้องกัน ในทางรักษาภายหลังจากที่พืชเป็นโรคแล้วและขัดขวางการสร้างสปอร์ของเชื้อรา
– ออกฤทธิ์เฉพาะจุดที่ยาสัมผัสถูก
– ไม่เป็นอันตรายต่อผึ้ง ฤทธิ์ตกค้างสั้น และสลายตัวภายใน 4-6 วัน
– ในประเทศไทยมีจำหน่ายเฉพาะในรูปผสมกับสารกำจัดเชื้อราชนิดอื่น คือ ไซม๊อกซานิล ผสมกับ แมนโคเซ็บ (8 + 64%)
ดาโซเม็ท
(dazomet)
การออกฤทธิ์ เป็นสารรมดินเพื่อกำจัดเชื้อรา ไส้เดือนฝอยและวัชพืช ตลอดจนแมลงในดิน
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 640 มก./กก. อาจทำให้ผิวหนังและดวงตาระคายเคือง
ศัตรูพืชที่กำจัดได้ – เชื้อรา Pythium , Fusarium , Phythophthora , Rhizoctonia Verticillium spp. และอื่น ๆ
– ไส้เดือนฝอย ไส้เดือนรากปม (Root knot) และอื่น ๆ
– แมลงที่อยู่ในดินและวัชพืชทั้งใบแคบและใบกว้าง
พืชที่ใช้ ยาสูบ ผัก ไม้ดอกและไม้ประดับทั่วไป
สูตรผสม 98% จี
อัตราใช้และวิธีใช้ โดยทั่วไปเมื่อใช้รมดินหรือแปลงเพาะกล้าลึก 20-25 ซม. จะใช้อัตราแตกต่างกันดังนี้
- ถ้าเป็นดินทรายหรือดินร่วนปนทราย ใช้ 350-400 กรัม/10 ตารางเมตร
- ถ้าเป็นดินร่วนหรือมีอินทรียวัตถุสูง ใช้อัตรา 450-500 กรัม/10 ตารางเมตร
ศึกษารายละเอียดการใช้เพิ่มเติมจากฉลาก ก่อนใช้
อาการเกิดพิษ ถ้าถูกผิวหนังจะมีอาการระคายเคืองหรือเกิดอาการแพ้ที่บริเวณผิวหนังนั้นได้
การแก้พิษ ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่จำนวนมาก ๆ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำจำนวนมาก ๆ ถ้ากลืนกินเข้าไป ทำให้อาเจียนหรือให้กินถ่านยาแอ๊คติเวทเต็ด ซาร์โคล แล้วตามด้วยยาถ่ายประเภทเกลือ เช่น โซเดียมซัลเฟท ห้ามให้ยาถ่ายที่มีน้ำมันผสม หรืออาหารที่มีไขมันหรือนม ถ้ามีอาการรุนแรง ให้นำส่งแพทย์ต่อไป สำหรับแพทย์ ต้องล้างท้องคนไข้ในกรณีที่กินเข้าไป ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ – อย่าใช้ในสภาพที่มีอากาศร้อน
– เป็นพิษต่อพืชทุกชนิดที่ปลูกและพิษนี้จะหมดไปภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์
– ถ้าเก็บไว้ในสภาพที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส จะเสื่อมคุณภาพ
– ภายหลังใช้ 10-15 นาที จะแตกตัวเป็น methyl isothiocyanate formaldehyde , hydrogen sulfide & monomethylamide
– ไม่สะสมในดิน
ไดคลอโรเฟน
(dichlorophen)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อราออร์กาโนฟอสโฟรัส ที่สามารถใช้กำจัดสาหร่ายและแบคทีเรียได้ ออกฤทธิ์ในทางสัมผัส
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนูกิเนีย) 1,250 มก./กก.
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคที่เกิดจากเชื้อราแบคทีเรีย กำจัดสาหร่ายและเชื้อราที่เกิดกับเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและวัสดุที่ทำด้วยผ้า
การแก้พิษ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการที่ปรากฏ
ไดโคลแรน หรือดีซีเอ็นเอ
(dicloran or DCNA)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อรา chlorinated nitroanilide ที่กำจัดได้ทั้งเชื้อราที่อยู่ในดินและที่เป็นกับใบพืช
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 4,000 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 5,000 มก./กก.
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคที่เกิดจากเชื้อรา Botrytis spp. , Rhizoctonia spp. , Sclerotium spp. , Stromatinia spp. , Monilini เช่น โรคใบจุด โรคใบไหม้ โรคเน่าคอดิน โรคโคนเน่า โรครากเน่า โรคราดำและโรคเน่าอื่น ๆ
พืชที่ใช้ ฝ้าย พืชตระกูลแตง กระเทียม องุ่น ผักกาด มันฝรั่ง หอม ถั่วต่าง ๆ มะเขือเทศ ข้าว เงาะ ทุเรียน พริก สตรอเบอร์รี่ และผักต่าง ๆ
สูตรผสม 75% ดับบลิวพี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตรา 17 กรัม ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ผสมกับน้ำกวนให้เข้ากันดีแล้วฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืชหรือราด / รดโคนต้น ควรศึกษารายละเอียดวิธีการใช้เพิ่มเติมจากฉลาก
อาการเกิดพิษ อาจทำให้ดวงตาและระบบทางเดินหายใจเกิดอาการระคายเคือง หากกินเข้าไปในปริมาณมากอาจทำให้รู้สึกไม่สบาย
การแก้พิษ ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลายครั้ง ถ้าเข้าปากหรือกลืนกินเข้าไป ทำให้อาเจียนด้วยการล้วงคอ หรือให้ดื่มน้ำเกลืออุ่นและนำผู้ป่วยส่งแพทย์ สำหรับแพทย์ ไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ รักษาตามอาการ
ข้อควรรู้ – ระยะเวลาที่ใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว 2-14 วัน แล้วแต่ชนิดพืช
– อย่าใช้กับเมล็ดที่กำลังงอกหรือกล้าพืชล้มลุก ยกเว้นในกรณีที่มีการแนะนำให้ใช้
– อย่าใช้ร่วมกับสารกำจัดแมลงออร์กาโนฟอสเฟทที่อยู่ในรูปน้ำมันผสมได้กับน้ำ
– ขณะใช้ จำเป็นต้องเขย่าถังฉีดไปพร้อม ๆ กันด้วย
– อย่าใช้ฉีดพ่นที่ปลูก ในช่วงที่มีอากาศร้อนของวันหรือในช่วงที่มีแสงแดดจัด
– ใช้ผสมกับสารกำจัดเชื้อราและสารกำจัดแมลงทั่ว ๆ ไปได้
ไดฟีโนโคนาโซล
(difenoconazole)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อรา
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 1,453 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 2,010 มก./กก.
ศัตรูพืชที่กำจัดได้ โรคเถาแห้งและผลเน่าขององุ่น ที่เกิดจากเชื้อ Sphaceloma fulligenium
พืชที่ใช้ องุ่น
สูตรผสม 25% อีซี
ไดโนแค๊ป
(dinocap)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อรา dinitrophenol ออกฤทธิ์ในทางสัมผัส ให้ผลในทางป้องกันและรักษาโรคพืช และยังเป็นสารกำจัดไรประเภทไม่ดูดซึมอีกด้วย
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 980 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 4,700 มก./กก.
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคราแป้ง และไรสนิมต่าง ๆ
พืชที่ใช้ พืชตระกูลแตง ส้ม องุ่น สตรอเบอร์รี่ เชอร์รี่ ฟักทอง พืชผัก ไม้ผล กุหลาบ และไม้ดอกทั่วไป
สูตรผสม 19.5% , 22.5% , 25% ดับบลิวพี และ 37.4% เอสซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมกับน้ำกวนให้เข้ากันดี แล้วใช้ฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืชทุก 7-10 วัน
อาการเกิดพิษ จะมีอาการชีพจรเต้นเร็ว ตัวร้อน ไม่มีแรง หิวน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก หายใจลำบาก ถ้าเป็นมาก ๆ กล้ามเนื้อจะกระตุกและถึงตายได้
การแก้พิษ ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างด้วยน้ำกับสบู่มาก ๆ ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง ถ้าเข้าปากหรือกลืนกินเข้าไป ต้องทำให้คนไข้อาเจียนโดยเร็ว ด้วยการล้วงคอหรือให้ดื่มน้ำเกลืออุ่น แล้วนำผู้ป่วยส่งแพทย์ สำหรับแพทย์ ควรทำการล้างท้องผู้ป่วยด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนท แล้วรักษาตามอาการ ใช้ยาบาร์บิทูเรท ช่วยรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการทางระบบประสาท ห้ามใช้ยาอะโทรปินรักษาผู้ป่วย
ข้อควรรู้ – ระยะเวลาที่ใช้ก่อนการเก็บเกี่ยว 7-21 วัน แล้วแต่ชนิดพืช
– เป็นอันตรายในทางหายใจ สัมผัสและกลืนกินเข้าไป
– เป็นอันตรายต่อปลา
– อย่าใช้ร่วมกับสารกำจัดศัตรูพืชที่เป็นน้ำมัน หรือถ้าใช้ฉีดพ่นใบต้องให้ห่างกันอย่างน้อย 30 วัน
– ห้ามผสมกับ ไลม์ ซัลเฟอร์
– เมื่อผสมอยู่ในรูปผงเปียกน้ำ (ดับบลิวพี) จะให้ผลดีในการกำจัดเชื้อรา และเมื่ออยู่ในรูปน้ำมัน (อีซี) จะให้ผลดีในการกำจัดไร
– ผสมกับสารกำจัดศัตรูพืชอื่น ๆ ได้
ไดทาลิมฟอส
(ditalimfos)
การออกฤทธิ์ เป็นสารกำจัดเชื้อรา organophosphorous ออกฤทธิ์ในทางสัมผัส ให้ผลในทางป้องกันและกำจัดให้หมดสิ้นไป
ความเป็นพิษ มีพิษเฉียบพลันทางปาก 4,930 มก./กก. (หนูตัวเมีย) อาจทำให้ดวงตาและผิวหนังเกิดอาการระคายเคือง
โรคพืชที่กำจัดได้ โรคราแป้งและโรคสแค๊ป (Scab)
พืชที่ใช้ ไม้ผลทั่วไป กุหลาบ พืชตระกูลแตง ผักต่าง ๆ และธัญพืช
สูตรผสม 50% ดับบลิวพี และ 20% อีซี
อัตราใช้และวิธีใช้ ใช้อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก ผสมกับน้ำกวนให้เข้ากันดี แล้วฉีดพ่นที่ใบให้ทั่วต้นพืช ใช้ซ้ำได้ทุก 7-14 วัน
ข้อควรรู้ – เป็นพิษต่อปลาเล็กน้อย
– ไม่เป็นพิษต่อผึ้ง