การค้นพบสารไพรีทรินส์ (pyrethrins)จากดอกไพรีทรัม Chrysanthemum cinerariaefolium ซึ่งประเทศจีนและยุโรปมีการใช้กันมานาน จนกระทั่งปี 2458 ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ผลิตเป็นการค้า หลังจากนั้นปี 2492 ได้ผลิตสารเลียนแบบสูตรโครงสร้างของสารไพรีทรินส์ จึงเรียกว่าไพรีทรอยด์สังเคราะห์ เช่น อัลเลอร์ทริน ไบโอเรสเมทริน เตตราเมทริน และไบโออัลเลอร์ทริน แต่ยังไม่คงทนในสภาพแวดล้อม ต่อมาสามารถสังเคราะห์ เพอร์เมทรินที่มีความคงทนต่อแสงแดดและมีพิษต่อสัตว์เลือดอุ่นน้อยลง
สารกลุ่มไพรีทรอยด์เป็นสารที่ Insecticide Resistance Action Committee (IRAC) จัดอยู่ในกลุ่มที่ 3 มีกลไกการออกฤทธิ์รบกวนความสมดุลของโซเดียม(Sodium channel modulators )
สารในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์กับระบบประสาท (Nerve action)ในบริเวณส่วนของสายประสาทแอ็กซอน (axonic transmission) การเคลื่อนที่ของกระแสประสาทภายในเซลล์จะเคลื่อนที่โดยเกิดความต่างศักย์ของธาตุโซเดียม (Na ion) โดยเริ่มจากปลายประสาท (dendrite) รับความรู้สึกจากอวัยวะรับความรู้สึก(sensory organ)จะเปลี่ยนกระแสประสาท(impulse) เป็นประจุไฟฟ้า เพื่อจะส่งต่อไปยังระบบประสาทส่วนกลาง การที่กระแสประสาทจะเคลื่อนที่ได้นั้น เซลล์ประสาทจะต้องเกิดความต่างศักย์ไฟฟ้าที่เนื้อเยื่อหุ้มผนังเซลล์ ปกติภายในเซลล์จะมีประจุลบ ส่วนผนังภายนอกจะมีประจุบวกจากโซเดียมอิออน (Na+) การเคลื่อนที่เข้าออกของโซเดียมอิออนจะทำให้กระแสประสาทเดินทางต่อไปได้ สารในกลุ่มนี้จะไปทำปฏิกิริยากับผนังชั้นนอกของเซลล์ประสาททำให้กระตุ้นการเข้าออกของโซเดียม ทำให้ระบบประสาทถูกกระตุ้นด้วย impulse จำนวนมากทำให้เกิดอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ แมลงจะเป็นอัมพาตและตายในที่สุด ปัจจุบันมีการสังเคราะห์สารในกลุ่มนี้มากมายหลายชนิด สารในกลุ่มไพรีทรินส์ และไพรีทรอยด์สังเคราะห์ยังมีคุณสมบัติพิเศษคือมีสูตรโมเลกุลเหมือนกัน แต่มีสูตรโครงสร้างได้หลายแบบ (Isomerism) จึงมีชื่อเรียกนำหน้าเป็น อัลฟ่า เบต้า แกมม่า แลมบ์ด้า เป็นต้น โดยยังแยกออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
ประเภทที่(Type)1 เป็นสารไพรีทรินส์และไพรีทรอยด์สังเคราะห์ที่มีอะตอมของออกซิเจน (O) อยู่ระหว่างตำแหน่งกลุ่มฟีนอกซี(phenoxy group)และไม่มีกลุ่มของอัลฟ่าไซยาโน (alpha-cyano) หรือไม่มีไซยาไนด์ในสูตรโครงสร้าง ได้แก่ เพอร์เมทริน และอีโทเฟนพรอก
ประเภทที่ (Type 2) เป็นสารไพรีทรอยด์สังเคราะห์ที่มีอะตอมของออกซิเจน (O) อยู่ระหว่างตำแหน่ง phenoxy group และมีกลุ่มของอัลฟ่าไซยาโน (alpha-cyano)หรือมีไซยาไนด์ในสูตรโครงสร้างได้แก่ อัลฟาไซเพอร์เมทริน ไซเพอร์เมทริน เดลทาเมทริน แลมบ์ดาไซฮาโลทริน แกมมาไซฮาโลทริน
ประเภทที่ (Type) 3 เป็นสารไพรีทรอยด์สังเคราะห์ที่ไม่มีอะตอมของออกซิเจน (O) อยู่ระหว่างตำแหน่งกลุ่มฟีนอกซี (phenoxy group)และไม่มีกลุ่มของอัลฟ่าไซยาโน (alpha-cyano) หรือไม่มีไซยาไนด์ในสูตรโครงสร้าง ได้แก่ ไบเฟนทริน
จากการที่มีกลุ่มอัลฟ่าไซนาโน หรือมีกลุ่มไซยาไนด์ในสูตรโครงสร้างทำให้ไพรีทรอยด์สังเคราะห์ประเภทที่ 2 จึงมีผลข้างเคียงกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทางด้านการระคายเคือง (Irritation) หรือเกิดอาการผื่นคัน เกษตรกรบางรายเรียกว่ายาร้อน ดังนั้นเวลาพ่นสารในกลุ่มนี้ควรต้องระมัดระวังโดยเฉพาะการพ่นไม้ผลยืนต้น ที่ละอองสารมีโอกาสสัมผัสกับตัวผู้พ่นได้มาก นอกจากการเกิดผลข้างเคียงของไพรีทรอยด์ประเภทที่ 2 ทางด้านการระคายเคืองแล้ว ยังมีโอกาสการเกิดการระบาดเพิ่มของแมลง (Resurgence) เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แมลงหวี่ขาว และไรแดง มากกว่า ไพรีทรอยด์ประเภทที่ 1 และ 3 อีกด้วย ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรจึงไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนกลุ่มไพรีทรอยด์ในนาข้าว ยกเว้นสารไพรีทรอยด์ประเภทที่ 1 คือ อีโทเฟนพรอก เพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนในนาข้าวได้
ขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร 02 -5797542 ต่อ 105 มือถือ 086 769 6682 อีเมล์ : [email protected]