ความเป็นพิษของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช (Pesticides toxicity) คือ คุณสมบัติของสารกำจัดศัตรูพืชในการก่อให้เกิดการบาดเจ็บ หรืออันตรายต่อสิ่งมีชีวิต อาจเกิดกับศัตรูพืชที่เป็นเป้าหมาย และเกิดกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่เป้าหมายได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคน สัตว์ และสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ เช่น แมลงผสมเกสร แมลงตัวห้ำ ไรตัวห้ำ แมลงเบียน สัตว์ขาปล้องต่างๆ สิ่งมีชีวิตในน้ำ การนำสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชมาใช้ประโยชน์ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาวิธีการใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม ลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งตัวเกษตรกรผู้ใช้ ผู้คน สัตว์เลี้ยง ดังนั้นข้างฉลากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช จะต้องมีคำเตือน เช่น พิษต่อปลา พิษต่อผึ้ง รวมทั้งวิธีการรักษาหากได้รับพิษ อย่างไรก็ตามอันดับแรกที่จะต้องนำมาพิจารณา คือความเป็นพิษและความเป็นอันตรายต่อคนของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ไม่ว่าจะเป็นสารป้องกันกำจัดแมลงและไรศัตรูพืช สารป้องกันกำจัดโรคพืช หรือสารกำจัดวัชพืช แต่และชนิดจะมีระดับความเป็นพิษแตกต่างกัน วิธีที่ใช้วัดความเป็นพิษ (Toxicity) ที่ใช้เป็นสากล คือ การวัดด้วยค่าหรือปริมาณของสารออกฤทธิ์ที่จะทำให้สัตว์ทดลอง (หนู กระต่าย) ตายไปครึ่งหนึ่ง (50%) เรียกว่า Lethal Dose 50 หรือ LD 50 (แอล ดี 50) ค่าแอล ดี 50 เป็นค่าที่ได้จากการประเมินที่มีหน่วยวัดเป็นมิลลิกรัมของสารออกฤทธิ์ต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม
ความเป็นพิษจะแตกต่างกันออกไปตามหนทางที่สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเข้าสู่รางกาย เช่น ทางปาก (oral) ทางผิวหนัง (dermal) ทางระบบหายใจ (inhalation) ดังนั้นค่าแอลดี 50 โดยให้สัตว์ทดลองกินสารพิษเข้าไป เรียกว่า แอลดี 50 ทางปาก ถ้าทดลองทางผิวหนังเรียกว่า แอลดี 50 ทางผิวหนัง ความเป็นพิษจะร้ายแรงหรือมีมากถ้าหากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชนั้นมีค่าแอลดี 50 ต่ำมากๆ ในทางตรงกันข้าม ถ้าสารกำจัดศัตรูพืชมีค่าแอลดี 50 มากจะมีความเป็นพิษน้อย ตัวอย่างเช่น เมโทมิล มีค่าแอลดี 50 ทางปาก 17 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสัตว์ทดลอง 1 กิโลกรัม จะมีพิษต่อคนมากกว่าสารคลอแรนทรานิลิโพรล ที่มีค่าแอลดี 50 ทางปาก มากกว่า 5,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสัตว์ทดลอง 1 กิโลกรัม
การขึ้นทะเบียนสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชต้องมีข้อมูลความเป็นพิษต่อสัตว์ทดลอง 2 ชนิด
1. ความเป็นพิษเฉียบพลัน (acute toxicity)
เป็นพิษที่เกิดขึ้นเมื่อสัตว์ทดลองได้รับพิษเข้าไปเพียงครั้งเดียว ความเป็นพิษเฉียบพลันแตกต่างกันไปตามหนทางที่สารพิษจะเข้าสู่ร่างกาย ถ้าสารพิษเข้าทางปาก เรียกว่า ความเป็นพิษเฉียบพลันทางปาก (acute oral toxicity) ถ้าสารพิษเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง เรียกว่าความเป็นพิษเฉียบพลันทางผิวหนัง (acute dermal toxicity) ถ้าสารพิษเข้าสู่ร่างกายทางจมูกหรือระบบหายใจ เรียกว่าความเป็นพิษเฉียบพลันทางหายใจ (acute inhalation toxicity)
2. ความเป็นพิษเรื้อรัง (chronic toxicity)
หมายถึง พิษที่เกิดขึ้นภายหลังจากการรับสารพิษเข้าไปแล้วเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจจะใช้เวลาเป็นปีก็ได้ อาการแสดงของการเกิดพิษเรื้อรังจากสารกำจัดศัตรูพืช อาจเหมือนกับอาการเจ็บป่วยโดยสาเหตุอื่น ดังนั้นการวินิจฉัยความเป็นพิษเรื้อรังจากสารกำจัดศัตรูพืชจึงเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้หากผู้ป่วยได้รับสารพิษหลายๆชนิดเข้าไปคราวเดียวกัน จะไม่มีทางวินิจฉัยได้เลยว่าอาการบาดเจ็บล้มป่วยนั้น มีสาเหตุมาจากสารพิษชนิดใด
ความเป็นพิษเรื้อรังของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยทั่วไปจะได้จากการทดลองกับสัตว์ทดลองด้วยการให้สัตว์ทดลองกินหรือสัมผัสกับสารพิษเป็นระยะเวลานานๆ ตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไปจนถึง 2 ปี ในช่วงระหว่างทดลองจะมีการศึกษาว่ามีผลอะไรเกิดขึ้นกับสัตว์ทดลองบ้าง เช่น ศึกษาผลของพิษที่มีผลต่อตับ ไต ระบบขับถ่าย ระบบสืบพันธุ์ นิสัย พฤติกรรม การเกิดเนื้องอก มะเร็ง การกลายพันธุ์ ผลกระทบต่อระบบประสาท เป็นต้น
การแบ่งระดับความเป็นพิษ
องค์การอนามัยโลกได้จัดระดับความเป็นพิษของวัตถุอันตรายทางการเกษตร หรือสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชออกเป็นหลายระดับโดยใช้ค่าแอลดี 50 (LD50) ตามหนทางเข้าสู่ร่างกาย และสถานะทางกายภาพของสารกำจัดศัตรูพืชเป็นเกณฑ์พิจารณาระดับความเป็นพิษของสารกำจัดศัตรูพืชที่องค์การอนามัยโลกแบ่งไว้ตามภาพที่ 1
อันตรายจากพิษสารกำจัดศัตรูพืช
“อันตราย” หมายถึง ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากการได้รับพิษของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เข้าไปในขณะที่ใช้ตามปริมาณและด้วยวิธีการที่แนะนำในการประเมินความอันตรายของสารกำจัดศัตรูพืช แต่ละชนิดความเป็นพิษที่มีอยู่ในตัวของสารกำจัดศัตรูพืชนั้นๆ จะมีบทบาทสำคัญมากที่สุดและมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะต้องนำมาพิจารณาร่วมกันคือ หนทางที่สารพิษเข้าสู่ร่างกาย อัตราการใช้ ความถี่ในการใช้ ช่วงระยะเวลาที่ใช้ และสูตรผสม สารที่มีความเป็นพิษร้ายแรงจะเป็นสารที่มีอันตรายสูงเช่นกัน
การระบุความเป็นพิษในฉลากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ในการจัดทำฉลาก เจ้าของผลิตภัณฑ์สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชจะต้องจัดทำแถบสีแสดงระดับความเป็นพิษของผลิตภัณฑ์ ตามที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย โดยให้แถบสีอยู่ด้านล่างตลอดความยาวของฉลาก และมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 15 % ดังนี้
1.แถบสีแดง แทนค่าความเป็นพิษของผลิตภัณฑ์ในชั้น 1 เอ ให้มีเครื่องหมายหัวกระโหลกกับกระดูกไขว้ พร้อมด้วยข้อความว่า พิษร้ายแรงมาก
2.แถบสีแดง แทนค่าความเป็นพิษของผลิตภัณฑ์ในชั้น 1 บี ให้มีเครื่องหมายหัวกระโหลกกับกระดูกไขว้ พร้อมด้วยข้อความว่า พิษร้ายแรง
3.แถบสีเหลือง แทนค่าความเป็นพิษของผลิตภัณฑ์ในชั้น 2 ให้มีเครื่องหมายกากบาท พร้อมด้วยข้อความว่า อันตราย ซึ่งมีพิษปานกลาง
4.แถบสีน้ำเงิน แทนค่าความเป็นพิษของผลิตภัณฑ์ในชั้น 3 ให้มีข้อความว่า ระวังซึ่งมีพิษน้อย
จะเห็นได้ว่าไม่มีสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชชนิดใดเลยที่ระบุว่าปลอดภัย การที่ไปแนะนำว่าสารบางชนิดปลอดภัย จึงไม่ถูกต้อง แม้แต่สารชีวภัณฑ์ต่างๆ เช่น เชื้อบีที เชื้อราเมทาไรเซียม เชื้อราบิวเวอร์เรีย สารสกัดสะเดา ก็จัดอยู่ในกลุ่มพิษน้อย หรือแถบสีน้ำเงิน การใช้ก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน นอกจากนี้การพ่นปัจจัยการผลิตอื่นๆ แม้ว่าจะไม่จัดอยู่ในกลุ่มของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เช่น ปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพ ถึงแม้จะไม่มีความเป็นพิษทางปาก และทางผิวหนัง แต่อาจมีพิษทางระบบหายใจได้ ดังนั้นขณะผสม ระหว่างพ่น หลังพ่น เกษตรกรต้องระมัดระวัง และสวมใส่ชุดป้องกันอันตรายเหมือนกัน โดยเฉพาะหน้ากากปิดปากและจมูกต้องมีคุณภาพเพียงพอที่จะป้องกันสารเคมีได้ เนื่องจากละอองสารที่มาจากสปอร์ของเชื้อราของสารชีวภัณฑ์ อาจเป็นอันตรายต่อระบบหายใจได้
เอกสารประกอบการเรียบเรียง
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา. 2553. คำแนะนำการป้องกันกำจัดแมลงและสัตว์ศัตรูพืช ปี 2553.
เอกสารวิชาการกรมวิชาการเกษตร, กรุงเทพฯ. 303 หน้า
นิรนาม. มปก. คำแนะนำเรื่องฉลากวัตถุอันตรายทางการเกษตร. เอกสารแผ่นพับสำนักควบคุมพืชและวัสดุ
การเกษตร กรมวิชาการเกษตร, กรุงเทพฯ.
นิรนาม. มปก. การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ปลอดภัย. เอกสารแผ่นพับสำนักควบคุมพืชและวัสดุ
การเกษตร กรมวิชาการเกษตร, กรุงเทพฯ.