แนวทางการกำจัดเพลี้ยไฟ

ศัตรูตัวร้ายของการเพาะปลูก  ในช่วงปีที่ผ่านมาอากาศแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ  ทำให้การระบาดของเพลี้ยไฟ ตลอดทั้งปี   สร้างความเสียหายมากมาย  การตรวจพบการระบาดตั้งแต่เนิ่นๆจึงเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันกำจัด

หลักในการจัดการก็คือ  เราต้องเดินตรวจสวนเองทุกวัน  ถ้าตัดไม้เอง  กำไม้เองก็ยิ่งดีใหญ่   เพราะเราจะได้พบเห็นปัญหาตั้งแต่เริ่ม  การป้องกันกำจัดสามารถทำได้ทันทีทันเหตุการณ์  โดยปกติ เพลี้ยไฟ จะเกิดระบาดทำลาย ด้านใดด้านหนึ่งของสวนก่อนจะขยายตัวระบาดไปทั่วทั้งสวน

เราจะพบ เพลี้ยไฟ บริเวณยอดช่อดอกและในดอกบาน  ปลายยอดช่อดอกจะบิดงอ  สีดอกจะซีดจาง  ชาวสวนบางคนเรียก เพลี้ยไฟ ว่า ตัวกินสี  ตามอาการที่เกิดกับกลีบดอก  เพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็กราวๆปลายเข็ม  วัยแรกจะมีสีลำตัวขาวขุ่น  วัยสองมีสีขาวใส  วัยสามสีจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองใส ตัวเต็มวัยมีสีเหลืองเข้ม ขนาดลำตัวยาว 0.8 – 1.0 มิลลิเมตร บริเวณส่วนหลังจะเห็นปีกชัดเจน

การป้องกันกำจัดด้วยสารกำจัดแมลงควรทำควบคู่กับการตัดช่อดอกในบริเวณที่มีการระบาด สำหรับ เพลี้ยไฟ ให้ตัดช่อที่มีดอกบาน ช่อดอกที่ตัดทิ้งจะต้องเก็บใส่ถุงปิดปากถุงให้มิดชิด  เอาไปตากแดดหรือเผาทำลาย  ห้ามทิ้งไว้บนดินเพราะมันจะกระจายตัวต่อ เพื่อเป็นการลดจำนวนไข่และตัวอ่อนก่อนที่จะใช้สารกำจัดแมลง  วิธีนี้จะช่วยให้การกำจัดมีประสิทธิภาพและสามารถยับยั้งการทำลายในระยะเวลาสั้นๆ  การระบาดจะไม่กระจายไปทั่วทั้งสวน

ในปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตสารกำจัดแมลง   ได้จัดแบ่งสารกำจัดแมลงตามกลไกการออกฤทธิ์เป็น 28 กลุ่ม   และแนะนำให้ใช้สารกำจัดแมลงสลับกลไกการออกฤทธิ์   เพื่อลดการสร้างความต้านทาน   ในหนึ่งช่วงชีวิตของแมลง 30 – 45 วัน  ควรใช้สาร  5 – 6 กลุ่มกลไกการออกฤทธิ์สลับกัน

ในที่นี้จะขอแนะนำสารกำจัดแมลงที่มีประสิทธิภาพ  กลุ่มของสารและกลไกการออกฤทธิ์

กลุ่ม 4 เอ  นีโอนิโคตินอยด์  (กระตุ้นจุดรับนิโคตินิคอะเซททิลโคลีน  ระบบประสาท)

อิมิดาโคลพริด             ไทอะมีโทแซม                        โคลไทอะนีดิน            ไดโนทีฟูแรน

            อะเซทามิพริด             ไทอะโคลพริด

เป็นสารดูดซึมทั้งกลุ่ม  ในกรณีที่มีการระบาดรุนแรงให้ใช้สารกลุ่มนี้ 2 ครั้งต่อเนื่องกัน

กลุ่ม 2 บี เฟนนิลไพราโซล(ขัดขวางการทำงานของGABAทางช่องผ่านคลอไรด์  ระบบประสาท)

ฟิโพรนิล         อีทิโพรล

แมลงที่ต้านทานสารกลุ่มคาร์บาเมท  ออแกโนฟอสเฟท  ไพรีทอยด์  จะไม่ต้านทานสารกลุ่มนี้

กลุ่ม 1 เอ  คาร์บาเมท  (ยับยั้งเอนไซม์อะเซททิลโคลินเอสเตอร์เรส  ระบบประสาท)

คาร์โบซัลแฟน                        เมโธมิล                     ฟีโนบูคาร์บ                  

            เบนฟูราคาร์บ              ฟอร์มีทาเนท              เมธิโอคาร์บ

กลุ่ม 1 บี  ออแกโนฟอสเฟท  (ยับยั้งเอนไซม์อะเซททิลโคลินเอสเตอร์เรส  ระบบประสาท)

อะซีเฟท            ไดเมทโธเอท             โอเมทโธเอท               คลอไพรีฟอส

            ไดอาซิโนน        อีพีเอ็น                      ฟอสซาโลน                โพรฟีโนฟอส

กลุ่ม 3 เอ  ไพรีทอยด์สังเคราะห์  (รบกวนช่องผ่านโซเดียม  ระบบประสาท)

ไบเฟนทริน                 เบต้าไซฟลูทริน           ไซฮาโลทริน-แอล       ไซเปอร์เมทริน

            เบต้าไซเปอร์เมทริน    ซีต้าไซเปอร์เมทริน     อีโทเฟนพรอก            เฟนโปรพาทริน

กลุ่ม 6  อะเวอร์เมคติน  (กระตุ้นการทำงานของช่องผ่านคลอไรด์  ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ)

อะบาเมคติน                อีมาเมคตินเบนโซเอท

กลุ่ม 5 สปินโนซิน  (เลียนแบบตัวกระตุ้นจุดรับนิโคตินิคอะเซทติลโคลิน  ระบบประสาท)

สปินโนแซด          สไปนีโทแรม

กลุ่ม  23 เทโทรนิคและเตตรามิค (ยับยั้งเอนไซม์อะเซทติลโคเอคาร์บอกซิเลส  ระบบเจริญเติบโต)

สไปโรมีซีเฟน           สไปโรไดโคลเฟน          สไปโรเตตราแมท

 

รอบการฉีดสารกำจัดแมลง  ทุก 5-7 วัน  เริ่มต้นจาก

กลุ่ม 4 เอ  >>>  กลุ่ม 2 บี  >>>  กลุ่ม 1 เอ  >>> กลุ่ม 6  >>>  กลุ่ม 1 บี >>>  กลุ่ม 3 เอ       นอกจากเราจะหมุนเวียนสารกำจัดแมลงตามกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์   ในแต่ละกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์เรายังสลับสับเปลี่ยนตัวสารกำจัดแมลงไม่ให้ซ้ำกันอีกด้วย  และแต่ละชนิดให้ใช้ตามอัตราที่แนะนำ

การหมุนเวียนกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์ (Mode  of Action)  เปรียบเหมือนเมื่อเราต่อสู้กับศัตรู  เราต้องใช้อาวุธที่มีอยู่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ  เพื่อไม่ให้ศัตรูรู้ทางหรือปกป้องตัวเองได้  เช่น  หมัดซ้าย  หมัดขวา  เตะซ้าย  เตะขวา  ศอกซ้าย  ศอกขวา  เข่าซ้าย  เข่าขวา  หมุนเวียนไปเรื่อยๆ   ที่เราจัดให้ 5-6 กลุ่ม เมื่อใช้สลับ 5-7 วัน/ครั้ง  ก็จะครอบคลุมระยะเวลา 30-45 วัน  ซึ่งจะใกล้เคียงกับ 1 ชั่วอายุ (Life cycle)     แมลงได้รับแต่ละกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์เพียงครั้งเดียวโอกาสที่จะสร้างการต้านทานก็น้อย  หรือกลุ่มที่เป็นพระเอกเราก็ให้ใช้        2          ครั้งต่อเนื่องกันไม่มากกว่านั้น

ขณะเดียวกัน การหมุนเวียนสารฯในแต่ละกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์  เปรียบเหมือน  ในหมัดซ้าย  ก็ยังมี  แย๊บซ้าย  ซ้ายตรง  อัปเปอร์คัดซ้าย  ฮุคซ้าย  อื่นๆให้เราเลือกใช้ได้อีก  ยิ่งหมุนเวียนยิ่งสลับสับเปลี่ยนบ่อยเท่าไหร่            โอกาสที่แมลงจะสร้างความต้านทานก็ยิ่งยากเท่านั้น

ตัวอย่างการหมุนเวียนกลไกการออกฤทธิ์

ครั้งที่                    รอบที่ 1                                  รอบที่ 2                      รอบที่ 3                    รอบที่ 4

1. กลุ่ม 4เอ         อิมิดาโคลพริด           อะเซทามิพริด             ไทอามีโทแซม          ไทอะโคลพริด      

2. กลุ่ม 2บี         ฟิโพรนิล                    อีทริโพรล                   ฟิโพรนิล                   อีทริโพรล

3. กลุ่ม1เอ          คาร์โบซัลแฟน          เมโธมิล                       ฟีโนบูคาร์บ               เมธิโอคาร์บ

4. กลุ่ม 6            อะบาเมคติน              อีมาเมคติน                  อะบาเมคติน              อีมาเมคติน

5. กลุ่ม 1บี         อะซีเฟท                    ไดเมทโธเอท               คลอไพรีฟอส             อี พี เอ็น

6. กลุ่ม 3เอ       ไซเปอร์เมทริน           ไบเฟนทริน                 ไซฮาโลทริน             อีโทรเฟนพรอก

ในสถานะการณ์จริง  กลุ่มที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดเพลี้ยไฟ  ที่เรารู้ๆกัน  หาง่าย  ราคาถูก  ก็คือ

กลุ่ม เอ  นีโอนิโคตินอยด์  สารฯที่เลือกใช้กันเป็นพื้นก็คือ  อิมิดาคลอพริด  การหมุนเวียนในกลุ่มก็ไม่มี  จึงแนะนำเพิ่มไปว่า  สารกลุ่มนี้แต่เดิมจัดแบ่งเป็น 3 generation ตามกลุ่มเคมีหลักที่เป็นองค์ประกอบ

-คลอโรนิโคตินิล………อิมิดาคลอพริด,…อะเซทามิพริด,…ไทอะคลอพริด,…ไนเทนไพแรม
-ไนโตรกัวนิดิน……….ไทอะมีโทแซม,….โคลไทอะนิดิน
-ไนโตรเมธิลิน………..ไดโนทีฟูแรน

หลังการใช้มานานหลายปีและแมลงสร้างความต้านทานอย่างมาก  ได้มีการศึกษาและรู้ว่าแมลงสร้างความต้านทานที่จุดกลุ่มเคมีในโครงสร้างต่างกัน (Pharmacophor)     จึงมีการจัดกลุ่มย่อยใหม่  เพื่อให้มีการหมุนเวียนการใช้อย่างถูกต้องได้ผลดียิ่งขึ้น

-เอ็น-ไนโตรกัวนิดิน……..อิมิดาคลอพริด,…ไทอะมีโทแซม,…โคลไทอะนิดิน,…ไดโนทีฟูแรน
-เอ็น-ไซยาโนอะมิดิน……อะเซทามิพริด,…..ไทอะคลอพริด
-ไนโตรเมธืลิน…………..ไนเทนไพแรม

เรียบเรียงและส่งต่อความรู้โดย
อ.สุรชัย ซอปิติพร