การจัดการโรค และแมลงศัตรูแตงกวา

ปัจจุบัน พฤติกรรมในการบริโภคแตงกวาของคนไทย จะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ “แตงกวาผลสั้น” ซึ่งจะมีความยาวของผลเฉลี่ยจากหัวถึงท้าย ประมาณ 10-12 เซนติเมตร อีกกลุ่มหนึ่งคือ “แตงกวาผลยาว” จะมีความยาวของผล ตั้งแต่ 15 เซนติเมตร ขึ้นไป เช่น แตงร้าน เป็นต้น ภาพรวมของสายพันธุ์แตงกวาที่ดี ว่า “มีเนื้อแน่น เมล็ดลีบ รสชาติอร่อย วางขายอยู่ในตลาดได้นานในสภาพอุณหภูมิปกติ เป็นสายพันธุ์ที่มีความทนทานต่อโรค และปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดี” งานพัฒนาสายพันธุ์แตงกวาในบ้านเรามีความก้าวหน้าไปมาก และเมล็ดพันธุ์แตงกวาที่วางขายในท้องตลาด ซึ่งเกือบทั้งหมดผลิตโดยภาคเอกชนจะเป็นลูกผสมทั้งหมด ซึ่งจะมีความแน่นอนในเรื่องของผลผลิต ไม่เกิดความแปรปรวนเหมือนกับพันธุ์ผสมเปิด

ปลูกแตงกวาอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จ

จากที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่า สายพันธุ์แตงกวาที่มีขายในท้องตลาดขณะนี้ เป็นสายพันธุ์ลูกผสม เกษตรกรที่ปลูกแตงกวาจะต้องมีความเข้าใจเบื้องต้นว่า แตงกวาพันธุ์ลูกผสมจะมีความต้องการปุ๋ยมากพอสมควร จะต้องมีการใส่ปุ๋ยให้ถูกจังหวะของการเจริญเติบโต โดยปกติแล้วการปลูกแตงกวาของเกษตรกรไทยมักจะปลูกกันในช่วงฤดูฝน เนื่องจากมีการเจริญเติบโตเร็วกว่าฤดูอื่น แต่ในช่วงฤดูฝนมักจะพบปัญหาเกี่ยวกับโรคโคนเน่า รากเน่า โรคราน้ำค้าง และยังพบอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น มีปริมาณของดอกตัวผู้มาก และต้นแตงกวามักจะพบอาการบ้าใบ เกษตรกรที่ปลูกแตงกวาควรจะต้องรู้นิสัยของแตงกวาและอายุการเก็บเกี่ยว และยังได้อธิบายหลักการกว้างๆ ของการปลูกแตงกวาเพื่อให้เกษตรกรบำรุงรักษาให้ถูกช่วงเวลาที่ถูกต้อง เช่น ระยะเตรียมดิน เกษตรกรควรจะใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 1-2 ตัน ต่อไร่ รองก้นหลุมก่อนปลูกด้วยปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือใช้ สูตร 12-24-12 อัตรา 1 ช้อนชา ต่อหลุม หรือประมาณ 20-30 กิโลกรัม ต่อไร่ “หลังย้ายปลูก” 7 วัน เร่งการเจริญเติบโตของต้นแตงกวาด้วยปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เช่น ยูเรีย (สูตร 46-0-0) โรยให้ทั่วบริเวณแปลงปลูก ในอัตรา 20-30 กิโลกรัม ต่อไร่ และ “ระยะแตงกวาออกดอก” คือประมาณ 25 วัน หลังจากปลูกแนะนำให้ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ สูตร 12-24-12 อัตรา 20-30 กิโลกรัม ต่อไร่ เป็นต้น

แมลงศัตรูพืชที่สำคัญของแตงกวา ได้แก่

“แมลงหวี่ขาว” ซึ่งเป็นแมลงที่หากินอยู่ในท้องนา พอเข้าเดือนมีนาคม หมดฤดูทำนา แมลงหวี่ขาวก็จะหันโจมตีแปลงปลูกแตงกวาแทน ปัญหาแมลงหวี่ขาวสามารถแก้ไขได้โดยใช้ยาอะบาเม็กติน ฉีดพ่นในช่วงเย็น ระหว่างเวลา 17.00-19.00 น. เพราะแมลงหวี่ขาวจะออกมาหากินในระยะเวลานี้ ถ้าฉีดยาตรงเวลาที่แมลงหวี่ขาวออกมารบกวนก็จะได้ผลผลิตที่ดี แตงกวาก็จะไม่เสียหายง่าย

“ด้วงเต่าแตง” (เกษตรกรมักเรียก แมงเต่าทอง) เป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญของพืชตระกูลแตง เพราะแมลงพวกนี้จะเข้าทำลายแตงกวาในระยะต้นอ่อน ทำให้พืชได้รับความเสียหาย การป้องกันกำจัด ใช้เมโทมิล (ชื่อการค้า แลนเนท) ฉีดพ่น อัตราส่วนดูได้จากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ “พวกหนอนต่างๆ” ใช้ยาอะบาเม็กติน ฉีดพ่นสลับกันกับยาตัวอื่น เพื่อป้องกันการดื้อยา

“เพลี้ยไฟ” ลักษณะเป็นแมลงขนาดเล็ก ตัวสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาลแก่ พบตามยอดใบอ่อน ดอก และผลอ่อน การทำลาย ดูดน้ำเลี้ยงที่ใบ ดอกอ่อน และยอดอ่อน ทำให้ใบม้วนหงิกงอ รูปร่างผิดปกติเป็นกระจุก มีสีสลับเขียวเป็นทาง ระบาดมากในช่วงที่มีอากาศแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง นับเป็นแมลงที่เป็นปัญหาสำคัญที่สุดในการปลูกแตงกวา การป้องกันกำจัด ให้น้ำเพิ่มความชื้นในแปลงปลูก โดยให้น้ำเป็นฝอยตอนเช้าและตอนเย็น จะช่วยลดปัญหาของเพลี้ยไฟได้ ใช้สารฆ่าแมลง คือ สารสตาร์เกิล-จี ซัลแฟน 1 ช้อนชา ต่อหลุม ใส่พร้อมกับการหยอดเมล็ด จะป้องกันได้ประมาณ 2 สัปดาห์

กรณีที่เริ่มมีการระบาด ให้ใช้สารฆ่าแมลง ได้แก่ อิมิดาคลอพริด (โปรวาโด, โคฮินอร์ เอ็กซ์, เสือพรีอุส) ฟิโพรนิล (เฟอร์แบน), คาร์โบซัลแฟน (โกลไฟท์) เป็นต้น

“ไรแดง” ลักษณะไม่ได้เป็นแมลง แต่เป็นสัตว์ที่มีขา 8 ขา มีขนาดเล็กมาก มองเห็นเป็นจุดสีแดง การทำลาย ดูดน้ำเลี้ยงที่ใบและยอดอ่อน ทำให้ใบเป็นจุดด่างมีสีซีด โดยจะอยู่ใต้ใบเข้าทำลายร่วมกับเพลี้ยไฟ และเพลี้ยอ่อน มักระบาดมากในช่วงอากาศร้อนและแห้ง ซึ่งเป็นตอนที่พืชขาดน้ำ การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีกำจัดไรแดง ได้แก่ โอไมต์

“เพลี้ยอ่อน” ลักษณะเป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวคล้ายผลฝรั่ง มีท่อเล็กๆ ยื่นยาวออกไปทางส่วนท้ายของลำตัว 2 ท่อน เป็นแมลงปากดูด ตัวอ่อนสีเขียว ตัวแก่สีดำและมีปีก การทำลาย ดูดน้ำเลี้ยงที่ใบและยอดอ่อน ทำให้ใบม้วน ต้นแคระแกร็น และยังเป็นพาหะนำไวรัสด้วย มักระบาดมากในช่วงอากาศร้อนและแห้ง ซึ่งเป็นตอนที่พืชขาดน้ำ โดยมีมดเป็นตัวนำ หรือการบินย้ายที่ของตัวแก่ การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง เช่นเดียวกับการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ

“เต่าแตงแดง และ เต่าแตงดำ” ลักษณะเป็นแมลงปีกแข็ง ปีกมีสีส้มแดงและสีดำเข้ม ตัวมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร อาศัยอยู่ตามกอข้าวที่เกี่ยวแล้วในนา หรือตามกอหญ้า การทำลาย กัดกินใบตั้งแต่ระยะใบเลี้ยงจนกระทั่งต้นโต ทำให้เป็นแผลและเป็นพาหะของโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียด้วย ตัวเมียวางไข่บริเวณโคนต้น ตัวหนอนกัดกินราก การป้องกันกำจัด ควรทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลง รวมทั้งเศษซากแตงหลังการเก็บเกี่ยว ใช้สารเคมีฉีดพ่น ได้แก่ เซฟวิน 85

การป้องกันกำจัดศัตรูพืช

ควรพ่นยาป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟ เต่าแตง แมลงวันทอง โดยใช้ยาพวกคาร์บาริล (เซฟวิน) และยาพวกคาร์โบซัลแฟน (โกลไฟท์) พ่นสัปดาห์ละครั้งสลับกัน แต่ถ้ามีเพลี้ยไฟระบาด ควรพ่นทุกๆ 5-7 วัน ควรพ่นยาพวกแมนโคเซบ เพื่อป้องกันโรคทางใบ สัปดาห์ละครั้ง โดยอาจพ่นร่วมกับการพ่นยาฆ่าแมลงการป้องกันกำจัดโรคราน้ำค้าง วิธีป้องกันที่ดีคือ คลุกเมล็ดแตงกวาก่อนปลูกด้วยสารพวกเมทาแลกซิล โดยใช้เมล็ด 1 กิโลกรัม ต่อยา 7 กรัม ซึ่งจะป้องกันโรคในระยะเดือนแรกได้ดี หลังจากนั้นควรพ่นยาป้องกัน เช่น แมนโคเซบ (แมนเซท-ดี) ทุกๆ 7 วัน

โรคที่สำคัญ ได้แก่ “โรคใบด่าง” เกิดจากเชื้อไวรัส สาเหตุอาจจะติดมาจากเมล็ดพันธุ์ ซึ่งโรคนี้พบได้ทุกแปลงปลูกแตงกวา ลักษณะอาการจะปรากฏที่ใบเลี้ยงคู่แรก หรือใบจริงคู่แรก โดยอาการใบมีสีเหลืองสลับกับสีเขียวอ่อน หรือขาวซีด ทำให้ต้นกล้าที่เกิดขึ้นมาแคระแกร็น โรคนี้โดยส่วนใหญ่จะมีแมลงตระกูลเพลี้ยเป็นพาหะ วิธีการแก้ไขในเบื้องต้น เมื่อพบต้นแตงกวามีลักษณะอาการดังกล่าว ให้ถอนต้นใส่กระสอบให้มิดชิด นำออกมานอกแปลงแล้วเผาทำลาย ป้องกันและกำจัดแมลงพาหะ โดยเฉพาะแมลงตระกูลเพลี้ยต่างๆ ซึ่งแมลงเหล่านี้อาจจะนำเชื้อไวรัสมาจากที่อื่นแล้วมาแพร่เชื้อในแปลงปลูกของเรา หรืออาจจะติดเชื้อจากแปลงเราแล้วนำพาเชื้อให้กระจายไปทั่วภายในแปลงปลูก ควรมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้แตงกวาขาดน้ำ

หากเกษตรกรผู้ปลูกแตงกวาสังเกตจะพบว่า ส่วนใหญ่ต้นแตงกวาที่แสดงอาการของไวรัสจะเป็นแตงกวาบริเวณต้นแถวและท้ายแถวปลูก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณที่ไม่ค่อยได้รับการรดน้ำอย่างเต็มที่ ทำให้แตงกวาขาดความแข็งแรง ไม่เจริญเติบโต จึงแสดงอาการของไวรัส

หากพบว่า แตงกวามีลักษณะอาการต้นแคระแกร็น ใบเหลือง ด่าง ยอดแตงกวาไม่คืบ วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดก็คือ ตัดสินใจถอนต้นแตงกวานั้นตั้งแต่เล็กๆ ใส่กระสอบให้มิดชิด แล้วเผาไฟทิ้งเสีย อย่าปล่อยไว้จนระบาดไปทั่วแปลง แล้วจะแก้ไขไม่ทัน

“โรคราน้ำค้าง” หรือเกษตรกรนิยมเรียกว่า “โรคใบลาย” ลักษณะอาการ เริ่มเป็นจุดสีเหลืองบนใบ แผลนั้นจะขยายออกเป็นเหลี่ยมในระหว่างเส้นใบ ถ้าเป็นมากๆ แผลลามไปทั้งใบ ทำให้ใบแห้งตาย ในตอนเช้าที่มีหมอกน้ำค้างจัดช่วงหลังฝนตกติดต่อกัน ทำให้มีความชื้นสูงในบริเวณปลูก จะพบว่าใต้ใบตรงตำแหน่งของแผลจะมีเส้นใยสีขาวเกาะเป็นกลุ่ม และมีสปอร์เป็นผงสีดำ ซึ่งจะเกิดมากในช่วงของการจับยอดแตง เพราะถ้าสัมผัสใบแตงที่เป็นแล้วไปจับใบอื่นๆ โรคชนิดนี้ก็จะลามไปทั่วแปลงอย่างรวดเร็ว วิธีป้องกัน ใช้สารอีทาบ็อกแซม (ชื่อการค้า “โบคุ่ม”) ฉีดพ่นสลับกับพวกแมนโคเซบ หรือ เมทาแลกซิล หรือ มาเนบ ฉีดสลับกันเพื่อป้องกัน ซึ่งจะระบาดมากช่วงหน้าฝนกับช่วงฤดูหนาว เป็นโรคที่ระบาดมากในการปลูกแตงกวา

“โรคราแป้ง” ลักษณะอาการ มักเกิดใบล่างก่อนในระยะที่ผลโตแล้ว บนใบจะพบราสีขาวคล้ายผงแป้งคลุมอยู่เป็นหย่อมๆ กระจายทั่วไป เมื่อรุนแรงจะคลุมเต็มผิวใบ ทำให้ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแล้วแห้งตาย การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมี เช่น ซีสเทน 24 อี ฉีดพ่นเมื่อพบการระบาด

ต้องใช้เครื่องพ่นยาเบนซินในการฉีดพ่น เพราะแรงลมจากเครื่องจะทำให้ใบเปิดออก เพราะโรคชนิดนี้จะเกิดบริเวณใต้ใบของพืช ทำให้ต้องอาศัยแรงเครื่องยนต์พ่นเพื่อให้ใต้ใบสัมผัสกับยา ลุงเม็ง มีลาภ กล่าวทิ้งทายว่า อาชีพปลูกแตงกวานั้นยังมีความน่าสนใจ สร้างรายได้เร็ว บางครั้งโดนจังหวะของขาดตลาด เกษตรกรได้ราคาดี อายุสั้น ปลูกจนเก็บเกี่ยวหมดเพียง 2 เดือน เท่านั้น หากผิดพลาดเกษตรกรยังสามารถแก้ตัวใหม่ได้เร็ว อุปกรณ์ เช่น ระบบน้ำ ไม้ไผ่ ตาข่าย ฯลฯ ยังสามารถใช้ได้นานหลายรุ่น

ปัญหาและอุปสรรค ในการปลูกแตงกวาในประเทศไทย

โดยทั่วไปในการปลูกแตงกวาในเชิงพาณิชย์ ในพื้นที่ปลูกแตงกวา 1 ไร่ จะใช้เมล็ดพันธุ์ ประมาณ 100 กรัม (1 ขีด) แตงกวาจัดเป็นพืชผักอายุสั้น หลังจากลงหลุมปลูกใช้เวลาเพียง 30-45 วัน เริ่มเก็บผลผลิตได้และจะเก็บได้นาน ประมาณ 20-30 วัน เกษตรกรที่ปลูกแตงกวาเป็นอาชีพจะปลูกแตงกวา ปีละ 4 รุ่น สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการปลูกแตงกวานั้น อาจารย์ดำเกิง บอกว่า จะมีปัญหาในแต่ฤดูกาลที่ปลูกแตกต่างกันออกไป ถ้าปลูกแตงกวาในช่วงฤดูแล้งหรือปลูกในช่วงอากาศแห้ง หรือฝนทิ้งช่วง เช่น เกษตรกรปลูกแตงกวาในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ มักจะพบปัญหาเรื่องแมลงศัตรูระบาดทำลาย โดยเฉพาะ “เพลี้ยไฟ” จะดูดน้ำเลี้ยงที่ใบ ดอก และยอดอ่อน ทำให้ใบม้วนหงิกงอ เพลี้ยไฟ จัดเป็นแมลงศัตรูสำคัญของการปลูกแตงกวา ดังนั้น เมื่อเกษตรกรปลูกแตงกวาในช่วงฤดูแล้งจะต้องใช้สารป้องกันและกำจัดเพลี้ยไฟมากขึ้นกว่าฤดูกาลอื่น ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าเกษตรกรปลูกแตงกวาในช่วงฤดูฝนมักจะพบปัญหาเรื่อง “โรคราน้ำค้าง” หรือที่เกษตรกรเรียก “โรคใบลาย” ถ้าระบาดรุนแรง ทำให้ใบแห้งตาย วิธีการสังเกตช่วงเวลาที่จะเกิดโรคนี้ก็คือ สังเกตในช่วงเวลาเช้า ถ้ามีน้ำค้างลงจัด (ช่วงที่อากาศมีความชื้นสูง) หลังจากฝนตกเกษตรกรจะต้องหมั่นตรวจดูบริเวณใต้ใบแตงกวาว่ามีเส้นใยสีขาวเกาะเป็นกลุ่ม และมีสปอร์หรือไม่ ดังนั้น การปลูกแตงกวาในช่วงฤดูฝน เกษตรกรต้องมีต้นทุนในการผลิตในการซื้อสารป้องกันและกำจัดเชื้อรามากขึ้น