การจัดการความต้านทานต่อสารป้องกันกำจัดแมลงของแมลงศัตรูพืช (Insecticide Resistance Managements :IRM) หรือเรียกง่ายๆ ตามภาษาชาวบ้านก็คือ การแก้ไขแมลงดื้อยา นั้น ในทางทฤษฎีแล้วมีอยู่หลายวิธี เช่น
1.การจัดการโดยใช้ความไม่รุนแรงหรือใช้ความนุ่มนวล (Management by moderation) โดยพ่นสารฆ่าแมลงในอัตราความเข้มข้นที่ต่ำกว่าค่าความเป็นพิษของสารเคมีที่ทำให้แมลงไม่ตาย 100% ซึ่งระดับนักวิชาการจะใช้ค่าที่เรียกว่า เลทานโดส 90(Lethal Dose 90: LD90) หรือความเข้มข้นที่ทำให้แมลงตายแค่ 90% เพื่อรักษาจำนวนสายพันธุ์อ่อนแอ (Susceptible population:SS gene)ไว้บางส่วนไว้ประมาณ 10% ซึ่งแมลงสายพันธุ์อ่อนแอที่รอดชีวิตนั้นจะผสมพันธุ์ กับประชากรที่เริ่มมียีนหรือพันธุกรรมต้านทานแฝงอยู่ (RS gene) ลูกหลานของแมลงเกิดมาในรุ่นต่อมาก็ยังคงมีพันธุ์อ่อนแอหลงเหลือรอดชีวิตต่อไป ไม่ให้ประชากรของแมลงพัฒนาความต้านทาน(Resistance population:RR gene)เร็วเกินไป แต่ทฤษฎีนี้ในพื้นที่ปลูกพืชนั้น จะต้องมีประชากรที่มีพันธุกรรมต้านทานแฝง (RS gene) ปะปนในประชากรน้อย และจะต้องมีแมลงสายพันธุ์ที่มีพันธุกรรมอ่อนแอ (SS gene) มีมาก พูดง่ายๆก็คือ ในพื้นที่นั้นแมลงเพิ่งจะเริ่มดื้อยานั่นเอง แต่ปัจจุบันไม่ยอมมีบริษัทใดใช้ทฤษฎีนี้ เพราะในบ้านเราแมลงมักมีประชากรดื้อยาอยู่มาก โดยเฉพาะสารกำจัดแมลงที่ใช้มานาน
2.การจัดการแบบใช้ความรุนแรงหรือกำจัดให้ราบคาบ (Management by saturation) ทฤษฎีนี้ให้มีการพ่นสารอัตราความเข้มข้นที่สูงกว่าปกติ เพื่อกำจัดประชากรที่มีพันธุกรรมต้านทานแฝง( RS gene) ให้หมดไปจากพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อไม่เปิดโอกาสให้เกิดประชากรแมลงดื้อยา ( RR gene) แต่ในพื้นที่นั้นมีประชากรของแมลงพันธุกรรมต้านทานแฝง(RS gene) และประชากรแมลงดื้อยา (RR gene) มีมาก และแมลงสายพันธุ์อ่อนแอ (SS gene)จะต้องมีน้อย หรือไม่มีเลย ในที่นี้ผู้เขียนเคยลองให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้พ่นสารคาร์โบซัลแฟน 20%อีซี พบว่าอัตราที่สามารถใช้กำจัดเพลี้ยไฟในกล้วยไม้ที่ดื้อยาสุดๆ แถวนครปฐม ต้องใช้อัตราสูงถึง 80-100 ซีซี แสดงว่าทฤษฎีนี้ใช้ได้ แต่ปัญหาที่ตามมาคือ กล้วยไม้ไม่สามารถทนทานได้ เกิดผลกระทบต่อคุณภาพของดอกกล้วยไม้ ดังนั้นทฤษฎีนี้ แม้จะใช้ได้ แต่จะต้องคำนึงถึงต้นทุน และผลกระทบต่อพืชที่จะตามมา
3.การจัดการโดยการใช้สารเพิ่มฤทธิ์ (Management by synergists) สารเพิ่มฤทธิ์มีหลายชนิด เช่น ไพเพอร์โรนิลบิวทอกไซด์ (piperonyl butoxide:PBO) ซีซาเม็กซ์ (sesamexs) , เอ็มจีเค 264(MGK264) , เอส-421(S-421), เวอร์บูติน(Verbutin), ซัลฟอกไซด์(sulfoxide), ทรอปิทอล(Tropital) และโพรพิลไอโซม (propyl isome) ส่วนมากจะใช้กับสารกลุ่มไพรีทรอยด์ เช่น เฟนวาเลอเรต+PBO จะมีฤทธิ์เพิ่มขึ้น (synergist ratio) กับแมลงวันบ้าน 2 – 4 เท่า เพอร์เมทริน+PBO , เดลทาเมทริน+PBO, ซีทาไซเพอร์เมทริน+ PBO แต่เนื่องจากสารเหล่านี้มีราคาแพงจึงมักจะใส่สารเพิ่มฤทธิ์กับผลิตภัณฑ์สารกำจัดแมลงในบ้านเรือน เพื่อกำจัดยุง แมลงวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงดื้อยา เพราะถ้ายุงดื้อยาจะเกิดปัญหาโรคระบาดที่มียุงเป็นแมลงพาหะ ซึ่งจะกระทบชีวิตมนุษย์อย่างร้ายแรง ในส่วนของเคมีเกษตรนั้นเคยมีการใช้สารเพิ่มฤทธิ์กับสารกำจัดแมลงบางชนิด เช่น อัลฟ่าไซเพอร์เมทริน+พีบีโอ(PBO) ชื่อการค้าซุปเปอร์คอร์ด แต่ปัจจุบันไม่มีการนำมาผสมแล้วเนื่องจากสารเพิ่มฤทธิ์มีราคาแพง ผู้เขียนเคยวิจัยโดยลองหาสารที่สกัดจากพืชที่มีคุณสมบัติเป็นสารเพิ่มฤทธิ์ เช่น น้ำมันงา ที่มีองค์ประกอบของสารซีซามีน (sesamin) ซึ่งพบว่าเพิ่มประสิทธิภาพสารเคมีหลายชนิดในการป้องกันกำจัดหนอนเจาะสมอฝ้ายในฝ้าย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่น้ำมันงามีราคาแพงมาก จึงไม่คุ้มค่าต่อการที่จะลงทุนนำมาใช้เป็นสารเพิ่มฤทิ์กำจัดแมลง คงต้องให้น้ำมันงาอยู่ในครัวจะเหมาะสมกว่า
4.การจัดระบบการใช้สารป้องกันกำจัดแมลง (Management by Insecticide Management)หรือ Insecticide Resistance Management: IRM) มีอยู่หลายวิธีการ เช่น
• การใช้สารชีวภัณฑ์ มีสารชีวภัณฑ์หลายชนิดที่มีข้อมูลวิจัยแล้วมีประสิทธิภาพกำจัดแมลง เช่น เชื้อราบิวเวอร์เรีย เชื้อราเมทาไรเซียม เชื้อบีที เชื้อไวรัสเอ็นพีวี ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลง นอกจากนั้นยังมีสารสกัดจากพืชหลายชนิด เช่น สารสกัดสะเดา หางไหล และน้ำหมักจากพืชสมุนไพรจากข่า ตะไคร้หอม บอระเพ็ด ฝักคูน เป็นต้น แต่สารเหล่านี้จะมีข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพ และความเฉพาะเจาะจง แต่ควรนำมาใช้ผสมผสานกับสารเคมี
• การใช้สารชนิดใหม่ๆ ปัจจุบันแทบจะหาสารชนิดใหม่ๆเข้ามาขายในบ้านเราเพราะการผลิตสารเคมีเกษตรกรมีขั้นตอนวิเคราะห์ความเสี่ยงอย่างเข้มข้นทั้งพิษเฉียบพลัน พิษเรื้อรัง ตลอดจนพิษต่อสภาพแวดล้อม กว่าจะมีข้อมูลเหล่านี้ครบถ้วนต้องใช้เวลานานมากกว่าอดีตที่ผ่านมา
• การสลับกลุ่มสาร (alternative of insecticide group :spray pattern;window spray) การสลับกลุ่มสารตามกลไกการออกฤทธิ์โดยหมุนเวียนสารให้สอดคล้องกับวงจรชีวิตของแมลง เช่น รุ่นพ่อแม่ของแมลงใช้สารกลไกการออกฤทธิ์กลุ่มหนึ่ง พอรุ่นลูกของแมลงให้เปลี่ยนไปใช้สารที่มีกลไกการออกฤทธิ์จากกลุ่มเดิม พอรุ่นหลานของแมลงจึงกลับมาใช้สารสารกลไกการออกฤทธิ์ที่ใช้กับแมลงรุ่นพ่อแม่ได้ (ดูภาพประกอบ)
• การผสมสารมากกว่า 2 ชนิด (tank mixes) การผสมสารมากกว่า 2 ชนิดต้องเป็นสารที่มีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกัน กรณีที่เกษตรกรซื้อสารมาผสมเองจะต้องทดลองก่อนว่ามีความเข้ากันได้ (รายละเอียดลองกลับไปอ่านที่เคยลงก่อนหน้า) แต่ข้อสำคัญการผสมสาร 2 ชนิดนี้ต้องไม่ลดอัตราลงเด็ดขาด เพราะถ้าลดอัตราลงจะทำให้สารทั้ง 2 ชนิด จะไม่มีประสิทธิภาพกำจัดแมลง
• การใช้สารผสมสำเร็จรูป ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตอาจผสมในรูปแบบสำเร็จรูป เช่น ไทอะมีโทแซม/แลมบ์ดาไซฮาโลทริน, ไทอะโคลพริด/ฟลูเบนไดเอไมด์, ไทอะมีโทแซม/คลอร์แรนทรานิลิโพรล, อะบาเม็กติน/คลอร์แรนทรานิลิโพรล, ลูเฟนนูรอน/โพรฟีโนฟอส, โพรฟีโนฟอส/ไซเพอร์เมทริน เป็นต้น แต่อาจมีสารผสมบางชนิดที่ถึงมีสารออกฤทธิ์ 2 ชนิดผสมกัน แต่แมลงอาจจะดื้อยาแล้ว สาเหตุเพราะมีการใช้มานาน เช่น คลอร์ไพริฟอส/ไซเพอร์เมทริน ปัจจุบันแมลงบางชนิดดื้อยาต่อสารนี้แล้ว เช่น แมลงหวี่ขาว เพลี้ยไฟ ดังนั้นกรณีพ่นสารคลอร์ไพริฟอส/ไซเพอร์เมทริน แทนที่เพลี้ยไฟและแมลงหวี่ขาวจะลดลง อาจทำให้เกิดการระบาดเพิ่มขึ้น (Resurgence)
5. การใช้วิธีผสมผสาน (Integrated Pest Management ;IPM) ใช้หลายๆวิธีผสมผสานกัน เช่น วิธีเขตกรรม วิธีกล วิธีทางกายภาพ ชีววิธี สารเคมี เป็นต้น
พี่น้องเกษตรกรลองนำหลายๆวิธี เข้าไปใช้ปฏิบัติผสมผสานกันเพื่อจัดการแมลงดื้อยาในสวนท่าน หากพบข้อมูลอะไรดีๆ อย่าลืมแจ้งผู้เขียนให้ทราบด้วย จะได้นำมาแนะนำพี่น้องเกษตรกรรายอื่นๆ เพื่อเป็นวิทยาทาน
ขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อีเมล์ : [email protected]
เอกสารประกอบการเรียบเรียง
สุเทพ สหายา. 2552. สารป้องกันกำจัดแมลงและไรศัตรูพืช. เอกสารประกอบการฝึกอบรมหลักสูตร
แมลงสัตว์ศัตรูพืชและการป้องกันกำจัด ครั้งที่ 14. กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร, กรุงเทพฯ. 48 หน้า.
Anonymous. 2016. IRAC Mode of Action Classification Scheme.
http://www.irac-online.org/documents/moa-classification/… (ระบบออนไลน์)