ยาฆ่าไข่ หรือยาคุมไข่

มีคำภาษาอังกฤษ 2 คำ ที่เกี่ยวข้องกับการที่พ่นไปแล้ว ทำให้การฟักไข่ของแมลงและไรศัตรูพืชลดลง คำที่ผมกำลังกล่าวถึงมีดังนี้

1.โอวิไซดาล เอฟเฟค (ovicidal effect) มีความหมายว่าหลังจากมีการพ่นสารแล้ว ไปสัมผัสกับไข่ของแมลงแล้วทำให้ไข่ไม่มีการเจริญหรือพัฒนา (embryogenesis phases) ส่งผลให้ไข่ไม่ฟัก หรือมีอัตราการฟักลดลง ซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่แมลงเพศเมียได้วางไข่บนใบ ดอก ผล ของพืชแล้ว กล่าวง่ายๆคือ ยาฆ่าไข่ ที่เกษตรกรชอบเรียกกันนั่นเอง ซึ่งจะต้องขึ้นกับชนิดของสาร เช่น กลไกการออกฤทธิ์ สูตรผสม หรือพฤติกรรมการวางไข่ของแมลงว่า วางบนพื้นผิวนอกของพืช หรือวางไข่ลึกเข้าไปในเนื้อเยื่อพืช นอกจากนี้อายุของไข่ยังมีผลด้วย กล่าวคือ ไข่ที่วางใหม่ๆ จะอ่อนแอต่อสารเคมีมากกว่า สารที่มีข้อมูลวิชาการว่าทดสอบแล้วมีผลในการฆ่าไข่ ได้แก่


– สารโพรฟีโนฟอส ไตรอะโซฟอส เมโทมิล อะซีเฟต มีประสิทธิภาพในการฆ่าไข่ของหนอนผีเสื้อหลายชนิด
– กรณีของหนอนใยผัก พบว่า สปินโนแสด ฟิโพรนิล และเฮกซาฟลูมูรอน มีประสิทธิภาพสำหรับระยะไข่ของหนอนใยผัก
– สารไวท์ออยล์และปิโตรเลียมออยล์มีประสิทธิภาพฆ่าไข่ของหนอนผีเสื้อ และไข่ของแมลงและไรที่วางอยู่บนพื้นผิวใบเท่านั้น เพราะมีคุณสมบัติไปเคลือบผิวของไข่ทำให้ไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ หรือดูดความชื้นจากไข่ทำให้ไข่ฝ่อ
– คลอแรนทรานิลิโพรล และเมทอกซี่ฟีโนไซด์ฆ่าไข่ของหนอนผีเสื้อเจาะผลแอปเปิล
– ไพริดาเบน มีประสิทธิภาพกับไข่แมลงหวี่ขาว
– ไทโอไซเคลม ไซเพอร์เมทริน เฟนวาเลอเรต คาร์โบซัลแฟน มีประสิทธิภาพกำจัดไข่ด้วงโคโรราโด(กลุ่มเดียวกับด้วงหมัดผัก)ศัตรูสำคัญของมันฝรั่ง

2.ทรานโอวาเรียล เอฟเฟค (transovarial effect) มีความหมายว่าหลังจากพ่นสารไปแล้วสารเคมีจะมีผลต่อแมลงเพศเมียเล็กน้อย หรือไม่มีผลเลย ตัวเมียที่สัมผัส กัดกินหรือดูดกินใบพืชที่มีสารตกค้างอยู่จะยังมีชีวิตรอด วางไข่ได้ตามปกติ แต่สารจะส่งผ่านไปที่ไข่ภายในท้องของตัวเมีย ทำให้มีผลกระทบต่อไข่ ภายหลังวางไข่แล้ว ไข่จะไม่ฟัก หรืออัตราการฟักลดลง นั่นคือสารส่งผลไปที่ไข่ที่อยู่ภายในถุงไข่ (ovisac) และยังไม่ได้ถูกวางบนไปพืช ไม่เกี่ยวกับไข่ของแมลงที่ถูกวางไปแล้ว สารที่มีข้อมูลว่ามีคุณสมบัติแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นสารในกลุ่มที่มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารไคตินของแมลง ได้แก่ กลุ่มยับยั้งการสร้างสารไคตินในหนอนผีเสื้อ เช่น ไดฟลูเบนซูรอน คลอฟลูอาซูรอน ลูเฟนยูรอน โนวาลูรอน เทฟลูเบนซูรอน ฟลูไซโคลซูรอน ฟลูเฟนนอกซูรอน เฮกซาฟลูมูรอน ไตรฟลูมูรอน และกลุ่มยับยั้งการสร้างสารไคตินในแมลงอันดับเฮมิพเทอร่า และโฮมอพเทอร่า (เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยแป้ง แมลงหวี่ขาว) ซึ่งกลุ่มนี้มีสารบูโพรเฟซีนเพียงชนิดเดียว นอกจากนี้สารกำจัดไรเฮกซี่ไทอะซอกที่มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของไรก็มีผลต่อไข่ไรแดงเช่นกัน สารที่คุณสมบัติแบบนี้เรียกง่ายๆ ตามภาษาชาวบ้านว่า ยาคุมไข่ ตัวอย่างที่มีรายงาน ได้แก่
– ประเทศออสเตรเลียมีการใช้สาร ลูเฟนยูรอน พ่นแบบครอบคลุมพื้นที่ (area wide) เพื่อลดการระบาดของแมลงวันผลไม้ โดยทำให้ไข่ของแมลงวันผลไม้ลดอัตราการฟัก
– สารโนวาลูรอนลดอัตราการฟักของมอดแป้ง Tribolium castaneum
– สารโนวาลูรอนลดอัตราการฟักหนอนม้วนใบ Choristoneura rosaceana
– สารโนวาลูรอน และ ลูเฟนยูรอน ลดอัตราการฟักของเพลี้ยไฟดอกไม้ Frankliniella occidentalis
– สารบูโพรเฟซีน และไดฟลูเบนซูรอน ลดอัตราการฟักของเพลี้ยไก่แจ้ส้ม ทำให้ลดการถ่ายทอดเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคกรีนนิ่งได้
– สารบูโพรเฟซีน ลดอัตราการฟักของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
– สารเฮกซี่ไทอะซอกลดอัตราการฟักของไข่ไรแดง

จากข้อมูลข้างต้นคงมีประโยชน์กับท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย ในการนำไปจัดการแมลงศัตรูพืชแบบผสมผสานตามช่วงแต่ละระยะของแมลง กรณีที่เราพบระยะตัวอ่อนของแมลงจำนวนมาก อาจใช้สารในกลุ่มสารยับยั้งการสร้างไคติน ทำให้แมลงไม่สามารถลอกคราบได้ และทำให้ระยะตัวเต็มวัยเพศเมียที่กำลังจะวางไข่ส่งผลให้อัตราการฟักไข่ลดลง กรณีที่สำรวจพบกลุ่มไข่ของแมลงศัตรูพืชจำนวนมาก อาจเลือกใช้สารที่มีคุณสมบัติในการฆ่าไข่ได้ เช่น สารกลุ่มออร์กาโนฟอตเฟต คาร์บาเมท ไพรีทรอยด์ กลุ่มไวท์ออยล์หรือปิโตรเลียมออยล์ จากประสบการณ์ของผู้เขียนเคยทดสอบสารบูโพรเฟซีน กับแมลงหวี่ขาวยาสูบในกะเพรา และถั่วเหลือง พบว่าการพ่นสารในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต ไพรีทรอยด์ติดต่อกัน จะทำให้แมลงหวี่ขาวระบาดมากขึ้น เรียกตามภาษาวิชาการว่า รีเซอร์เจนซ์ (Resurgence) รวมทั้งสารในกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ เช่น อิมิดาโคลพริด ไทอะมีโทแซม หรือแม้แต่ไดโนทีฟูแรน ซึ่งเคยมีประสิทธิภาพดีมากกับแมลงหวี่ขาวเมื่อประมาณ 20 ปี ที่แล้ว แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าสร้างความต้านทานแล้ว ทำให้ประสิทธิภาพลดลง และถ้าพ่นติดต่อกันแมลงหวี่ขาวก็ระบาดเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้นไม่ควรพ่นสารในกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ติดต่อกันเกิน 2 ครั้ง แต่การพ่นสารบูโพรเฟซีนติดต่อกัน 3 ครั้ง ปรากฏว่าแมลงหวี่ขาวลดลงอย่างต่อเนื่อง และได้ผลกว่าวิธีการอื่นๆ อย่างไรก็ตาม หลังจากพ่นสารบูโพรเฟซีน แล้ว ในรอบไม่เกิน 1 เดือน ก็ควรพ่นสารกลุ่มอื่นสลับบ้าง เช่น สารสไปโรมีไซเฟน สารกลุ่มไวท์ออยล์หรือปิโตรเลียมออยล์ ในแปลงนาข้าวเช่นเดียวกัน การพ่นสารบูโพรเฟซีนป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเพียงชนิดเดียวติดต่อกัน พบว่าจำนวนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลค่อยๆลดลง แต่พบมวนเขียวดูดไข่ ตัวห้ำของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเพิ่มขึ้น แต่แปลงนาที่พ่นสารบูโพรเฟซีนผสมกับสารอื่นในกลุ่มไพรีทรอยด์ กลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ กลุ่มคาร์บาเมท หรือออร์กาโนฟอสเฟต กลับพบเพลี้ยกระโดดมากกว่า และพบมวนเขียวดูดไข่น้อยมาก ถึงแม้ว่าการผสมสารอื่นร่วมด้วยจะได้ผลเช่นกัน แต่เป็นการเพิ่มต้นทุน และในระยะยาวแล้วการพ่นสารบูโพรเฟซีน จะช่วยอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติในแปลงนาได้
ท้ายนี้ผู้เขียนอยากให้เกษตรกรหันมาเลือกใช้สารที่เฉพาะเจาะจงเลือกทำลายแมลงบางชนิดที่เป็นศัตรูพืช โดยเฉพาะในกลุ่มสารชีวภัณฑ์ และกลุ่มสารยับยั้งการสร้างสารไคติน ทำให้ลดพิษภัยของสารที่ออกฤทธิ์กว้างทั้งต่อผู้บริโภค และแมลงมีประโยชน์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความยั่งยืน ในอนาคต

เอกสารประกอบการเรียบเรียง
Beevi, S. P. M. Balasubramanian. 1991. Effect of buprofezin on adult life span, oviposition,
egg hatch and progeny production of the cotton whitefly,Bemisia Tabaci. Phytoparasitica 19(1):33-47
Inðjic, D., Z. Klokocar-Šmit, B. Orbovic, I. Peric, M. Šestovic.(online) OVICIDAL EFFECT ON
INSECTICIDES USED IN CONTROL OF LEPTINOTARSA DECEMLINEATA SAY. http://www.actahort.org/books/462/462_58.htm
Mertesdorf, E. (online)The Ovicidal and Larvicidal Capabilities of Recent Reduced Risk
Insecticides on Codling Moth Cydia pomonella. http://nature.berkeley.edu/…/projects/…/MertesdorfE_2009.pdf
Mahmoudvand, M. , A.S. Garjan and H. Abbasipour. (online) OVICIDAL EFFECT OF SOME
INSECTICIDES ON THE DIAMONDBACK MOTH, Plutella xylostella (L.) (LEPIDOPTERA: YPONOMEUTIDAE) http://www.bioline.org.br/pdf?cj11027
Trostanetsky, A. , M. Kostyukovsky and E. Quinn. (online) Transovarial Effect of Novaluron on
Tribolium castaneum (Coleoptera: Tenebrionidae) .https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4672219/